ต.แม่อูคอ จ.แม่ฮ่องสอนใข้ชุมชนเป็นฐาน สร้างตำบลปลอดเหล้า-บุหรี่


แนวทางขยายผลจากชุมชนปลอดเหล้า-บุหรี่ ว่ามีนโยบายร่วมมือกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการรณรงค์ให้แต่ละหมู่บ้านลดละเลิกแอลกอฮอล์-บุหรี่ เมื่อหมู่บ้านใดมีผู้สูบบุหรี่ไม่เยอะ ดื่มแอลกอฮอล์น้อย ก็จะใช้เป็นชุมชนต้นแบบ หากบางหมู่บ้านที่ยังเลิกไม่ได้ ก็จะเร่งเข้าไปพูดคุยให้ห้เห็นโทษภัยจากบุหรี่ สุรา ที่ทั้งทำลายปอด ก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งกล่องเสียง โรคตับแข็ง เป็นต้น


แม่ฮ่องสอน ถือเป็นเมืองที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูง จึงเป็น 1 ใน 7 จังหวัด ที่กระทรวงสาธารณสุข และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หากด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร ประกอบกับพื้นที่ทุรกันดาร เดินทางค่อนข้างลำบาก การออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่รับผิดชอบ จึงต้องบูรณาการให้ครอบคลุมทุกโรค เช่น ความดัน เบาหวาน การตรวจหาสารเคมีในเลือด และการช่วยลด ละ เลิก บุหรี่ สุรา เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระงาน


ขับเคลื่อนด้วยแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์

นายอนุชา ตาสิติ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.บ้านปางตอง ต.แม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่าในพื้นที่รับผิดชอบ มี 6 หมู่บ้าน และ 16 หย่อมบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บนภูเขา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรในฤดูฝน และยังนัดหมายให้มารวมตัวกันยาก ซ้ำความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีม้งประมาณ 20% กะเหรี่ยง 80% ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความพยายามในการสื่อสารมากกว่าปกติ


จากการสำรวจประชากรประมาณ 3,000 คนเศษ ดื่มสุราและสืบบุหรี่ค่อนข้างสูง โดยช่วงเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการมึนเมาสุรา 2 ราย ฆ่าตัวตายเนื่องมาจากสุรา 1 ราย ซึ่งสถิติการฆ่าตัวตายใน อ.ขุนยวม นับว่าสูงสุดใน จ.แม่ฮ่องสอน สาเหตุมาจากสุราถึง 90% ขณะเดียวกันประชากร 40% ยังสูบบุหรี่ ส่วนมากเป็นกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ ที่สูบเพราะเป็นพฤติกรรมดั้งเดิม ช่วงวัยรุ่นออกไปเลี้ยงวัวควายตามชายป่าชายทุ่ง ก็มวนบุหรี่สูบไล่แมลง ทำให้ในบั้นปลาย นักสูบบางรายป่วยด้วยวัณโรค ถุงลมโป่งพอง จนเสียชีวิต ขณะที่บุหรี่ก้นกรอง แพร่หลายในกลุ่มนักสูบหน้าใหม่มากกว่าผู้สูงอายุ

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการคืนข้อมูลด้านสุขภาพ อาการเจ็บป่วยให้กับกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ โดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงาน มีประชาชนในพื้นที่ และภาคีเครือข่าย เชื่อมกับองค์การบริหารส่วนตำบล โรงพยาบาลขุนยวม และ สสส. สร้างระบบบริการเชิงรุกเข้าถึงชุมชน บูรณาการงานเกี่ยวกับเหล้าบุหรี่เข้าไปในกิจกรรมต่างๆ ด้วย ในการออกพื้นที่ครั้งหนึ่งๆ จึงมีทั้งการตรวจวัดความดัน เจาะเลือดหาเบาหวาน และเป่าปอดหาสารคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ตกค้างจากควันบุหรี่ ผนวกกับการให้ความรู้ รณรงค์ลดละเลิกบุหรี่ สุรา อย่างจริงจัง

นักวิชาการสาธารณสุขคนเดิม กล่าวย้ำถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการทำงานเชิงรุกว่า ขณะนี้มีหมู่บ้านปลอดการจำหน่ายบุหรี่และสุรา 1 หมู่บ้าน คือบ้านแม่อูคอหลวง และ 2 หมู่บ้านปลอดการจำหน่ายสุรา ได้แก่บ้านคำสุข กับบ้านใหม่พัฒนา นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการไม่จำหน่ายบุหรี่และสุราในวันพระ อีก 3 หมู่บ้าน


เลิกบุหรี่เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า

บุญส่ง เจริญเด่นสุริน นายก อบต.แม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า ในอดีตเคยสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 เพราะสภาพแวดล้อมที่อยู่บนดอยสูง ดำรงชีวิตด้วยอาชีพเกษตรกร ทำไร่นา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย จึงมักจะมีแมลงมาตอมวัวควาย ควันบุหรี่ช่วยไล่แมลงได้ อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากความเหงา ยิ่งตอนฝนตกต้องหลบอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ การมวนบุหรี่สูบกลายเป็นเครื่องคลายเหงาและสร้างความรู้สึกอบอุ่นได้อย่างดี


“สูบวันละ 3-5 มวน ต่อมากระดาษหนังสือพิมพ์หาง่ายกว่าใบตอง ก็ใช้มวนยาเส้นสูบแทน ไม่ทันฉุกคิดถึงพิษภัยที่จะตามมา ซ้ำช่วงหนึ่งไปทำงานในเชียงใหม่ มีโอกาสสูบบุหรี่ก้นกรองอย่างหนัก ถึงวันละ 1 ซองครึ่ง กระทั่งอายุ 30 เศษๆ รู้สึกเหนื่อยหอบง่าย โดยเฉพาะเวลาเดิน บางครั้งก็ไอ เวลาทำงานต้องหยุดพักสูบบุหรี่เป็นช่วงๆ กลับบ้านลูกเมียไม่อยากเข้าใกล้ อ้างว่าเหม็นกลิ่นบุหรี่ ยิ่งมาคิดได้ว่าวันหนึ่งๆ ใช้เงินซื้อบุหรี่ 30 บาท ถ้านำเงินมาซื้อของกินอื่นๆ ลูกเมียก็จะได้กินด้วย จึงได้ฮึดเลิกแบบหักดิบ เมื่อเวลาผ่านไปสุขภาพก็ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาดีดังเดิม” นายก อบต.แม่อูคอ อธิบาย

จากประสบการณ์ที่ทำให้ตระหนักถึงพิษภัย และค่าใช้จ่ายจากการสูบบุหรี่ เมื่อเข้ามาเป็นนายก อบต.จึงจัดโครงการ อบต.สัญจรทุกปี ร่วมกับทาง รพ.สต.บ้านปางตอง ออกไปให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของยาสูบและเหล้ากับชาวบ้าน พร้อมทั้งร่วมกันทำกติกาชุมชน เช่น ให้ร้านค้าเลิกขายเหล้าบุหรี่ในวันพระ รวมถึงไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เมื่อเริ่มดำเนินการช่วงแรกพบว่ามีการฝ่าฝืนบ้าง แต่ชาวบ้านช่วยกันกดดัน พูดคุยในที่ประชุมว่าคนทั้งหมู่บ้านไม่เห็นด้วย ผู้ฝ่าฝืนก็ต้องเลิกในที่สุด


เตรียมขยายพื้นที่ชุมชนต้นแบบ สู่ตำบลปลอดเหล้า-บุหรี่

พงศ์พีระ ชูชื่น นายอำเภอขุนยวม กล่าวถึงแนวทางขยายผลจากชุมชนปลอดเหล้า-บุหรี่ ว่ามีนโยบายร่วมมือกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการรณรงค์ให้แต่ละหมู่บ้านลดละเลิกแอลกอฮอล์-บุหรี่ เมื่อหมู่บ้านใดมีผู้สูบบุหรี่ไม่เยอะ ดื่มแอลกอฮอล์น้อย ก็จะใช้เป็นชุมชนต้นแบบ หากบางหมู่บ้านที่ยังเลิกไม่ได้ ก็จะเร่งเข้าไปพูดคุยให้ห้เห็นโทษภัยจากบุหรี่ สุรา ที่ทั้งทำลายปอด ก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งกล่องเสียง โรคตับแข็ง เป็นต้น

“วิธีการคือกล่าวยกย่อง ให้รางวัลหมู่บ้านต้นแบบ ขณะเดียวกันก็ใช้มาตรการทางสังคมกดดัน ลงโทษหมู่บ้านที่ใช้บุหรี่ สุรา ต้อนรับแขกในงานมงคล อวมงคล คนจะไม่ค่อยไปร่วมงาน ซึ่งเชื่อว่าในเร็วๆ นี้หมู่บ้านต่างๆ จะหันมาเลิกเหล้า-บุหรี่แบบสมัครใจมากขึ้น จนสามารถยกระดับตำบลแม่อูคอ ประกาศให้เป็นตำบลปลอดเหล้า-บุหรี่ได้” นอภ.ขุนยวม กล่าว


ทั้งนี้ เมื่อไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจในครัวเรือนดีขึ้น ไม่เพียงแค่ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเสพ แต่ยังทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสุขภาพ และเมื่อร่างกายแข็งแรง ก็ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งรายได้ อันเป็นการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง


หมายเลขบันทึก: 624402เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2017 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2017 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท