​ขึ้นสู่ประสาทคือปัญญา


หากจะถามว่า ผู้ที่ศึกษาธรรมในพุทธศาสนาคือใคร ก็คงตอบได้ว่า คือผู้ที่ทรงจำธรรมที่ทรงแสดงไว้ นำมาไตร่ตรองจนเข้าใจ ตามเห็นภาวะที่ปรากฏจนพิสูจน์ได้ว่า ไม่ว่าภาวะนั้นจะปรากฏขึ้นเมื่อใดก็ไม่ผิดไปจากที่ตรัสไว้นั้น จึงเกิดฉันทะที่จะนำมาปฏิบัติในชีวิต และเพียรปฏิบัติธรรมนั้นในชีวิตจริงด้วยความเพียร ด้วยความสม่ำเสมอ เมื่อปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ กาย วาจา ใจ ก็จะค่อยๆเรียบร้อยขึ้น

ท่านเหล่านั้นจึงสามารถถือเอาประโยชน์จากการใช้ชีวิตทั้ง 2 ได้ คือท่านสามารถได้ทั้งประโยชน์ในปัจจุบัน (ทิฐธัมมิกัตถะ) อันปรากฏในรูปของการมีความรู้ มีทรัพย์สิน มีสุขภาพที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี มีกัลยาณมิตร มีความสุข และประโยชน์ที่เลยตาเห็น (สัมปรายิกัตถะ) อันทำให้ชีวิตในภายหน้ามีสุขมากยิ่งขึ้น มีโอกาสพบความสงบมากขึ้นจากการมีศรัทธา ศีล การสละและปัญญา (เดิมปรมัตถะรวมอยู่ในสัมปรายิกัตถะแล้ว ต่อมาภายหลังจึงแยกออกเป็นอีกประโยชน์หนึ่งเพื่อให้เห็นชัดขึ้น)

และเพราะสามารถคว้าเอาประโยชน์ทั้ง 2 ไว้ได้ จึงได้ชื่อว่าเป็น บัณฑิต

ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ให้ความหมายของบัณฑิตในความเป็นอยู่ว่า คือผู้ที่เป็นอยู่ด้วยธรรม ประกอบกุศลกรรมบถทั้ง 10 อย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ดี แม้จะได้ชื่อว่าบัณฑิต แต่ท่านเหล่านั้นก็คือผู้ที่กำลังฝึกตนด้วยการปฏิบัติตามคำตรัส การแจ้งธรรมและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นไปตามกำลังการปฏิบัติของตน จึงยังไม่สามารถเป็นผู้มีสติพรั่งพร้อมสมบูรณ์จนสามารถระลึกรู้ทั้งกุศลและอกุศลที่จรมาสู่ใจได้ในทุกครั้ง ดังนั้น ในคราวใดที่ระลึกไม่ได้ก็เผลอประพฤติทางกาย วาจา ใจ ไปตามที่เคยประพฤติในครั้งก่อน ไปตามตัณหา จึงอาจตกหล่นไปจากการกระทำอันเป็นกุศล ทำตนเป็นคนพาล (โง่,อ่อน,เขลา) จนส่งผลต่อทั้งตนและบุคคลอื่น เกิดเป็นความเสียหาย ความโศกเศร้า ความทุกข์ใจ ขึ้นมาได้ ด้วยมองไม่เห็นกิเลสตนเห็นแต่กิเลสของคนอื่น หรือเห็นกิเลสตนเป็นกิเลสของคนอื่น

แต่เพราะเป็นผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนา จึงเชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย เป็นสภาพเกิดดับ ทุกข์ปรากฏที่ใจตน จึงมีตนเท่านั้นที่ดับทุกข์ได้ ดังนั้นเมื่อได้ทุกข์จึงมักไม่ยอมหลงใหลในทุกข์ แต่จะหาทางออกด้วยการค้นหาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ หาหนทางแก้ไขเหตุนั้นๆไปทีละเปลาะๆจนกว่าจะหมด เมื่อหมดเหตุ ก็หมดทุกข์

แต่ในขณะที่เหตุแห่งทุกข์ยังถูกแก้ไขไม่หมดนั้น ความต้องการอันเป็นตัณหายังคงมีอยู่ ก็ยอมรับทุกข์จากการที่ตัณหาถูกขัด เมื่อเกิดความต้องการอันเป็นตัณหาขึ้นเมื่อใดก็ทนฝืนใจหาทางดับต่อไป พิจารณาจนตัณหาดับไปเสียทุกครั้ง คราวใดที่ดับได้ ความสุขจากการดับตัณหาก็จะเกิดขึ้น ทุกข์เพราะตัณหาเกิดก็จะลดกำลังลง

แต่เพราะสุขจากการดับในครั้งแรกๆนี้น้อยมากจนไม่รู้สึก จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าแม้ตัณหาจะดับ แต่ยังคงเศร้าโศกอยู่ เป็นทุกข์อยู่ และเพราะสุขจากการดับยังน้อย จึงรู้สึกว่าการฝืนใจไม่ทำตามตัณหา การดับตัณหา นั้นเป็นเรื่องยาก

แต่เมื่อทนฝืนดับทุกครั้งที่ตัณหาเกิด จนสุขจากการดับเป็นครั้งๆไปนี้ค่อยๆทวีกำลังมากขึ้น เมื่อใดกำลังของสุขมากกว่าทุกข์ เมื่อนั้นจึงจะรู้สึกถึงสุขจากการดับ ไม่รู้สึกถึงทุกข์ทั้งๆที่ก็ทุกข์ยังคงมีอยู่ จึงทำให้เมื่อเกิดตัณหาในเรื่องเดิมขึ้นมาทีไร ก็สามารถดับได้ง่าย และเมื่อตัณหาดับลงแล้วก็รู้สึกถึงสุขจากการดับได้ดีกว่าที่เคย

เมื่อดับตัณหา ดับความโศกได้ หากได้หวนมาพิจารณาว่าก่อนหน้านั้นจึงได้เห็นความจริงที่ว่า ก่อนหน้านี้ที่ตนเศร้าโศก เป็นเพราะตนประมาทไปอย่างไร คือเมื่อได้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้วก็พอใจ ติดข้อง แล้วอยากได้อารมณ์นั้นอีก หรืออยากได้อารมณ์อื่นๆมาสร้างความพอใจให้ต่อๆไป และผู้อื่นประมาทอย่างไร ทำให้ต่างสร้างเหตุแห่งทุกข์อะไรลงไปแล้ว

เกิดปัญญารู้เห็นตนในกาลก่อนว่าเป็นคนพาล ไม่ต่างจากคนอื่นๆที่ตนเห็นว่าเขาเป็นพาล เห็นพาลทั้งหลายด้วยอาการ การกระทำ ความเป็นไปของจิต อย่างชัดเจน เหมือนคนที่อยู่บนที่สูง มองเห็นคนที่อยู่เบื้องล่าง

สมดังพุทธพจน์ในพระคาถานี้


และเพราะมีโอกาสได้พบความดับ ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า(พระธรรม)จึงยิ่งมั่นคง ศรัทธาในองค์พระศาสดา(พระพุทธ) ผู้ปฏิบัติด้วยพระองค์เองจนสำเร็จแล้วสั่งสอนผู้อื่น และศรัทธาในผู้ที่ปฏิบัติแล้วรู้ตาม(พระสงฆ์) จึงยิ่งแน่วแน่

จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแน่วแน่ในพระรัตนตรัย อันทำให้ใคร่นำคำสอนอื่นมาทรงจำไว้ เพื่อพิจารณาจนเข้าใจ เกิดฉันทะที่จะนำมาปฏิบัติในชีวิตต่อๆไป

หมายเลขบันทึก: 625723เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2017 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2017 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท