ใจนำพาศรัทธานำทาง : ทำความดีเพื่อพ่อ-จิตอาสาเพื่อแผ่นดิน (1)


ด้วยความที่อยู่ในช่วงถวายอาลัย 100 วัน นิสิตเหล่านี้ก็เรียนรู้ที่จะปรับแต่งกระบวนการให้เป็นไปตามครรลองที่ว่านั้น เช่น แทนที่จะร้องรำทำเพลงในแบบทั่วไป ก็เน้นการลำถวายอาลัย ลำชักชวนการทำบุญ ลำสะท้อนคิดความดีความชั่ว รวมถึงการพยายามสร้างการมีส่วนร่วม อันหมายถึงเชื้อเชิญพ่อค้าแม่ค้าออกมาร้องรำร่วมกัน




ปลายปี 2559 ผมเปิดรับสมัครนิสิตไปทำงานจิตอาสาที่ท้องสนามหลวงผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่มีรายละเอียดอะไรมาก มีเพียงการสื่อสารหลักๆ คือ ไปทำงานจิตอาสาและไปกราบสักการะพระบรมศพในหลวงภูมิพล

ผมเจตนาสื่อสารรวมๆ หรือกว้างๆ เช่นนั้นจริงๆ เพราะต้องการ “วัดใจ” และต้องการคนร่วมเดินทางในแบบ “ใจนำพาศรัทธานำทาง” เหมือนที่เคยริเริ่มไว้เมื่อปี 2551

ทันทีที่ระบบเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการ ผ่านไปได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง คนแห่เข้าสมัคร หรือลงทะเบียนทะลุ 100 คนพอดิบพอดี จากนั้นก็ปิดระบบลงอย่างรวดเร็ว ทำเอาหลายต่อหลายคนงุนงง เพราะตั้งตัวไม่ทัน พลอยให้ต้องตกขบวนแห่งการงานในครั้งนี้ไปโดยปริยาย

แต่อย่างไรก็ดี ผมก็สร้างระบบรองรับไว้อย่างคร่าวๆ เป็นแผนสอง เช่น เปิดให้มีการติดต่อลงทะเบียนขึ้นบัญชีสำรองไว้โดยตรงกับผม !





วันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2560 ผมเชิญนิสิตที่ลงทะเบียนมาประชุมอย่างเป็นทางการร่วมกัน

ครั้งนี้ผมชี้แจงอย่างละเอียดเลยว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่ได้นอนโรงแรม ไม่นับชั่วโมงจิตอาสา กยศ. รวมถึงการอธิบายถึงจุดมุ่งหมายและกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การกราบพระศพ การบริการแจกจ่ายข้าวของในเต็นท์ (ซุ้ม/โรงทาน) รวมถึงการทำงานจิตอาสาร่วมกับ "ศูนย์ประสานจิตอาสาเพื่อพ่อ" ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ

เช่นเดียวกับการสื่อสารให้รู้ว่าทำไมผมถึงประชาสัมพันธ์แบบกว้างๆ รวมๆ เช่นนั้น เพราะผมต้องการทำงาน หรือสร้างคนโดยเริ่มจากการ “วัดใจ” (ใจนำพาศรัทธานำทาง) เป็นอันดับแรก นอกจากนั้นจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า “ผมต้องการคนที่มีใจต่อการทำงาน หรือคนที่เชื่อและศรัทธาในปลายทาง เชื่อและศรัทธาทั้งที่รู้ว่ากระบวนการระหว่างทางยังคลุมเครือ แต่ก็พร้อมที่จะเปิดใจทำงานและออกแบบร่วมกันเพื่อให้ไปถึงจุดหมาย”

แน่นอนครับ- ผมคิดแบบนั้นตั้งแต่ต้น คิดและออกแบบเช่นนั้นจริงๆ มิใช่มาสรรหาถ้อยคำเพื่ออำพรางความไม่พร้อมของตนเอง –





ในกระบวนการของวันนั้น พอเสร็จสิ้นการสื่อสารดังกล่าว ผมคืนโอกาสให้กับนิสิตทุกคนอีกครั้ง – เป็นการคืนให้เพื่อให้แต่ละคนได้ตัดสินใจอีกรอบว่า “จะไป-หรือไม่ไป”

ใช่ครับ-พออธิบายทุกอย่างชัดแจ้งแล้ว ก็คืนเวทีให้พวกเขาได้ตัดสินใจอีกรอบ รวมถึงถามตรงๆ เลยว่า ใครยังยืนยันว่าจะร่วมเดินทางไปกับผม ซึ่งก็มีเกินครึ่งที่ไม่ลังเล โดยยืนยันว่า “เราจะไปด้วยกัน -เราจะไปกราบพ่อด้วยกัน”

ครั้นได้กลุ่มคนแรกเริ่มชัดเจนแล้ว ผมก็ให้ทั้งหมดตกลงกันเองว่า “ใครจะเป็นแกนนำกันบ้าง” หรือกระทั่งการฝากให้คิดเองว่าควรมีกิจกรรมอะไรบ้าง รวมถึงการฝากให้ไปคิดว่าก่อนการเดินทางควรมีเวทีประชาสัมพันธ์-เชิญชวนคนเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งผมชี้แจงว่าประมาณว่า "...บางทีหลายคนอยากไปแต่ไปไม่ได้ แต่ก็พร้อมที่จะหนุนเสริมด้วยปัจจัย หรือสิ่งของต่างๆ เสมอเหมือนให้เราเป็นเหมือน “สะพานบุญ” นั่นเอง..."





กรณีดังกล่าว ผมย้ำชัดเจนว่าไม่เน้นมูลค่าเงินทอง หรือข้าวของใดๆ แต่อยากให้ทีมทำงานได้เรียนรู้กันและกันผ่านกิจกรรมนี้ เพราะการงานข้างหน้านั้นเราไม่รู้ว่าจะเผชิญอะไรบ้าง แต่หากทุกคนได้ลงแรงร่วมกันเช่นนี้ ย่อมเป็นต้นทุนอันดีในการที่จะหลอมหลอมความเป็นทีมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และจะเป็นพลังในการทะลุทะลวงไปสู่จุดหมายที่ร่วมวาดหวังไว้ –

ผมยืนยันว่าสื่อสารประมาณนี้ จากนั้นก็ออกจากห้องประชุมไป เพื่อให้นิสิตได้ “โสเหล่” กันเอง เรียกได้ว่าวางกลยุทธให้พวกเขาพูดคุยสร้างงานและสร้างทีมด้วยตนเองก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่ผมไม่ได้ละเลยอะไร หากแต่เฝ้ามองอย่างเงียบๆ ในระยะที่คิดว่า “ไม่ร้อนและไม่หนาว” จนเกินไป




ผ่านไปสามสี่วัน .. พวกเขาก็ลุยงานกันในแบบที่คุ้นชินด้วยการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและระดมทุน หรือที่เรียกในภาษากิจกรรมว่า “บอกบุญ” ณ บริเวณตลาดน้อยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

พวกเขาออกแบบกันเองว่าจะทำอะไร หลักๆ ที่ผม หรือทีมงานหนุนเสริมก็เพียงแค่จัดหาวัสดุครุภัณฑ์ให้พวกเขา และไปเฝ้าให้กำลังใจในแบบ “พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน”




ยืนยันตรงนี้ว่าพวกเขาน่ารักมาก - เครื่องเสียงชำรุดก็ไปจัดหามาเอง โทรโข่งไม่มีแบตเตอรี่ก็จัดการเอง รวมถึงการประสานเครือข่ายจิตอาสามาช่วยกันแบบ “ด่วนดิบ” ซึ่งก็หลั่งไหลมาช่วยกันเป็นระยะๆ ใครถนัดพูดก็พูด ถนัดร้องก็ร้อง ถนัดเป่าแคนก็เป่า ถนัดถือกล่องก็ถือ ฯลฯ....

และด้วยความที่อยู่ในช่วงถวายอาลัย 100 วัน นิสิตเหล่านี้ก็เรียนรู้ที่จะปรับแต่งกระบวนการให้เป็นไปตามครรลองที่ว่านั้น เช่น แทนที่จะร้องรำทำเพลงในแบบทั่วไป ก็เน้นการลำล่อง (ลำทางยาว) ถวายอาลัย ลำชักชวนการทำบุญ ลำสะท้อนคิดความดีความชั่ว รวมถึงการพยายามสร้างการมีส่วนร่วม อันหมายถึงเชื้อเชิญพ่อค้าแม่ค้าออกมาร้องรำร่วมกัน –

ผมยังย้ำว่า ผมต้องการให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหลอมรวมทีม ไม่ใช่ปักหมุดเป็นกิจกรรมระดมทุน ซึ่งในส่วนตัวแล้วผมถือว่า “สอบผ่าน” ทำให้เห็น “ผู้นำ” และ “ภาวะผู้นำ” ในแบบ “ตัวจริงเสียงจริง” ไปอย่างเสร็จสรรพ

และจริงๆ ผมก็เห็นชัดว่า การขับเคลื่อนในวันนั้นมีเครือข่ายทำงานหลายภาคส่วน เช่น กลุ่มผู้นำสโมสรนิสิตแต่ละคณะ กลุ่มโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม (วงแคน) หรือกระทั่งชมรมและกลุ่มจิตอาสาอิสระที่ไม่สังกัดองค์กรใดๆ





ในค่ำคืนนั้น พวกเขาระดมทุนบอกบุญมาให้ 4,855.25 บาท แถมยังบอกกับผมว่าจะไป "บอกบุญ" ต่อที่งาน "เทคโนแฟร์" ซึ่งผมมองว่า “มันดึกแล้วและไม่อยากให้เหนื่อยมากกว่านี้” จึงเปรยว่า “พอแค่นี้ อยากให้กลับไปพักผ่อน วันหลังค่อยว่ากัน”

เอาจริงๆ เลยนะ ผมไปนั่งให้กำลังใจพวกเขาตั้งแต่ต้นจนจบ เฝ้ามองกระบวนการคิดและการทำงานของพวกเขาแบบใกล้ชิด ตามแบบ “พูดให้ฟังทำให้ดูอยู่เป็นเพื่อน”

นี่คือการก่อการณ์เรื่องดีๆ ในระยะเวลาก่อนการเดินทางไปยังสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง

นี่คือวิถี “มมส ทำดีเพื่อพ่อ-มมส จิตอาสาเพื่อแผ่นดิน” หรือกระทั่ง “ใจนำพาศรัทธานำทาง”



เขียนเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560
มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 621724เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2017 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2017 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์

-เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆเลยครับ

-การมีส่วนร่วมของน้องๆ ในคราวนี้ได้ก่อเกิดสิ่งดีงามมากมายเลยนะครับ

-อาจารย์สบายดีนะครับ?


ครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ผมนั่งให้กำลังใจพวกเขาตั้งแต่ต้นจนจบ เห็นการมาของเครือข่ายของพวกเขาแบบง่ายงาม และเห็นแววตาที่มีพลังของพวกเขาที่ได้ทำเพื่อพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ก็อดที่จะชื่่นชมพวกเขาไม่ได้ และได้แต่หมายใจว่ากระบวนการเล็กๆ ในวันนี้จะเป็นเชื้อเพลิงชีวิตที่ดีสำหรับเขาในภายภาคหน้า

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท