โครงการส่งเสริมความเป็นพลเมืองของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการ

โครงการส่งเสริมความเป็นพลเมืองในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้นำความหมายของการจัดการศึกษา เพื่อความเป็นพลเมือง สองความหมายมาตีคความในการทำงาน ความหมายที่ 1 หมายถึงพลเมืองศึกษาเป็นการจัดการศึกษาและประสบการณ์เรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศ และเป็นพลโลกที่ดีของสังคมโลก เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความภาคภูมิใจในการเป็นพลเมืองของประเทศและสมาชิกของโลก มีความสนใจที่จะปกครองตนเอง มีสิทธิมีเสียง สนใจต่อส่วนรวมและมีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมืองในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ความหมายที่ 2 หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง รัฐบาลและระบบสถาบันต่างๆ ประวัติศาสตร์และรัฐธรรมนูญ เอกลักษณ์ของชาติ ระบบนิติบัญญัติ และกฎหมาย สิทธิมนุษยชนทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมของพลเมือง หลักการและกระบวนการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของพลเมืองในกิจการสาธารณะ และประเด็นเกี่ยวกับพลเมืองศึกษา วิถีทรรศน์สากล และการยอมรับค่านิยมพื้นฐานของสังคมในแต่ละประเทศ และสังคมโลก

เป้าหมายคือการเสริมพลังนิสิตให้สามารถชี้นำการกระทำของตนเองได้ด้วยความรู้และค่านิยมได้รับจากการเรียนรู้ในประเด็นต่างๆของโลก โดยนิสิตต้องมีเครื่องมืออันเป็นทักษะจำเป็นที่จะทำให้เขามีความสามารถและมั่นใจในเชิงรุกที่จะสร้างความแตกต่างเชิงบวกในโลกได้ เพราะพลเมืองมีความเกี่ยวข้องกับเด็กและเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย อีกทั้งความรู้ในเรื่องพลโลกจะทำให้เชื่อว่าสามารถเปลี่ยนสิ่งต่างๆได้และมีทางเลือกในการปฏิบัติ นอกจากนี้พลเมืองยังสามารถช่วยให้เผชิญและเปลี่ยนแปลงความอยุติธรรมและความไม่เสมอภาคในสังคมได้

การเสริมสร้างความเป็นพลเมืองอาจมีข้อจำกัด ในกรณีถ้าคนรู้สึกว่าความเป็นพลเมืองของประเทศถูกลดความสำคัญลง หรือกล่าวได้ว่าคนจะเชื่อว่าความเป็นพลเมืองของประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพลเมืองโลก แนวทางที่จะผสานความสนใจและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นกับของโลกเข้าด้วยกันคือ การวิจัยและจัดเสวนา กับการขจัดความเป็นศูนย์กลางโดยให้ผู้เรียนเข้าไปมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริงที่อยู่ภายนอกท้องถิ่นของเขา หรือมองท้องถิ่นกับโลกในลักษณะเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน (Global Citizenship Education: Preparing learners for the challenges of the 21st century, Published in 2014 by the United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization,7, place de Fontenoy, 75352 Paris 07 SP, France)

จากการดำเนินการของโครงการส่งเสริมความเป็นพลเมืองในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่าจะสร้างชุมชนครูผู้สนใจเรื่องของความเป็นพลเมืองจากคณะสาขาวิชา ต่างๆ มารวมตัวเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จนถึงร่วมออกแบบรายวิชาการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองของ มศว แต่วิธีการที่จะเริ่มโครงการฯ เริ่มจากในระดับกลุ่มคณาจารย์เล็กๆ เพื่อร่วมคิด ร่วมทำหลักสูตรให้เป็นรายวิชาที่จะเปิดให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทันในปีการศึกษา 2558 จึงจำเป็นต้องผลัดกันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว แม้นว่าขั้นตอนในการเปิดรายวิชาใหม่จะต้องดำเนินการตามกรอบที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดใช้เวลานาน หากแต่ว่าทางโครงการสามารถจัดทำรายวิชาการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองให้อยู่ในรายวิชาโทของภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่ คณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับปรุงหลักสูตรวิชาโท สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะศึกษาศาสตร์ คณะกรรมการระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย สภาวิชาการ และอยู่ระหว่างการรับรองของสภามหาวิทยาลัย สามารถเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ปีการศึกษา 2558 ได้ทัน

ในกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ที่พยายามจัดเวทีพูดคุยเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองให้กับคณาจารย์ของคณะศึกษาศาสตร์และกัลยาณมิตรที่เกี่ยวข้อง พบว่าไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มคณาจารย์เท่าใดนัก ทางคณะทำงานโครงการฯ ได้พูดคุยกับผู้ประสานงานของเครือข่ายจิตอาสา ที่ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษา ได้จับประเด็นกลุ่มเป้าหมายหลักๆอยู่ที่นิสิตครู และนิสิตทั่วไป รวมถึงอาจารย์ที่สอนโรงเรียนสาธิตของ มศว ที่จะสามารถขยายความรู้เรื่องความเป็นพลเมืองไปยังเหล่านักเรียนโรงเรียนสาธิต มศว ได้ จึงมีการปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก

กิจกรรมหลักของโครงการฯที่จะพัฒนาความเป็นพลเมืองในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นการจัดออกแบบรายวิชาเลือกในระดับปริญญาตรีของภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่ คณะศึกษาศาสตร์ โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนารายวิชาการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองให้เริ่มต้นที่นิสิตที่เรียนวิชาชีพครู อันจะเป็นต้นทางที่จะส่งเสริมให้เกิดความเป็นพลเมืองขึ้น เพราะนิสิตที่เรียนวิชาชีพครู จะต้องนำสิ่งที่เป็นความรู้เหล่านี้ออกไปใช้ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และ การทำงาน ในวิชาชีพครูเมื่อสำเร็จการศึกษา ส่วนนิสิตสาขาวิชาอื่นๆที่มาเรียนในนรายวิชานี้ถือเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองให้ขยายออกไป

กิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับนิสิตรายวิชาชีพครูและนิสิตทั่วไป ที่ไม่ได้เรียนรายวิชา ทางโครงการฯ ได้จัดสอดแรกให้กับนิสิตโดยเป็นกิจกรรมการฝึกอบรมการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองให้กับนิสิตครู ผ่านฐานการเรียนรู้ความเป็นพลเมือง และกิจกรรมฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือและวิทยากรยุวกาชาด วิธีการที่ ใช้ออกแบบโครงสร้างกิจกรรมคือ Learn-Think-Act และให้นิสิตได้เรียนจากประเด็นปัญหา และใช้ความคิดหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างมีวิจารณญาณ และลงมือกระทำอย่างพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ โดยได้ดำเนินกิจกรรมตามคุณสมบัติของ พลเมืองโลก ดังนี้

1. ตระหนักในโลกกว้างและมีสำนึกในบทบาทของตนเองในฐานะพลเมืองโลก

2. เคารพและเห็นคุณค่าในความหลากหลาย

3. มีความเข้าใจในการทำงานของโลกในด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

4. ฝ่าฝืนความอยุติธรรมในสังคม

5. มีส่วนร่วมและส่งเสริมชุมชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับโลก

6. มีความตั้งใจที่จะทำให้โลกมีความยั่งยืน

7. รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

ในการจัดทำกิจกรรมมีความยืดหยุ่นและครุ่นคิดว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรเพื่อความเป็นพลเมือง องค์ประกอบสำคัญของการเป็นพลเมืองประกอบด้วย

1. ความรู้ความเข้าใจ (Knowledge and understanding) ได้แก่

- ความเสมอภาคและยุติธรรมในสังคม (Social justice and equity)

- ความหลากหลาย (Diversity)

- โลกาภิวัตน์และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Globalization and interdependence)

- การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development)

- สันติภาพและความขัดแย้ง (Peace and conflict)

2. ทักษะ (Skills) ได้แก่

- การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking)

- ความสามารถในการอภิปรายให้เหตุผลอย่างมีประสิทธิภาพ (Ability to argue effectively)

- ความสามารถในการท้าทายต่อความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมกัน (Ability to challenge injustice and inequalities)

- เคารพในบุคคลและสิ่งของ (Respect for people and things)

- ความสามารถในการแก้ปัญหาในความร่วมมือและขัดแย้ง (Co-operation and conflict resolution)

3. ค่านิยมและทัศนคติ (Values and attitudes) ได้แก่

- สำนึกในอัตลักษณ์และเห็นคุณค่าในตนเอง (Sense of identity and self esteem)

- เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy)

- มีความยึดมั่นในความยุติธรรมและเสมอภาคในสังคม (Commitment to social justice and equity)

- เห็นคุณค่าและเคารพในความหลากหลาย (Value and respect for diversity)

- สนใจในสิ่งแวดล้อมและยึดมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Concern for the environment and commitment to sustainable development)

- เชื่อมั่นว่ามนุษย์สามารถสร้างความแตกต่างได้ (Belief that people can make a difference)

การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองพลเมือง มีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังผู้เรียนให้เข้าไปมีบทบาทอย่างมีพลังทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกในการเผชิญความท้าทายของโลกและเป็นผู้ร่วมสร้างสันติสุข ความมีใจเปิดกว้าง ความมั่นคง และความยั่งยืนให้กับโลก ให้โอกาสและทักษะแก่ผู้เรียนให้เชื่อมั่นในความจำเป็น และสิทธิของตนที่จะต้องเสริมสร้างโลกและอนาคตให้ดีขึ้น ทางโครงการฯ ได้มีการจัดกิจกรรมเสริมให้นิสิตได้เรียนรู้ได้แก่ การศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชน การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาสำหรับระหว่างชาติหรือความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม และการศึกษาเพื่อสันติภาพ

การถ่ายทอด มีพื้นฐานจากการศึกษาตลอดชีวิต ที่เหมาะสำหรับทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ และสามารถถ่ายทอดได้ในทุกรูปแบบการศึกษากล่าวคือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย สำหรับรูปแบบการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยอาจเลือกใช้วิธีการที่ยืดหยุ่นและหลากหลายได้ และสามารถบูรณาการเข้ากับรายวิชาที่มีอยู่ได้

ทักษะ ทักษะแกนของการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองคือ

1. ความรู้และเข้าใจ ในประเด็นเฉพาะและทิศทางของโลก และความรู้และความเคารพในค่านิยมสากล

2. ทักษะทางปัญญาโดยใช้ความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและหลักการในการวิพากษ์วิจารณ์ การคิดเชิงสร้างสรรค์และบูรณาการ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ

3. ทักษะที่ไม่ใช่ปัญญา เช่นความเห็นอกเห็นใจ การเปิดรับฟังประสบการณ์และมุมมองของคนอื่น การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความฉลาดในการสร้างเครือข่ายและปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน

4. ความสามารถทางพฤติกรรม ในการที่จะริเริ่มและเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างกระตือรือร้น

หมายเลขบันทึก: 623213เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท