วิสัยทัศน์ชุมพร01 แรงงานต่างด้าวมิใช่ต่างดาว


ญวนไล่จีน จีนไล่ไทย ไทยไล่ลิง
วิสัยทัศน์ชุมพร 01 แรงงานต่างด้าวไม่ใช่ต่างดาว                เมื่อคืนได้ฟังคำกล่าวรายงานประชาชน ของท่านนายกฯสุรยุทธ์ฯเรื่องการบริหารงานด้านกิจการต่างประเทศ โดยเฉพาะวันนี้ท่านนายกฯจะเดินทางไปเยือนประเทศเมียนม่าร์ เป็นประเทศสุดท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน สิ่งที่ท่านนายกฯจะหยิบยกมาหารือคือประเด็นแรงงานที่เข้าประเทศไทย                ทำให้คิดถึงช่วงก่อนแผนพัฒนาฯฉบับที่9 ผมมีโอกาสได้เป็นผู้จัดการจัดทำแผนวิสัยทัศน์จังหวัด มีการระดมแนวความคิดของกลุ่มหลากหลายในแต่ละจังหวัด มีประเด็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาวิเคราะห์ด้วย โดยเฉพาะแรงงานพม่า                ชุมพรเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับจังหวัดชายแดน และใกล้ชายแดนอื่นๆ แรงงานเหล่านี้ได้สร้างทั้งส่วนดี และส่วนเสียให้กับบ้านเมืองเรา                ส่วนที่เสียคือการเข้ามาแย่งชิง แบ่งใช้ทรัพยากร สาธารณูปโภคต่างๆ เช่นไฟฟ้า ประปา การรักษาพยาบาล และอื่นๆ ส่วนดี คือเข้ามาแบ่งเบาภาระงานของเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะงานหนักหรืองานที่เป็นสิ่งน่ารังเกียจ จะหาแรงงานไทยมาทำได้ยากมาก                พอจะสรุปแบบฟันธงได้ว่าแรงงานเหล่านี้มีประโยชน์มาก สำหรับการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้จะสร้างปัญหาบ้างในบางเรื่อง เช่นอาชญากรรม การเป็นพาหะของโรคต่างๆ เมื่อถ่วงดุลดูแล้วมีส่วนดี มากกว่าเสีย                เป็นกฎธรรมชาติ เปรียบเสมือนของเหลวย่อมไหลไปหาที่ต่ำด้วยแรงโน้มถ่วง แม้กระทั่งแรงงานไทยเองก็หลั่งไหลไปทำงานในต่างประเทศ ทั่วโลกที่เห็นว่ามีผลตอบแทนดีกว่า ที่เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า แล้วแต่ศักยภาพของแต่ละคน แล้วจะไปห้ามแรงงานต่างด้าวได้อย่างไร ทั้งนี้เป็นไปตามสัญชาติญาณการเอาชีวิตรอดนั่นเอง                ซึ่งก็น่าจะเป็นกรณีเดียวกันกับการย้ายฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม ก็เป็นไปตามทฤษฎีห่านบิน ของ Shinohara ในจังหวัดชุมพรเอง มีคำเปรียบเทียบการย้ายถิ่นฐานตามลำดับความขยัน ความอึดของคนว่า ญวนไล่จีน จีนไล่ไทย และไทยไล่ลิง จริงๆแล้วคำว่าไล่ คนชุมพรเรียกว่า ยิก เช่น ไทยยิกลิง ซึ่งก็หมายความว่าคนที่ขยันน้อยกว่าก็หนีเข้าไปบุกป่า หักร้างถางพงไปเรื่อยๆ   ก็น่าจะทำใจกันได้นะครับ                ถ้าจะมองกันให้ไกลๆ แรงงานต่างด้าวไม่ว่าเชื้อชาติไหน เมื่อมีงานทำ ย่อมมีรายได้ ก็ต้องกินต้องใช้ มีเงินก็ซื้อของกลับประเทศ ก็สินค้าไทยนั่นแหละ เศรษฐกิจมันก็จะหมุนเวียนได้ทั้งสองประเทศ                ทีนี้ย้อนมาดูวิสัยทัศน์ชุมพรบ้าง ได้ให้แง่คิดกันว่าแรงงานต่างด้าว เป็นแรงงานสำคัญและจำเป็นสำหรับจังหวัดชุมพรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเข้ามาเป็นแรงงานด้านประมงทะเล ประมงชายฝั่ง แรงงานในสวน ร้านอาหาร การก่อสร้าง และงานแม่บ้าน การขาดแรงงานเหล่านี้ จะเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนชุมพรมาก                ควรจะมีแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานเหล่านี้ ในเชิงรุก เช่นการสร้างข้อตกลงร่วมแบบทวิภาคี รัฐต่อรัฐ เช่นมีหน่วยงานของรัฐไทยเข้าไปคัดกรองแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน หาแรงงานคุณภาพ ให้เหมาะสมกับกิจการแต่ละประเภท แบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่ปล่อยให้เข้ามาตามยถากรรม ไม่ทราบหัวนอนปลายเท้า ไม่มีใบรับรองจากประเทศต้นทาง เข้ามาแล้วก่อปัญหาต่างๆมากมาย                อีกหนทางหนึ่ง คือการร่วมมือกันจัดฝึกอบรมแรงงานที่คัดกรองได้แล้ว ให้มีความรู้ในเรื่องอาชีพ และการดำรงชีวิตในประเทศไทย เช่น การกรีดยาง งานแม่บ้าน การอนุบาลเด็ก งานร้านอาหาร วัฒนธรรมไทย กฎหมายไทย และอื่นๆที่จำเป็น                ผู้ที่ผ่านการอบรมดังกล่าว จะได้รับใบผ่านการอบรมดังกล่าว มีการทำทะเบียนประวัติตั้งแต่ต้นทางก่อนเข้าประเทศไทย เมื่อเข้ามาแล้ว จะได้ทำงานตามความถนัด เราก็จะได้แรงงานคุณภาพ และมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง  ต่อปัญหาอาชญากรรมว่าจะเกิดขึ้นน้อยลง                สุดท้าย ด้วยความคิดในแง่ความเป็นธรรม เห็นว่าควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะอย่างไรก็ตามแรงงานเพื่อนบ้านเหล่านี้ ก็เป็นมนุษย์ร่วมโลก ร่วมประชาคมอาเซียน สามารถพัฒนาได้ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเรา คือมีส่วนดีมากกว่าส่วนเสีย แต่จะต้องมีปฏิบัติการเชิงรุกดังกล่าวข้างต้น                ขอย้ำ ว่าแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ผู้ใดไม่ประสบจะไม่รู้ ทำให้นึกไปถึงเมนูอาหารในร้านแห่งหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดอยู่แถวประดิพัทธ์เมื่อสักสามสิบปีมาแล้ว เขียนว่า ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก พอสั่งมาแล้วถึงรู้ว่า โซดา (ที่เขียนมาทั้งหมดเผื่อมีใครจะรับไปทำบ้าง)   23/11/2006
หมายเลขบันทึก: 62341เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2006 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท