อำนาจการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 2


อำนาจการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 2

9 มีนาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

มาต่อข่าว คสช. ยึดอำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2560ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 [2] ที่เป็นที่วิพากษ์โจษขาน ทั้งในแง่บวกสนับสนุน และแง่ลบท้วงติง คัดค้าน

“ยุทธศาสตร์ชาติ กับการปกครองส่วนท้องถิ่น” [3]

หัวใจของการปฏิรูป ก็คือ“การทำให้ดีขึ้น” ในทุก ๆ รูปแบบ แม้อาจมองว่าเป็นหนูทดลองยา แม้จะ “เกิดปัญหาหรือเกิดมูลเหตุปัจจัยปัญหาอุปสรรค”ขึ้นแต่ภาพอันเป็น “หัวใจหลัก” ก็คือ“ประชาชนในท้องถิ่นมีความพึงพอใจในการบริการสาธารณะ” (public service) นั่นเอง ตรงตามที่เขาต้องการและเขาได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพียงใด

“ยุทธศาสตร์ปรองดอง” หัวใจหลักเพื่อให้เกิดการพัฒนามิให้เกิดการล้าหลังให้ทุกฝ่ายต้องเคารพสิทธิในข้อกฎหมายของทุกฝ่าย และการลดละทิฐิของทุกฝ่ายลงการปรองดองในปัญหาก็เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนในระหว่าง 3 ฝ่าย คือ (1) ท้องถิ่น (2) ประชาชน (3) รัฐหรือประเทศชาติ ยุทธศาสตร์ชาติปรองดอง ต้องกำหนดให้ อปท. ซึ่งใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดเป็น “กลไกในการสร้างความเข้าใจ” หากระดับชาติ มีการแก้ไข ปฏิรูปสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ให้มีบรรทัดฐานเดียวกัน ย่อมส่งผลต่อการบังคับใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

กล่าวโดยสรุป ในการปฏิรูปท้องถิ่นนั้นก็ต้องสามารถแก้ไขปัญหา“กฎหมายการบริหารงานท้องถิ่น” ในสองมิติคือ (1) มิติการแก้ไขปัญหาการบริหารงาน ในกรณีที่ผู้บริหารไม่ถือปฏิบัติตามกฎหมายให้ได้ และ (2) มิติการแก้ไขปัญหาการบริหารงาน ในกรณีที่ผู้บริหารถือปฏิบัติตามกฎหมาย แต่มีปัญหาอุปสรรคอื่นใด ฉะนั้น หากการปฏิรูปกฎหมายท้องถิ่นแล้ว ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ย่อมถือว่าไม่สัมฤทธิ์ผล

ตัวอย่างปัญหาท้องถิ่นเร่งด่วนที่ควรหยิบยกมาก่อน

(1) เรื่องควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (2) อปท. มีภารกิจหน้าที่มากมาย แต่มีงบประมาณแผ่นดินใช้จ่ายไม่ถึง 30% (3) อปท. ขาดความเป็นอิสระ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการกำกับดูแลท้องถิ่นเท่าที่ควรอาทิเช่น เรื่องระเบียบกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบต่าง ๆ นอกจากนี้หน่วยกำกับดูแล นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดขาดการเป็นที่พึ่งที่ดีมีกระบวนการทุจริต มีผลประโยชน์ทับซ้อนการแสวงประโยชน์แอบแฝงเป็นต้น และที่สุดท้องถิ่น มีปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่มักจะถูกหน่วยตรวจสอบเล่นงานถูกตรวจสอบภายใต้มาตรฐานที่ขัดแย้งกับหลักการปกครองท้องถิ่น (4) เมื่อพิจารณาจากร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่นเห็นว่านอกจากจะเป็นการรวมเอากฎหมายการปกครองท้องถิ่นมาไว้เป็นฉบับเดียวกันแล้ว ในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากมีการเพิ่มอำนาจให้หน่วยกำกับดูแลในอีกหลายๆเรื่องและเพิ่มข้อจำกัดในการบริหารงบประมาณให้แก่ อปท. ด้วย เช่น ร่างประมวลฯ มาตรา 169 [4] ที่บัญญัติห้ามโอนงบมาเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนเป็นต้น (5) รัฐบาลไม่เคยจ่ายค่าชดเชย ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากนโยบายอาทิเช่น เคยมีนโยบายให้ใช้น้ำประปาฟรี และที่กระทบท้องถิ่นรุนแรงมากที่สุด ก็คือนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการทำให้ข้าราชการท้องถิ่นหลายคนได้ขึ้นเงินเดือนในรอบนโยบาย ปริญญาตรี 15,000บาท ครั้งเดียว ขึ้นมากถึง 7-8 ขั้น แต่รัฐบาลไม่มีงบประมาณมาชดเชยแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ค่าใช้จ่ายบุคคลของท้องถิ่น ทะลุถึง 40% อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (6) การบริหารงานของ อปท. มีปัญหาเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเพราะการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย โดยหลักการทฤษฎีได้นำรูปแบบการบริหารจัดการของต่างประเทศมาใช้ โดยเฉพาะการบริหารงานในรูปแบบ อบต. และเทศบาลตำบล ที่มีระเบียบหลักเกณฑ์เฉพาะในเรื่องการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับกฎหมายของราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาค ในขณะที่หน่วยงานตรวจสอบเป็นองค์กรเดียวกันเช่น สตง. ปปช. ซึ่งนิยมเข้าตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงานของ อบต.เทศบาลตำบล ในด้านการบริหารการเงิน และการบริหารบุคคล ซึ่งมีข่าวการทุจริตในหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามักเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรผู้บริหารระดับรองลงมาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในเรื่องที่ถูกกล่าวหา โดยมีสาเหตุทั้งเจตนาทุจริตเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยคือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปัจจัยเอื้อที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ “อปท.ขาดความมีอิสระ” องค์กรขาดข้อมูลและการสังสรรค์กับองค์กรขนาดใหญ่เช่นกรม กระทรวง การก่อตั้งเป็น อปท. มาช้านานจึงสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรไปในทางที่ดีได้ ฉะนั้น ขอให้ อปท. ทำงานอย่างมีคุณธรรม ไม่ว่า อปท. จะเป็นระบบใด โครงสร้างใดก็ตาม ขอให้ทำงานอย่างมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นที่ตั้ง

ในปัญหาเร่งด่วนข้างต้น ในหลายๆปัญหาจะผูกโยงไปถึงปัญหาการบริหารงานบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำสั่งยึดอำนาจบริหารงานบุคคลของ คสช.มีช่องว่าง

ลองมาประมวลคร่าว ๆ ในข้อสังเกตบางประการ ซึ่งอาจชี้ถึงช่องว่างของคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 ได้

(1) แม้ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 จะเป็นคำสั่งเด็ดขาดที่ไม่มีบทยกเว้น ไม่มีบทเฉพาะกาลก็ตาม ซึ่งสำนักงาน ก.กลาง ได้มีหนังสือซักซ้อมชี้แจงตามหลังมาแล้ว ในบรรดาแวดวงผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้าราชการส่วนท้องถิ่นหลายคนก็ยังอดสงสัยในความเด็ดขาด หรือ ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิเช่น กรณีสำรวจข้อมูลการสอบคัดเลือก/คัดเลือก ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมและยังต้องการข้อมูลจำนวนผู้สมัครในแต่ละ อปท. ด้วยทำให้วิเคราะห์ได้ว่า คงไม่ใช่เป็นการสำรวจข้อมูลตำแหน่งอำนวยการหรือบริหารที่ว่างอย่างแน่นอน จึงมีประเด็นข้อสงสัยว่า ก. กลางจะเอาข้อมูลดังกล่าวไปทำอะไร มีอยู่ 2 แนวทางคือ (1) อาจเป็นได้ว่า เอาข้อมูลไปประกอบเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาผลกระทบตามคำสั่ง คสช.ที่ 8/2560 ที่ไม่มีบทเฉพาะกาลคุ้มครองการใดที่ดำเนินการอยู่ก่อน หรือ (2) เอาข้อมูลไปประกอบเพื่อสร้างความชอบธรรมให้คำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 และเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ทราบว่าท้องถิ่น “โกง” จึงยึดอำนาจคืนตลอดกาล และเป็นข้อมูลสนับสนุนร่าง พรบ. บุคคลในอีกทางหนึ่ง

(2) คงไม่ใช่ว่า “ส่วนกลางดำเนินการคัดเลือกการบริหารงานบุคคลแล้วจะไม่มีโกง”ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า “จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันการทุจริต การขาดมาตรฐาน และไม่ให้มีระบบอุปถัมภ์ให้ได้มากที่สุด” นั่นเอง อาทิเช่น การคัดเลือก สอบคัดเลือกตำแหน่งอำนวยการ และบริหารท้องถิ่น ก็ต้องใช้วิธี“ทดสอบความรู้” เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ตัดสินให้คะแนนได้ไม่ยากหากหลักการคัดเลือก เสนอผลงาน แล้วให้คะแนน มันยุ่งยาก ก็อาจมีโอกาสเกิดการเลือกที่รักมักที่ชังได้ง่ายกว่าซึ่งตามร่าง พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น มาตรา 56, 57, 59 [5] เขียนไว้ชัดเจนว่าให้ “ทดสอบความรู้” และเชื่อว่า การออกหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือก คัดเลือก ต้องออกมาแนวเดียวกับร่าง พรบ. บุคคลฯดังกล่าว เพราะผู้ร่างคณะผู้จัดทำ เป็นบุคคลคนเดียวกัน

(3) การสอบแข่งขันส่วนกลางควรเปิดโอกาสให้ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้ย้ายกลับบ้านตามตำแหน่งว่างก่อนเปิดสอบ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในสายทั่วไป สายวิชาการ หรือตำแหน่งบริหารอำนวยการ บริหารท้องถิ่น และบริหารการศึกษา เพราะที่ผ่านมาการย้าย(โอน)ท้องถิ่นมีข่าวการเรียกรับเงิน แต่ในคำสั่ง คสช.ที่ 8/2560 ไม่ได้กล่าวถึงกรณีนี้แต่อย่างใดเพราะหากรวบอำนาจโดยเปิดสอบแข่งขัน โดยไม่ปรับเกลี่ยอัตรากำลังก่อน ก็อาจเสียของเกิดปัญหาคนท้องถิ่นเก่าย้ายกลับบ้านไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจ และต้นทุนในการดำรงชีวิตการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะ ตามร่าง พรบ. บุคคลฯ มาตรา 56, 57, 59 กำหนดว่า ตำแหน่งบริหาร หรืออำนวยการ หากว่างลง ให้ใช้บัญชี ก.ถ.เท่านั้น หากไม่ให้เกลี่ยย้ายตำแหน่งก่อน อาจมีปัญหา คนเก่าหลายคนที่ต้องการย้ายกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ด้วยระบบเดิมถูกปิดล็อค มีการเรียกรับเงิน ฯลฯ อาทิเช่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่นภาคอีสานอาจไปติดการบรรจุอยู่ที่ภาคใต้ ภาคเหนือ หรือภาคตะวันออกเป็นต้น

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ “การควบรวม อปท.” ต้องดำเนินการเสียก่อน จึงจะสอบแข่งขัน คัดเลือก หรือสอบคัดเลือกได้ หมายความว่า มีการควบรวม อปท. แล้วมีการปรับกรอบอัตรา มีการปรับตำแหน่ง ตามแผนบุคคลสามปีใหม่เสียก่อน นั่นเอง

การให้โอกาสข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้ย้าย(โอน)ก่อนการใช้บัญชีคัดเลือก(สอบ) จะเห็นว่ามีความจำเป็น แต่ควรกำหนดห้วงเวลาเป็นการบังคับว่า ต้องให้ดำเนินการได้ภายในกี่วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วจึงค่อยใช้บัญชีสอบของ สถ. ได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้มีสิทธิโอนย้ายกลับบ้านกลับภูมิลำเนาของตน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตแล้ว ยังช่วย อปท. ให้ได้คนที่มีประสบการณ์ ไปอยู่ในที่เหมาะสมด้วยเหมือนดังเช่น สพฐ. ที่ให้ย้ายก่อน แล้วตำแหน่งที่เล็กๆ จะว่างลำดับสุดท้าย จึงเอาคนใหม่เข้าไปแต่งตั้งหากให้คนใหม่ ไปทำงานในที่ใหญ่ ก็อาจขาดประสบการณ์ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ในคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 ข้อ 2 วรรคสอง [6] ที่อาจมอบหมายให้ ก.จังหวัดดำเนินการแทนได้ แต่ข้อเท็จจริง “องค์กรกลางบริหารงานบุคคล” หรือที่เรียกว่า “ก.กลาง” ในปัจจุบันนั้น ยังคงมีอยู่ 3 ก.เช่นเดิม (เพียงแต่ประชุมร่วมกันเท่านั้น) ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคอย่างยิ่งในขั้นตอนการดำเนินการ การยุบก.กลาง ให้เป็น ก เดียว และให้ ก จังหวัดเป็นอนุกรรมการ จึงน่าจะสะดวกง่ายในการบริหารจัดการมากกว่า มิเช่นนั้นมันจะทำอะไรที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากไปหมด

(4) แม้ว่าการกำหนดโครงสร้างอัตรากำลังไม่ได้ถูกยึดไปส่วนกลางก็ตามคาดว่าต่อไปในอนาคตคงไม่มีท้องถิ่นใดไปกำหนดโครงสร้าง หรือปรับปรุงโครงสร้าง ด้วยขาดแรงจูงใจ หรือแรงผลักดันจากภายใน จนอาจส่งผลเสียหายต่อการบริหารงานบุคคลของ อปท. ได้หากเป็นการกำหนดโครงสร้างแบบตายตัว ที่ไม่ยืดหยุ่นโดยส่วนกลาง ก็อาจสร้างปัญหาให้ท้องถิ่นได้ เพราะแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน เช่น เทศบาลที่มีงานกองใดกองหนึ่งมากเป็นพิเศษ ก็ต้องมีระดับตำแหน่ง ผอ. กองที่เหมาะสม การกำหนดโครงสร้างและระดับตำแหน่งปลัด รองปลัด หัวหน้าส่วนฯ จึงต้องสอดคล้องกับภารกิจของแต่ละแห่งหากให้ท้องถิ่นเสนอปรับปรุงตำแหน่งเองย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะเท่ากับว่า ไล่ ผอ. คนเดิมลงจากเก้าอี้ไปทำงานในตำแหน่งรองลงไปหรือต่ำกว่า หรือให้ย้ายไปที่อื่นโดยปริยายเป็นต้น

ต้นไม้ผลที่เป็นพิษกำลังจะถูกโค่นลง

ตรรกะเรื่องผลไม้พิษ (fruit of the poisonous tree) อันเป็นหลักการที่กล่าวถึงในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายพยานหลักฐาน ถึงพยานหลักฐานใดที่ใช้กล่าวหาจำเลยในคดีมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่สามารถนำมาพิสูจน์ความผิดได้ จึงมีผู้นำมาเปรียบเทียบว่า ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่า การบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น ที่มีการใช้ “พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542”ถือเป็น “ต้นไม้ที่มีผลไม้พิษ” ที่จำต้องโค่นลง เพราะ ตลอด 17 ปี แห่งการใช้ พรบ.บุคคลฯ พ.ศ. 2542 ข้าราชการส่วนท้องถิ่นขาดศักดิ์ศรี ขวัญกำลังใจ มีความชอกช้ำในวิถีทางราชการในหลาย ๆ ประการ ฉะนั้น การเริ่มต้นของคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 8/2560 จึงเปรียบเสมือนการเริ่มต้นในการจัดการกับ “ต้นไม้ผลที่เป็นพิษ” นั่นเอง



[1] Phachern Thammasarangkoon, & Tawat Petruanthong & Wittaya Muanmai & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23327 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 26 วันศุกร์ที่ 10– วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2560, หน้า 66

[2] คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น, เล่ม 134 ตอนพิเศษ 54 ง ราชกิจจานุเบกษา 21 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/...

& ข่าวลึก ปมลับ : คสช.สยายปีก ยึดอำนาจท้องถิ่น, ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360, 7 มีนาคม 2560, http://yt2fb.com/httpsyoutu-bezanc558bhem/

[3] ดูจับข่าวคุย การปกครองท้องถิ่น, สรณะ เทพเนาว์, 3 มีนาคม 2560, TessabanThailans ข่าวสุวรรณภูมิ, ออกอากาศช่องสุวรรณภูมิ (suwannabhumi.tv) วันที่ 3 มีนาคม 2560 เวลา 21.00-22.00 น สัมภาษณ์โดยพิธีกร ธรรมศักดิ์ ลมัยพันธ์

ตอนที่ 1

ตอนที่ 2

[4]ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. ผ่าน สปท. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 (ร่างมีการแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560)

มาตรา 169 งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อการใด จะโอนไปเพื่อใช้จ่ายสำหรับการอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการโอนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด แต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะโอนไม่ได้

(1) การโอนงบประมาณประเภทอื่นใดมาเป็นงบประมาณประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง เงินประจำตำแหน่ง หรือประโยชน์ตอบแทนอื่น

(2) การโอนงบประมาณประเภทค่าสาธารณูปโภคไปใช้ในประเภทอื่นใด เว้นแต่จะไม่มีหนี้ค่าสาธารณูปโภคค้างชำระ

(3) การโอนงบประมาณประเภทค่าครุภัณฑ์หรือค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เว้นแต่จะหมดความจำเป็นหรือมีเงินเหลือจ่ายและสภาท้องถิ่นให้ความเห็นชอบแล้ว

(4) การโอนงบประมาณประเภทอื่นมาเป็นงบประมาณประเภทค่าครุภัณฑ์หรือค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เว้นแต่สภาท้องถิ่นให้ความเห็นชอบแล้ว

(5) การโอนรายจ่ายค่าชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้

(6) การโอนรายจ่ายตามข้อผูกพัน เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันครบถ้วนแล้ว

(7) รายจ่ายในรายการที่ข้อบัญญัติท้องถิ่นงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมระบุไว้ชัดแจ้งว่าห้ามโอน

http://www.thailocalmeet.com/bbs/PDF/59/ร่างประมวล...

http://edoc.parliament.go.th/getfile.aspx?id=65626...

[5]"ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...." เป็นเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณาของ อ.ก.ท.ศึกษาและจัดทำร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น(มีการแก้ไขชื่อ พรบ.), ฉบับ สปท.เห็นชอบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559

มาตรา 56 ผู้สมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งใด ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือได้รับยกเว้นในกรณีที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 43 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรา 66 ด้วย

มาตรา 57 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น จะบรรจุและแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถและความชำนาญสูงเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษในตำแหน่งที่ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษก็ได้ ทั้งนี้ ตามกฎที่ ก.ถ. กำหนด

มาตรา 59 การแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตำแหน่งบริหารอื่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งจากบุคคลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสรรหาจากผู้ซึ่งผ่านการทดสอบความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานสำหรับปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือตำแหน่งบริหารอื่นดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ตามกฎที่ ก.ถ. กำหนด

ให้สำนักงาน ก.ถ. จัดให้มีการทดสอบความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานสำหรับปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและตำแหน่งบริหารอื่นตามวรรคหนึ่ง ตามระยะเวลาและวิธีการที่ ก.ถ. กำหนด และจัดทำรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบดังกล่าวแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ

ระยะเวลาการจัดให้มีการทดสอบตามวรรคสองต้องคำนึงถึงการเปิดโอกาสให้ผู้มีคุณสมบัติได้เข้ารับการทดสอบได้อย่างทั่วถึง

[6]ข้อ 2 วรรคสอง “ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมอบให้คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินการแทนได้ ตามมาตรฐานทั่วไปว่าด้วยการนั้นที่คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542”

หมายเลขบันทึก: 625403เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2017 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2017 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท