เมืองบางขลัง สุโขทัยใต้ร่มฟ้าจักรี


รอยพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่เมืองบางขลัง สุโขทัย ๒ ครั้งในรอบ ๑๐ ปี

“...แต่เรื่องโบราณสถานนั้น เป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย” พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่ 9 วันที่ 26 ธ.ค.2504

จากพระบรมราโชวาทดังกล่าว เป็นแรงบันดาลใจให้ “เมืองบางขลัง” ชุมชนโบราณเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายอนุรักษ์โบราณสถาน สืบค้นคุณค่าความหมายแห่งก้อนอิฐ ศิลาแลง และร่องรอยแห่งบรรพชน ทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกฟื้น คืนชีวิต คืนจิตวิญญาณ กลับมาสู่การรับรู้ของผู้คนอีกครั้ง ก่อให้เกิดความปลื้มปีติให้แก่ฝองชนชาวสุโขทัย เมื่อประติมากรรมแห่งเมืองบางขลังได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จฯ 2 ครั้ง ในรอบ 10 ปี

เมืองบางขลังสำคัญอย่างไร? ขรรค์ชัย บุนปาน เขียนไว้ใน “ของดีที่มีอยู่” (มติชนสุดสัปดาห์ 13-19 ก.ค.50 ปีที่ 27 หน้า 106 ) สรุปได้ว่า ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก หลักที่ 2 วัดศรีชุม ถึงการรวมทัพหรือชุมนุมพลกันของของพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองที่เมืองบางขลัง, 1 ก.พ.2450 รัชกาลที่ 6 ขณะทรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสเมืองบางขลังตามเส้นทางถนนพระร่วง ปรากฏใน นิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง”, 13 ก.พ.2540 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯ ส่วนพระองค์ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ใน “ขอมละโว้ (จากเมืองลพบุรี) ยกกองทัพ “ดำดิน” ยึดสุโขทัย” (มติชนออนไลน์ เผยแพร่ 27 ส.ค.2559) “...ด้วยกำลังไพร่พลเมืองบางยางและเมืองราดช่วยให้พ่อขุนบางกลางหาวยึดได้เมืองศรีสัชนาลัย และพ่อขุนผาเมืองยึดได้เมืองบางขลัง (หรือบางขลง-บางฉลัง) ที่เป็นเมืองอยู่กึ่งกลางระหว่างศรีสัชนาลัยกับสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวจึงใช้เมืองศรีสัชนาลัยและเมืองบางขลังเป็นฐานกำลังสู้รบกับขอมสบาดโขลญลำพงที่ยังยึดครองอยู่เมืองสุโขทัย แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดต้องร้องขอให้พ่อขุนผาเมืองไปช่วยตีเมืองสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง พ่อขุนผาเมืองก็ต้องเคลื่อนพลเมืองราดไปตีเมืองสุโขทัยแล้วขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงได้สำเร็จ...ต่อจากนั้นจารึกวัดศรีชุมจดว่า “พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหาย เรียกชื่อ ศรีอินทรบดินอินทราทิตย์”...” จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า “เมืองบางขลัง” ยังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 3 จารึกนครชุม, พระธาตุบนดอยสุเทพเอามาจากเมืองบางขลัง, โบราณสถานวัดโบสถ์ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติแล้ว, มีโบราณวัตถุ เช่น พระเครื่องที่ถือกันว่าขลังและศักดิ์สิทธิ์ เตาเผา ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกมนุษย์, มีแหล่งตัดศิลาแลง ฯลฯ

กระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ประวัติศาสตร์ “เมืองบางขลัง” ได้ถูกตีพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการเล่มแรกโดยสำนักพิมพ์มติชน เป็นเอกสารการเสวนาประวัติศาสตร์เมืองบางขลังโดยชมรมเรารักเมืองพระร่วง เมื่อ 2-3 เม.ย. 2539 จากหนังสือเล่มนี้สรุปได้ว่า “เมืองบางขลังในอดีตนั้นมีอยู่จริง มีความสำคัญ และอยู่ที่นี่... กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้โดยเทศบาลตำบลเมืองบางขลัง เช่น จัดเสวนาประวัติศาสตร์, จัดพิมพ์หนังสือ ที่นี่...เมืองบางขลัง 1-6, หนังสือประวัติศาสตร์ฉบับการ์ตูน, จัดทำระบำเทววารีศรีเมืองบางขลัง (ระบำโบราณคดีลำดับที่ 3 ของสุโขทัย), การแสดงแสง เสียง ที่นักแสดงส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เม.ย. ทุกปี, วีดีทัศน์ประวัติศาสตร์, เพลงลูกทุ่งและคาราโอเกะ ฯลฯ มีการวิจัย “เมืองบางขลัง” ในระดับ ป.โท ป.เอก หลายท่าน

เมืองบางขลัง : ประกาศนามทุนท้องถิ่น จากการร่วมแรง ร่วมใจสืบค้นอัตลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลังอย่างต่อเนื่องของเครือข่าย ภายใต้ปณิธานที่ว่า “เราจะสร้างพรุ่งนี้ด้วยกัน” ทำให้ได้รับงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิจัยเรื่อง “การศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลังเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และ อบต.เมืองบางขลัง จ.สุโขทัย” ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ, กมลรัตน์ บุญอาจ นฤตย์ เสกธีระ (แท็งก์ความคิด มติชน 3 พ.ย.2556 หน้า 13) ได้เขียนไว้ว่า “...ไปดูเครือข่ายของคนเมืองบางขลังที่เข้าไปดูแลรักษา “ขุมสมบัติ” ของเมือง ซึ่งมีคุณค่าระดับโลก...ทุกคนร่วมกันขัดถูให้โลกได้เห็น “คุณค่า” ของเมืองบางขลัง ด้วยการแบ่งทีมวิจัยโดยมีชาวบ้านเป็นกำลังสำคัญในการวิจัย... การวิจัยที่ทำให้คนเมืองบางขลังรู้จักโบราณสถานรอบบ้าน ซึมซับคุณค่าและเกิดเป็นความรักและหวงแหน วันนี้ “คนเมืองบางขลัง” กับ “โบราณสถาน” เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องพึ่งพากันและกัน “คน” ต้องพึ่ง “โบราณสถาน” และ “โบราณสถาน” ต้องพึ่ง “คน” นี่คือความรู้สึกที่สัมผัสได้จากการเยือนเมืองบางขลังในครั้งนี้” สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้ทำการวิจัยเพิ่มเติม “การสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมโดยเครือข่ายชุมชนโบราณเมืองบางขลัง 9 หมู่บ้าน” ผลการศึกษา ทีมวิจัยได้จัดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใน 9 เส้นทาง 1-3 เม.ย.2557อ.สยาม เจริญอินทร์พรหม (ม.กรุงเทพธนบุรี) ถ่ายทำหนังสั้น “วิทยานิพนธ์เมืองบางขลัง” ออกเผยแพร่ สนับสนุนงบประมาณโดยสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็น 1 จาก 4 แห่งที่ได้รับการคัดเลือก ปัจจุบันได้รับงบประมาณจาก สกว. วิจัย “การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวมรดกวัฒนธรรมเมืองบางขลัง” ดูแลโดย ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ วิริยะสุมน ม.ราชภัฎพิบูลสงคราม โดยมีผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการ

พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 พ่อขุน แห่งแรกในประเทศไทย จากข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏ ภายใต้การสนับสนุนช่วยเหลือจาก นายวีระชัย ภู่เพียงใจ (ปัจจุบันผู้ว่าฯ จ.ลำพูน) ทำให้คณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติฯ กรมศิลปากร มีมติอนุญาตให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมืองประดิษฐานคู่กันเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ทต.เมืองบางขลัง ร่วมกับ จังหวัดสุโขทัย กองทัพภาคที่ 3 และ อบจ.สุโขทัย อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ เทศบาลตำบลเมืองบางขลัง เมื่อ 19-20 พ.ย. 2558 อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ โดยพราหมณ์ชื่อดัง ทศพล เรืองบุณย์ เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด มีดวงกลมแดง 2 ดวง เป็นที่น่าอัศจรรย์ พราหมณ์ ทศพล เรืองบุณย์ อธิบายว่าเป็นดวงจิตของ 2 พระองค์ท่านมาประทับยังพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้

รอยพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ การเสด็จฯ ทั้ง 2 ครั้งนั้น นายแพทย์ปราเสริฐ-อ.วัลลีย์ ปราสาททองโอสถ แห่งบางกอกแอร์เวย์ส เป็นผู้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ สร้างปรากฏการณ์การอันทรงคุณค่า และหาที่สุดมิได้แต่ชาวสุโขทัย 29 มิ.ย.2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ศึกษาร่องรอยอารยธรรมเมืองบางขลัง ณ โบราณสถานวัดโบสถ์ ได้รับสั่ง สุวิทย์ ทองสงค์ นายก อบต. (ในขณะนั้น) “...ช่วยดูแลเด็ก เยาวชน และชาวบ้าน ให้เขาเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้มีความรัก ตระหนัก รักหวงแหนในโบราณสถานที่มี และโบราณสถานแห่งนี้ควรได้รับการบูรณะ อนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ” ขรรค์ชัย บุนปาน เขียนไว้ใน “ของดีที่มีอยู่” (อ้างแล้ว) “...ไม่ปรากฏความเอาใจใส่ในบางยุคบางคราวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาโดยรวมทีใด สุโขทัยกับศรีสัชนาลัยอยู่ในงบประมาณทุกที ไม่มีเมืองบางขลัง ไม่มีจนเกือบมองไม่เห็นในปัจจุบัน...ถ้าศึกษาเมืองบางขลัง สุโขทัย ศรีสัชนาลัยเป็นตัวตั้งพร้อมกัน ศูนย์สุโขทัยวิทยา ก็อาจงามในชีวิตจริง ประจักษ์ตาชาวโลก...สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ สุโขทัยเที่ยวนี้ รับสั่งพอได้ยินทั่วกันว่า จะเสด็จฯ สุโขทัยอีก ” 25 ต.ค.2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ณ เทศบาลตำบลเมืองบางขลัง ในการนี้ทรงปลูกต้นจำปาขาว ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พ่อขุนบางกลางหาวเสี่ยงทายว่า ถ้ายึดสุโขทัยคืนมาได้ขอให้ต้นจำปาซึ่งปกติมีดอกสีเหลืองให้ออกดอกเป็นสีขาว ปรากฏว่าต้นจำปาออกดอกเป็นสีขาวตามคำเสี่ยงทาย เกิดปรากฏการณ์เป็นที่น่าอัศจรรย์ 2 เหตุการณ์ ได้แก่ ก่อนทำพิธีบวงสรวงในช่วงเช้าท้องฟ้ามืดครึ้ม มีลมพัด ฝนตกปรอยๆ แต่เมื่อใกล้เวลาทำพิธีบวงสรวงฝนได้หยุดตก อากาศเย็นสบาย เมื่อเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงไปแล้วประมาณ 10 นาทีฝนก็ได้กระหน่ำลงมาอย่างหนัก ฝนที่ตกลงมาในช่วงเช้าหยุดตกในช่วงบ่าย ก่อนเวลาเสด็จฯ ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศโปร่งเย็นสบาย ไม่ร้อน แต่เมื่อพระองค์ท่านได้เสด็จฯ ออกจากพื้นที่เมืองบางขลัง ประมาณ 20 นาที ฝนก็ได้ตกลงมาอย่างหนักอีกครั้ง สุโขทัย ไม่ใช่มีแค่เมืองเก่าสุโขทัย เมืองเก่าศรีสัชนาลัยเพียงเท่านั้น แต่ยังมี เมืองบางขลัง ที่รอให้ท่านได้ไปท่องเที่ยงสัมผัสร่องรอยอารยธรรมชุมชนโบราณแห่งนี้ เพื่อร่วมกันเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ประเทศไทยสืบไป.


หมายเลขบันทึก: 620821เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2016 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2016 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท