ทำไม ? เสื้อทีม ชมรมกีฬาวู้ดบอลเทศบาลตำบลสุรนารี จึงมีรูปไดโนเสาร์


สมาชิกชมรมฯ หลาย ๆ ท่าน และชาววู้ดบอลที่เข้าร่วมการแข่งขัน กีฬาวู้ดบอลกระชับมิตร เทศบาลสุรนารีเกมส์ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ และในการแข่งขันวู้ดบอลในครั้งต่อ ๆ มาในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ คงได้เห็นเสื้อทีมของ ชมรมกีฬาวู้ดบอลเทศบาลตำบลสุรนารี แล้วว่า นอกจากจะใช้สีประจำเทศบาลตำบลสุรนารีแล้ว ที่ด้านหน้ายังมีรูปของไดโนเสาร์ ติดอยู่ด้วย หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ทำไม ? จึงเลือกเอารูปไดโนเสาร์ มาใส่ไว้ในเสื้อทีม ของชมรมกีฬาวู้ดบอลเทศบาลตำบลสุรนารี มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?


จึงขออธิบายไว้ ณ ที่นี้ เพื่อจะได้บอกต่อ กรณีมีผู้สอบถามต่อไป....
เริ่มต้นจากในการประชุมของชมรมฯ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๙ เพื่อเตรียมการ เรื่องการจัดการแข่งขันวู้ดบอลกระชับมิตร ครั้งแรกของชมรม นอกจากมีการหารือเรื่องต่าง ๆ แล้ว ก็มีการหารือเรื่องการจัดทำเสื้อทีมของชมรมฯ ด้วย และมีผู้เสนอแนวคิดว่า น่าจะนำเอารูปไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก ที่เพิ่งมีการขุดค้นพบที่ตำบลสุรนารี และได้รับพระราชานุญาต ให้ใช้พระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ ดังกล่าวคือ “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส” (Sirindhorna khoratensis) หรือ อิกัวโนดอนต์ สิรินธร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของเทศบาลและของจังหวัดนครราชสีมาด้วย ซึ่งที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบ โดยมอบให้เหรัญญิกชมรม ฯ ไปออกแบบมาเพื่อพิจารณาต่อไป โดยอาม่า (ดร.พรรณี วราอัศวปติ) รับอาสาประสานกับ ผู้อำนวยการสถาบันไม้กลายเป็นหิน เพื่อขอภาพไดโนเสาร์และชื่อที่ถูกต้อง และขออนุญาตใช้ภาพและชื่อมาใส่ประกอบเสื้อของชมรมฯ ต่อไป......


ความเป็นมาของการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกนี้เกิดจาก การค้นคว้าวิจัย โดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินร่วมกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมมือขุดค้นไดโนเสาร์ ที่บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ระหว่าง ๒ สถาบัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้พบฟอสซิลกระดูกและฟันไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคหลายพันชิ้น โดยฟอสซิลชุดหนึ่ง ซึ่งพบเป็นส่วนของกะโหลก จำนวน ๑๙ ชิ้น และรวมทั้งชิ้นส่วนอื่นๆ ของโครงร่างอีกจำนวนมาก สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนต์ ที่เป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ ดังกล่าวคือ “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส” (Sirindhorna khoratensis) หรือ อิกัวโนดอนต์ สิรินธร และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ชื่อ “PLOS ONE” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก โดยตีพิมพ์ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีที่ สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ทั้งนี้เพื่อการเทิดพระเกียรติในวโรกาสพิเศษดังกล่าว และมีการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙

สามารถฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากข่าวนี้....

หมายเลขบันทึก: 624038เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2017 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2017 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท