ไหมหอม : วัฒนธรรมสร้างสรรค์การต่อยอดภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม


ปัจจุบันสารเคมีอันตรายได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเจือปนปริมาณมากเมื่อใช้ไปในระยะเวลาที่ยาวนานจะเกิดการสะสม และอาจกลายเป็นสารก่อในที่สุด มนุษย์สมัยใหม่จึงมักเผชิญกับการเสื่อมถอยในเชิงสุขภาพแนวทางการแก้ไขปัญหาอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือการใช้สมุนไพรเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งจัดเป็นภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมเชิงสุขภาพที่สืบทอดกันมายาวนาน(เสรี เงตฉู่นุ้ย. 2549 อ้างถึงใน กนกพรรณแว่นแก้ว. 2559 : 1-2)เมื่อสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาส่งผลให้ตลาดโลกในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพความงามที่ผลิตจากสมุนไพรกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้ถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สมุนไพร การสร้างภาพลักษณ์ในด้านบวกและการสร้างกระแสการบริโภคผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ปลอดสารพิษ ส่งผลให้ผู้บริโภคยอมรับและมีความต้องการในการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพความงามเพิ่มขึ้น (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด. 2541 : 2 )

สำหรับตลาด สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไปกับตลาดโลก และจากกระแสความต้องการดูแลสุขภาพที่กระจายไปสู่คนทุกเพศทุกวัย ทำให้สินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติได้รับความนิยมมากกว่าสินค้าที่ผลิตจากสิ่งสังเคราะห์ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ใช้วัตถุดิบกลุ่มดังกล่าวมาผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. 2557 : เว็ปไซต์)

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านสมุนไพรอันดับต้นๆ ของโลก รัฐบาลไทยนำโดยกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้มีการสนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรทั้งในรูปแบบที่ใช้เป็นยารักษาโรคอาหาร เครื่องดื่มเครื่องสำอางค์ ทั้งนี้เนื่องจากสมุนไพรก่อให้เกิดพิษ หรืออาการข้างเคียงที่น้อยกว่าสารเคมีสังเคราะห์ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปในรูปแบบต่างๆ อาทิสมุนไพรขัดผิวสมุนไพรล้างหน้าเป็นต้น สำหรับการนำสมุนไพรมาแปรสภาพโดยผ่านกระบวนการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เอนกประสงค์นานาชนิดนั้นสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้และให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี (เพ็ญจันทร์ กรุณามัยวงศ์ 2545 : 7-9)

ภูมิปัญญาด้านสุขภาพความงามกับความงามของหญิงไทยเป็นสิ่งที่คู่กันมาตั้งแต่โบราณตำหรับความงามของผู้หญิงไทยมักจะมีสมุนไพรร่วมด้วยเสมอ ในสมัยก่อนผู้หญิงจะเรียนรู้ถึงการใช้สมุนไพรมาประยุกต์ใช้กับส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้สมุนไพรเฉพาะที่ได้อย่างเหมาะสม เช่น ขมิ้นใช้ในการบำรุงผิวพรรณ น้ำซาวข้าวใช้ในการสระหรือหมักผมใช้เกลือแกงในการขัดใบหน้า และใช้ดินสอพองในการพอกหน้า (ฐาปวีส์ คงสุข. 2545 : 15 อ้างถึงใน รชพรรณฆารพันธ์. 2554 : 2-3)องค์การเภสัชกรรมเล็งเห็นรากฐานแห่งภูมิปัญญาอันงดงามนี้ได้มีการส่งเสริมให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญในเรื่องภูมิปัญญาไทยมุ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนา นำภูมิปัญญามาต่อยอด ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ยารักษา และครีมบำรุงผิวพรรณ หลายอย่างใช้อย่างได้ผล และยังทำให้สมุนไพรไทยมีชื่อสียงโด่งดังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในยุคนี้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ความงามต่างประเทศมีราคาที่สูง และคนไทยที่บริโภคผู้ที่มีความรู้เรื่องความงามคงพอทราบว่าสูตรผสมของผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศหลายอย่างนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรในประเทศไทย (เบญจมาศ ชุมสาย. 2545 : 165)

จากข้อมูลข้างต้นไม่ว่าเป็นรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข องค์กรเภสัชกรรม ต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้ รวมถึงผู้ประกอบการด้านสุขภาพความงามในท้องถิ่นเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาแปรรูปสมุนไพรเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เนื่องจาก การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากแบบยั่งยืนมีพื้นฐานจากการผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีของท้องถิ่นพร้อมกับความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านบางชุมชนสั่งสมประสบการณ์จนเกิดความเป็นเชี่ยวชาญจนสามารถถ่ายทอดให้กลุ่มอื่นๆ ได้ (ประพันธ์ ภักดีกุลและคณะ. 2549 : 2)

กลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามเป็นกลุ่มอาชีพที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพชุมชน มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมานานตั้งแต่มีการริเริ่มโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่กลุ่มเล็งเห็นความสำคัญถึงการดูแลสุขภาพที่ดีนั้นว่าเป็นสิ่งสำคัญการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในการดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้น รู้จักใส่ใจตนเองตระหนักในเรื่องสุขภาพของชุมชน ดีกว่าที่จะไปเน้นที่การรักษาเมื่อเจ็บป่วยกลุ่มจึงยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง

ผู้วิจัยได้ติดตามการทำงานของกลุ่มตั้งแต่ปี 2546 เล็งเห็นว่ากลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตร สามารถพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าเป็นแชมพูครีมนวดผม สมุนไพรผงสมุนไพรชงดื่มซึ่งเป็นที่ยอมรับมานาน กลุ่มยัง มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ฝึกปฏิบัติและทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ข้อดีสำหรับการเลือกกลุ่มนี้เพื่อการวิจัยเนื่องจากหมู่บ้านใกล้เคียงมีวัตถุดิบรังไหมพันธุ์นวลน้อยทุ่งกุลาซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นรังไหมพันธุ์ดี เหมาะแก่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม เนื่องจากให้น้ำกาวไหมที่มีสีเหลืองทองสวย จัดเป็นวัตถุดิบสำคัญที่มีอยู่ในพื้นที่ กอปรกับมีหอมแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายโดยทั่วไปแต่เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณที่ดีสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงามในครั้งนี้กลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม มีการเรียนรู้และสามารถผลิตสบู่รังไหมเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความพร้อมในการเรียนรู้และเหมาะแก่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์รังไหมและหอมแดงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพความงามเชิงสร้างสรรค์ในครั้งนี้เพื่อที่จะเป็นกลุ่มต้นแบบ และให้ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการขยายไปสู่ชุมชนอื่นต่อไป

2. วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาภูมิปัญญาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพความงามของกลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม

2. เพื่อพัฒนาสบู่ให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เพื่อสุขภาพความงามจากรังไหมผสมหอมแดงของกลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม

3.เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสบู่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เพื่อสุขภาพความงามจากรังไหมผสมหอมแดงแก่กลุ่มผลิตสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม

3. วิธีดำเนินการวิจัย

1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

1.1ประชากรกลุ่มสตรีแปรรูปสมุนไพรในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม

1.2กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจงจำนวน 35 คนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

1.2.1 กลุ่มผู้นำชุมชนจำนวน 6 คน

1.2.2กลุ่มผู้ปฏิบัติจำนวน20 คน

1.2.3กลุ่มผู้ส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จำนวน9 คน

4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ใช้เครื่องมือที่ใช้ การทดลองฝึกปฏิบัติสังเกต และแบบสัมภาษณ์หลังการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝึกปฏิบัติการผลิตสบู่รังไหมและหอมแดง

4.1 กิจกรรมฝึกปฏิบัติผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่จากรังไหมและ

หอมแดง 3 ระยะ เพื่อพัฒนาสบู่แบบก้อน สบู่ชุดขนมไทยและสบู่เหลว สำหรับทารก ผู้สูงวัยและผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย

4.2 การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation)นักวิจัยคอยติดตาม

สังเกตการณ์ เวลาที่สมาชิกในกลุ่มประชุมฝึกปฏิบัติการสังเกตการแก้ไขปัญหาในขณะที่ฝึกปฏิบัติ หลังจากนั้นจะมีการแนะนำเพิ่มเติมหลังฝึกปฏิบัติการตามปัญหาที่สมาชิกกลุ่มสงสัย เพื่อวางแผนการทำงานให้ต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จ

4.3 สังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ( Non-Participant Observation)นักวิจัยคอยสังเกตการณ์

เก็บภาพ และจดบันทึกข้อมูลอยู่ห่างๆ ในขณะที่สมาชิกในกลุ่มได้เริ่มทำการฝึกปฏิบัติการและร่วมเรียนรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิ

4.4แบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของพื้นที่พัฒนาการของกลุ่ม และภูมิปัญญาด้านสมุนไพรของกลุ่ม เป็นชุดสัมภาษณ์สำหรับผู้นำชุมชน

4.5แบบสัมภาษณ์หลังฝึกปฏิบัติการ เป็นชุดสัมภาษณ์สำหรับสมาชิกในกลุ่มจำนวน 20 คนเพื่อที่จะเก็บรายละเอียดหลังการฝึกปฏิบัติการและเป็นการติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่ม

5.เก็บรวบรวมข้อมูล

การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายวิธีประกอบกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมและสมบูรณ์ด้วยวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)โดยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ทำการศึกษาจะเก็บรวบรวมข้อมูลจำแนกตามข้อมูลที่ต้องการศึกษาและจากแหล่งข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องโดยวิธีการเก็บข้อมูลได้แก่ การเก็บข้อมูลที่ต้องการศึกษาและจากแหล่งข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องโดยวิธีการเก็บข้อมูลจากเอกสาร(Documentary Research)และเก็บข้อมูลภาคสนาม (FieldResearch) การเก็บข้อมูลเชิงทดลองเป็นการทดลองค้นหาสูตรตั้งต้นที่เหมาะสมแก่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนจากนั้นจึงนำชุดทดลองฝึกปฏิบัติการจนได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแล้วลงถ่ายทอดสู่กลุ่มผู้ปฏิบัติโดยเน้นการฝึกปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม

4.การวิเคราะห์ข้อมูล

นักวิจัยได้มีการจดบันทึกสูตรตั้งต้นจากข้อมูลที่ได้จากการทดลองจากนั้นนำสู่การฝึกปฏิบัติเป็น 3 ระยะ เพื่อให้ได้ผลที่น่าพอใจ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งหวังระยะที่ 1 ฝึกปฏิบัติทำสบู่รังไหมหอมแดง จดบันทึกผลระยะที่ 2 ฝึกปฏิบัติสบู่รังไหมหอมแดงรูปแบบขนมไทย ระยะที่ 3ฝึกปฏิบัติสบู่รังไหมหอมแดงรูปแบบสบู่เหลวอาบน้ำสำหรับทารก ผู้สูงวัยและผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ซึ่งกลุ่มผู้ปฏิบัติได้ฝึกทดลองปฏิบัติการจนได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และสามารถนำออกจัดจำหน่ายในชุมชนได้ เก็บรวบรวมผล จากนั้นสรุปผลการวิจัยจากการสังเกตการสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยกลุ่มนักปฏิบัตินักวิชาการด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงาม แล้วจดบันทึกไว้ในลักษณะบรรยายเพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เห็นภาพของการศึกษาผลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามเชิงสร้างสรรค์จากการต่อยอดภูมิปัญญาไทยหอมแดงสมุนไพรก้นครัวที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน

จากนั้นได้สรุปตีความใช้เทคนิคดำเนินการตรวจสอบแบบสามเส้า ( Methodological Triangulation)และนำเสนอข้อมูลโดยการพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis ) เพื่ออธิบายถึงผลการเรียนรู้กิจกรรมการฝึกปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากรังไหมและหอมแดง ทราบแนวทางการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาสู่งานสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม จากนั้นนำมาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอข้อมูลด้วยการเขียน เชิงพรรณนาวิเคราะห์ ( Descriptive Analysis) พร้อมรูปภาพประกอบตอนท้ายเล่ม

4. ผลการวิจัย

4.1 ผลการวิจัย

1. กลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรหมู่ 5อำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามเป็นกลุ่มอาชีพ ที่มีการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 18 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญ และ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย สำหรับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนได้รับรางวัลในระดับ 4 ดาวส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจะเน้นการใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก เนื่องจากในพื้นที่มีวัตถุดิบรังไหมพันธุ์นวลน้อยทุ่งกุลาซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นรังไหมพันธุ์ดี เหมาะแก่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม เมื่อนำมาต้มสกัดจะทำให้ได้น้ำกาวไหมที่มีสีเหลืองทองสวย กอปรกับมีหอมแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายโดยทั่วไปแต่เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณที่ดีสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงามกุล่มเน้นวัตถุดิบที่หาง่าย ราคาไม่แพงเพราะยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การเลี้ยงตนเอง ด้วยการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือนยึดมั่นในหลักคุณธรรม คือ ขยันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

2. ทราบถึงแนวทางการนำภูมิปัญญามาต่อยอดสู่การพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงามจากรังไหมผสมหอมแดงของกลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามเมื่อผ่านกระบวนการฝึกปฏิบัติการทั้ง 3 ระยะแล้ว ทำให้กลุ่มผู้ปฏิบัติทราบแนวทางการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการนำรังไหมและหอมแดง มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงามในลักษณะของสบู่ก้อนแบบใสสบู่ขนมไทยจากรังไหมและหอมแดง และระยะสุดท้ายคือผลิตภัณฑ์สบู่เหลวสำหรับทารกผู้สูงวัย และบุคคลทั่วไปที่มีผิวที่มีอาการแพ้ง่าย ซึ่งคณะวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามยังมีแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่นวัตกรรมในอนาคตเมื่อผ่านการประชุมเพื่อฝึกปฏิบัติการสามครั้งซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติจริง และเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่งผลให้กลุ่มมีความมั่นใจและมีแนวคิดที่ทำผลิตภัณฑ์ออกจัดจำหน่ายจริงจึงมีการทดลองจัดจำหน่ายจริงภายในชุมชนผลปรากฏว่ายอดจัดจำหน่ายไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้บริโภค

5.การอภิปรายผล

5.1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของกลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัย

จังหวัดมหาสารคามกลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามมีการดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องสามารถพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพที่ได้คุณภาพมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เป็นที่ยอมรับมาช้านานโดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรสมุนไพรในพื้นที่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนาของกลุ่มจะมีการขับเคลื่อนแบบค่อยเป็นค่อยไปผลิตเพื่อใช้เองภายในกลุ่มเมื่อเหลือจึงนำไปจัดจำหน่ายเน้นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ภายในครัวเรือนและรู้จักศึกษาพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีเหตุผล พอประมาณมีภูมิคุ้มกันภายใต้เงื่อนไขการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องรอบครอบ ระมัดระวัง และหลักแห่งคุณธรรมขยันประหยัด และซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

5.2ภูมิปัญญาการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ตั้งต้นเพื่อสุขภาพความงามจากรังไหม

ผสมหอมแดงของกลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามสำหรับการนำภูมิปัญญามาต่อยอดสู่การพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ตั้งต้นเพื่อสุขภาพความงามจากรังไหมผสมหอมแดงของกลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามผู้วิจัยได้สูตรตั้งต้น คือ สบู่รังไหมพันธุ์นวลน้อยทุ่งกุลา มาผสมกับหอมแดงพันธ์บางช้างศรีสะเกษ กลายเป็น “สบู่ไหมหอม”

โดยมีรังไหมเป็นเคมี Aหอมแดงเป็นเคมี Bออกมาเป็น เคมี C = Creative Product เป็นผลงานสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพความงาม ผ่านกระบวนการฝึกปฏิบัติการทั้ง 3 ระยะแล้ว ทำให้กลุ่มผู้ปฏิบัติทราบแนวทางการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการนำรังไหมและหอมแดง มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงามในลักษณะของสบู่ก้อนแบบใสสบู่ขนมไทยจากรังไหมหอมแดงและระยะสุดท้ายคือผลิตภัณฑ์สบู่เหลวสำหรับทารกผู้สูงวัย และบุคคลทั่วไปที่มีผิวที่มีอาการแพ้ง่าย ผลการวิจัยสอดคล้องกับแนวคิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ของ จีระ หงส์ลดารมภ์ ที่กล่าวว่า หลักแห่งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการที่ เคมี A Spark เคมี B = เคมี C หมายถึง New Idea or Creative Ideaการจะพัฒนางานสร้างสรรค์จะต้องประกอบด้วยสูตรเคมีเดิมสารตั้งต้นเรียกว่า เคมี A ผสมผสานกับเคมีใหม่ที่น่าสนใจ เรียกว่า เคมี B เมื่อสารทั้งสองตัวเกิดการทำปฏิกิริยา (Spark) ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัวแล้วออกมาเป็นสูตรใหม่ เรียกว่า เคมี C ที่เป็น “ Creative” จะเรียกว่าผลงานสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสูตรผสมทางความคิดที่ลงตัว และสามารถนำไปสร้างสรรค์ พัฒนาชุมชนและสังคมได้ (ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว. 2557 : 259)

6. สรุปผลการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ได้เลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีความชำนาญมีคุณภาพ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เน้นการทำงานในเชิงบูรณาการ เพื่อที่จะขยายผลต่อไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป

กลุ่มยอมรับในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์เรื่องภูมิปัญญาสุขภาพความงามของรังไหมและหอมแดงได้รวดเร็วเพราะมีความเชื่อในภูมิปัญญาดั้งเดิม ได้เรียนรู้ ทดลองใช้สบู่รังไหมมาก่อน และเชื่อมั่นในเรื่องภูมิปัญญาของหอมแดงในด้านการบำรุงสุขภาพมาแต่โบราณ ทำให้ผู้วิจัยเชื่อมโยงองค์ความรู้ภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้นสำหรับกระบวนการสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่นวัตกรรมเพื่อสุขภาพความงามจากรังไหมและหอมแดงนั้น การพัฒนาสูตรสบู่ทั้งรูปแบบของสบู่ก้อนและสบู่เหลว ผู้วิจัยได้เลือกใช้รังไหมพันธุ์นวลน้อยทุ่งกุลาซึ่งเป็นรังไหมขนาดเล็กสีเหลืองเข้มเป็นวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ และเลือกใช้หอมแดงเล็กพันธุ์ศรีสะเกษซึ่งเป็นหอมแดงที่ขึ้นชื่อของไทยที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องถิ่น และได้ผลสรุปจากการทดลองของกลุ่มผู้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แล้วว่าเป็นหอมแดงพันธุ์เล็กศรีสะเกษเป็นหอมแดงคุณภาพดีและมีความเข้มข้นของสารเคมีธรรมชาติที่ให้ประโยชน์ด้านบำรุงผิวสูงที่สุดแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น และกลิ่นที่เข้ากับหอมแดงได้ดีคือ กลิ่นโมก สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผู้วิจัยได้จัดการถ่ายทอด 3 ครั้ง 1. สบู่ก้อนรังไหมหอมแดงแบบทั่วไป จากนั้นเห็นว่าการผลิตยังเหลือกากจากการปั่นหอมแดง คิดว่าทำอย่างไรจะใช้ส่วนที่เหลืออยู่ให้หมด จะได้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงนึกถึงขนมไทย ขนมหม้อแกง ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น ครั้งที่ 2 จึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำสบู่ชุดขนมไทยเป็นของฝากในช่วงปีใหม่และ เพื่อต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ใช้ง่ายขึ้นครั้งที่ 3 จึงถ่ายทอดเทคโนโลยีสบู่เหลวจากรังไหมและหอมแดงเพื่อที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงนวัตกรรมเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต

7. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย

1.ส่งเสริมให้กลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตรเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีการพัฒนาผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การแปรรูปเพื่อจัดจำหน่าย จะได้เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ อย่างแท้จริง และมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ดีของสมาชิกชุมชน และประชาชนทั่วไปให้ตระหนักในความสำคัญของภูมิปัญญาไทย ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงามที่แปรรูปจากสมุนไพรไทย

2. เมื่อผลการวิจัยระบุแล้วว่าหอมแดงไทยพันธุ์เล็กสายพันธุ์ศรีสะเกษนั้นเป็น

หอมแดงที่มีคุณภาพดีที่สุดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรมีการนำผลการวิจัยขยายผลไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในจังหวัดศรีสะเกษสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกหอมแดงจะได้เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแหล่งต้นน้ำช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหอมแดงมีราคาตกต่ำลดต้นทุนในการแปรรูปและเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับหอมแดงไทย

3. ควรมีการทดลอง พัฒนาแต่งกลิ่นให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภค และจะได้สามารถขยายผลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมข้อควรระวัง ไม่ควรนำหอมแดงไปพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบของการสูดดม เพราะหอมแดงนั้นจะมีสารที่มีผลต่อระบบประสาทในเชิงลบหากสูดดม เป็นเวลานาน

อ้างอิง

กนกพรรณแว่นแก้ว. (2559) การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบเหงือกปลาหมอเพื่อสุขภาพความงาม

บ้านบางติบ อำเภอคุระบุรีจังหวัดพังงา.ศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาพัฒนาชุมชน

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ภูเก็ต :มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ.(2557)สินค้าสุขภาพและความงามไทยก้าวไกล

สู่ตลาดโลก.บันทึกเมื่อ 14 สิงหาคม 2557ค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2559

www.ditp.go.th/contents_attach/85741/85741.doc.com

ฐาปวีส์คงสุข. (2545)สมุนไพรให้ความงาม.พิมพ์ครั้งที่ 3กรุงเทพฯ : มิตรภาพ.

ธีรกานต์โพธิ์แก้ว. (2557) Life Springชีวิตติดสปริงคุณค่ามนุษย์ : ศิลป์และศาสตร์ใน

การดำเนินชีวิตกรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ลเอ็ดดูเคชั่น.

เบญจมาศชุมสาย. “ประทินโฉมด้วยสมุนไพรในอดีต,” ขวัญเรือน.25(648) : 45-46 ; ตุลาคม,

2545.

ประพันธ์ภักดีกุลและคณะ.(2549) รูปแบบและปัจจัยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ด้วยศักยภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.กรุงเทพฯ ไอเดียสแควร์.

เพ็ญจันทร์กรุณามัยวงศ์. (2545)การแปรรูปสมุนไพร.กรุงเทพฯ : ตัว น.

รชพรรณฆารพันธ์. (2554)สมุนไพรความงามแนวทางการพัฒนาสมุนไพรพื้นบ้านของ

ชาวผู้ไทยจังหวัดกาฬสินธุ์.ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์.

มหาสารคาม : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด (มหาชน). (2541)พฤติกรรมของผู้หญิงต่อการใช้เครื่องสำอางยุค IMF.

กรุงเทพฯ : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย.

หมายเลขบันทึก: 621324เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2017 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2017 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท