เมื่อถึงพร้อม Formal ก็ปรากฏ : KM & R2R ยโสธร


เมื่อถึงพร้อม Formal ก็ปรากฏ : KM & R2R ยโสธร

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2548 ที่กลับมาอยู่บ้านที่ยโสธร และเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลยโสธรหลังจากไปเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกอยู่ประมาณแปดปี นับว่าเป็นการเริ่มนำแนวคิดเรื่อง R2R มาใช้หลังจากเคยได้ยินจากอาจารย์สองสามท่านพูดถึงในวง KM ว่าที่ศิริราชมีการทำ R2R ในตอนนั้นไม่ทราบอะไรที่มากไปกว่าคำว่า เป็นการทำวิจัยที่มีปัญหาการวิจัยมาจากการทำงานประจำ และในช่วงเวลานั้นได้กำลังเรียนรู้และทำดุษฏีนิพนธ์เรื่องการออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ต่อการสร้างความรู้ ซึ่งเป็นงานวิจัยของการศึกษาปริญญาเอกครั้งที่สอง ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในสาขาเทคโนโลยีการศึกษา จึงตีโจทย์ R2R ไปในทิศทางของการกระตุ้นคนทำงานให้เกิดการสร้างความรู้ในการทำวิจัย ร่วมกับการใช้แนวคิด KM และความรู้ในเรื่องการสร้างความรู้มาใช้ (Knowledge Construction)

ปฏิบัติ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ หมุนวนอยู่ตลอดเวลาจากการทำกระบวนการ จนมาทราบว่าบทบาทสิ่งที่ตนเองทำในแนวคิด KM เรียกว่า "คุณอำนวย หรือ Facilitator"

ถอดบทเรียนกับตนเองว่า ที่ผ่านมาเราทำวิจัยได้หรือสำเร็จมาจากสาเหตุอะไรบ้าง จากประสบการณ์ตอนที่เรียนปริญญาเอกสาขาแรกในช่วงเวลานั้นไปเรียนปริญญาโทสาขาที่สองควบคู่ไปด้วย ซึ่งทั้งสองหลักสูตรเน้นการทำวิจัย จึงเป็นช่วงเวลาที่ทำวิจัยไปพร้อมกันสองเรื่อง และเป็นเนื้อหางานวิจัยที่ใช้รูปแบบการวิจัยและสถิติในระดับสูง (Advance) พอสมควร จึงเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่หนักมากพอสมควร ถามตนเอง ใคร่ครวญ และถอดบทเรียนในตนเองว่า เราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไร อะไรที่ทำให้เราสามารถลงมือทำวิจัยลุล่วงไปด้วยดี

พบว่า ตัวเราเองนั้นสำคัญมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ ช่วงที่เกิดความเข้าใจวิจัยจริงๆ คือ ตอนที่ลงมือทำวิจัย ทำให้กลับไปค้นคว้าตำราศึกษาด้วยตนเอง ความรู้ที่เรียนมาในห้องเรียนช่วงเรียนภาคทฤษฎีนั้นนำมาใช้ได้น้อยมากแทบไม่ถึงสามสิบเปอร์เซนต์ นั่นหมายถึงว่า "ความรู้วิจัยที่เกิดขึ้นมาจากการลงมือปฏิบัติ" นั่นเอง

ประเด็นที่สองคือ อาจารย์ที่ปรึกษา ที่มีความเป็นครูและเป็นกัลยาณมิตรสูงมาก อาจารย์จะพูดเสมอว่า "เธอรู้เรื่องในงานวิจัยกว่าครู" แล้วอาจารย์ที่ปรึกษามักจะให้มาเล่าความก้าวหน้าในงาน เวลาที่เล่าหรือมาพบอาจารย์ไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามหรือกดดัน สิ่งที่อาจารย์ถามไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกทดสอบ แต่เป็นคำถามที่ทำให้เราอธิบาย เวลาที่พูดธิบายออกมานั่นทำให้เกิดการสะท้อนคิดในตนเอง เข้าใจ และตกผลึกในตนเอง ประมาณว่า "พูดเองเออเองเข้าใจเอง" บางครั้งอาจารย์ก็มานั่งข้างๆ และลงมือช่วยไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่อาจารย์ปฏิบัติต่อลูกศิษย์นั้นทำให้ตนเองรู้สึกว่ามีคุณค่า แม้งานที่ทำนั้นยากมากๆ แต่ก็ทำให้เกิดแรงจูงใจที่อยากจะค้นคว้า

อีกสิ่งหนึ่งที่ถอดบทเรียนกับตนเองได้คือ การที่ไม่มีความกดดันว่าจะต้องได้ใบปริญญาหรือสำเร็จการศึกษา ทำให้การเรียนเป็นการเรียนที่ต้องการเรียนรู้จริงๆ เป้าหมายที่ตั้งไว้กับตนเองค่อนข้างชัดเจนคือ ไม่ได้ต้องการใช้วุฒิการศึกษาไปอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา หรือนำมาใช้เพื่อเป็นการเติบโตในการทำงาน ดังนั้นการเรียนจึงไม่มีอะไรที่ต้องกดดันตนเอง ใช้ทุนจากแม่ในการเรียน จึงเรียนแบบสบายๆ และตั้งใจจะกลับมาทำงานที่จังหวัดบ้านเกิดและใช้ชีวิตอยู่กับแม่


การขับเคลื่อน R2R ที่ตั้งใจดำเนิน เป็นการทำแบบไม่เป็นทางการ เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าทำไปแบบเนียนๆ ให้คุ้นชินและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจะน่ายั่งยืนกว่าการเริ่มต้นแบบเป็นรูปแบบทางการ ดังนั้นจึงเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ ก่อนที่มีใจร่วมกัน เป็นไปไม่ได้เลยว่า เราจะสามารถผลักดันให้คนส่วนใหญ่ทำ เพราะในยุคสมัยนั้นวิจัยค่อนข้างเป็นยาขมของทุกคน(ปี 2548,2549) และยากที่จะมีใครกล้าลงมือทำแบบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การทำให้คนรู้สึกว่า ทำแบบสบายๆ ไม่กดดัน ไม่เร่งรัดน่าจะนำมาสู่ความสำเร็จมากกว่า จากความคิดความเชื่อดังกล่าวนำมาซึ่งความสำเร็จในการขับเคลื่อน R2R พอสมควร เพราะความไม่กดดันนำมาซึ่งความสุขและเบิกบาน เป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่มากในความรู้สึก คนที่คิดว่าตนเองไม่สามารถทำวิจัยได้ แต่พอมาทำ R2R กลับสำเร็จ เกิดการพูดปากต่อปาก และยิ่งมาสัมผัสคนที่ทำจะพบว่าเขามีพลังความสุขใจเกิดขึ้น เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความเบิกบาน

ความไม่เป็นทางการเกิดการขยายผลไปอย่างรวดเร็ว แม้เป็นคนกลุ่มเล็กๆ แต่กลับมีพลังงานมากมายมหาศาลในการสร้างสรรค์และพัฒนางาน ทำให้แต่ละอำเภอในจังหวัดยโสธรมีคุณอำนวยเกิดขึ้นจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม ขยายผลออกไป และแต่ละคนต่างมีสัมมาทิฐิต่อการทำ R2R (มีใจและมีความยินดีในการทำ มองว่า R2R ทำให้เกิดความสุขและเกิดปัญญาในชีวิตการทำงาน)

พอมาถึงช่วงสองสามปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557) เริ่มมีการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน R2R แบบเป็นทางการ แต่ก็พบว่ายังมีช่องว่า(Gap)อยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเข้าใจที่ตรงกันต่อเป้าหมาย หรือวิธีการหรือกระบวนการของการขับเคลื่อน พบว่าเริ่มมีการจัดการอบรมเรื่องวิจัย และพยายามที่จะทำให้เป็นเรื่องที่ยากขึ้น การขับเคลื่อนแบบเป็นทางการจึงดูเหมือนจะไม่มีความสุข แต่ในกลุ่มที่มีความเชื่อในความสุขจากการทำ R2R (Happiness R2R) ก็ยังคงมั่นคงและเชื่อมั่นในกระบวนการเดิมที่ทำมาอยู่

จนมาถึง ณ วันนี้ การขับเคลื่อนพลิกผันไป มีนโยบายชัดเจนอย่างเป็นทางการกำหนดให้ทุกองค์กรมี R2R อยู่ในโครงสร้าง การร่วมมือเริ่มเกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้ประสานงานและรับผิดชอบงาน R2R และ KM จังหวัดเปลี่ยนคนรับผิดชอบคนใหม่แทนคนเก่าที่ลาออกไป การพูดคุยหารือหาแนวทางจึงเริ่มขึ้นใหม่ มิติและทิศทางจึงค่อนข้าบูรณาการหลอมรวมหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่อง R2R KM HR และ Service Plan

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 พี่นิด หรือคุณฐิพร อัศววิศรุต ผู้นิเทศงาน R2R เขต 10 และพี่อี๊ด หรือคุณรัชนก น้อยอาษาผู้รับผิดชอบงาน R2R และ KM จังหวัดยโสธร พร้อมพี่เต้ (คุณลัดดา คำแดง) ร่วมหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางในการขับเคลื่อน R2R และ KM เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารและดำเนินการขับเคลื่อนในลำดับต่อไป

การดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ ไม่สรรหาคนใหม่แต่ใช้ศักยภาพของคนเดิมที่อยู่ในพื้นที่เป็นต้นทุน (R2R Facilitator) พร้อมกับการค้นหาและสร้างการเรียนรู้ในคนใหม่ให้ขยายวงกว้างออกไป มีคณะกรรมการ 3 ส่วนคือ ส่วนของผู้บริหาร ส่วนของคณะทำงาน และส่วนของภาคสมทบ อาทิเช่น ภาคีเครือข่ายเอกชน NGO กลุ่มสมัชชาสุขภาพ และโรงพยาบาลเอกชนเป็นต้น

บทบาทของสาธารณสุขจังหวัด ทำหน้าที่ในการจัดการและประสานงาน การทำงานโดยคณะกรรมการที่เป็นแกนหลักที่ร่วมกันขับเคลื่อนมาหลายปี (core team) และมีทีมคณะกรรมการบริหารกำกับทิศทาง

เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือ การเรียนรู้และดีเสมอ





หมายเลขบันทึก: 622689เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2017 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท