เสียดายที่มีศาสนา


ขอแบ่งศาสนาออกเป็น ๓ แบบ คือ (๑) ศาสนาในฐานะความจริง เฉกเช่นเดียวกับกฎธรรมชาติอย่าง H2O ศาสนาแบบนี้ในมุมมองของผู้ยังเข้าไม่ถึง อาจเป็นเพียงจินตนาการ มโนภาพ และไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่สำหรับผู้เข้าถึงแล้ว จะเป็นความเป็นจริงที่เข้าถึงได้ ศาสนาในฐานะความจริงมีลักษณะมั่นคง อมตะ จะมีมนุษย์หรือไม่มี ศาสนาในฐานะความจริงเป็นความมีอยู่ (๒) ศาสนาในฐานะความจริงที่ได้รับการค้นพบ โดยมนุษย์เป็นผู้ค้นพบความจริงทางศาสนา ความจริงดังกล่าวสัมพันธ์กับมนุษย์และเป็นเดียวกันกับมนุษย์ (๓) ศาสนาในฐานะหีบห่อ/ชุดความรู้ จะเป็นรายละเอียด/เนื้อหาของศาสนาแต่ไม่ใช่สภาวะทางศาสนา อาจจะเป็นเพียงศาสนาเสื้อผ้า แต่ไม่ใช่ตัวตนที่อยู่ภายใต้เสื้อผ้า

ศาสนาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้มนุษย์ในโลกได้เรียนรู้ เป็นศาสนาเพื่อการแก้ปัญหา/บรรเทาทุกข์ยากของมนุษย์โลก แต่ปัญหาคือมนุษย์จำนวนมากไม่อาจจะหมดทุกข์ลงได้ มิหนำซ้ำ ยังอ้างอิงศาสนาเพื่อเพิ่มปัญหาระหว่างมนุษย์ด้วยกัน จึงทำให้เห็นว่า ยิ่งห่างไกลจากศาสนาที่แท้จริงหรือไม่

ศาสนาที่แท้จริงอยู่ต่างหากจากบุคคล แต่สามารถเป็นอันเดียวกันกับบุคคลได้ หากบุคคลเข้าถึงศาสนาที่แท้จริง ในการเข้าถึงศาสนาที่แท้จริงจะไม่มีข้อถกเถียงทางศาสนาอย่างศาสนาในฐานะหีบห่อ

ในกลุ่มไลน์ มีการถกเถียงกันระหว่างผู้มีหีบห่อทางศาสนาต่างแบบกัน ฝ่ายหนึ่งยกเอาสื่อภาพนักบวชในหีบห่อหนึ่งกำลังถือมีด อีกภาพหนึ่งเป็นเด็กทารกถูกตัดคอ ผู้หญิงผูกคอตาย อาคารทางศาสนาถูกเผา ฯลฯ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ภาพเหล่านี้คืออันเดียวกัน เราไม่เห็นนักบวชผู้กำลังเชือดคอเด็ก แต่ภาพสองภาพเชื่อมโยงเป็นอันเดียวกันสำหรับผู้เสพภาพที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ในงานทางจิตวิทยา เป็นการเชื่อมโยงของความคิดที่จะให้ภาพนั้นสมบูรณ์ ผู้เสพภาพหากไม่อาจแยะแยะได้ก็จะคิดว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ทั้งที่ การที่นักบวชถือมีดอาจอยู่ต่างเวลาและสถานที่กับเด็กที่ศีรษะหายไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนี้เป็นการนำเอาภาพที่มีผู้ผลิตภาพขึ้นมา มาเสนออีกคราวหนึ่ง ไม่ใช่ผู้สร้างภาพเอง อีกฝ่ายหนึ่งยกเอาถ้ำอชันตา ในอินเดีย อันเป็นมรกดกที่มนุษย์สร้างขึ้นมา โดยฝ่ายนี้เดินทางไปดูสถานที่จริง เกิดความรู้สึกสะท้อนใจว่า บุคคลต่างศาสนาเป็นผู้ทำลาย

น่าเสียดาย ที่ทั้งหมดยอมรับว่าตนมีศาสนา แต่ต้องมาแบ่งแยก หมางกันเพราะสิ่งภายนอก ทั้งสองคนเกิดในประเทศไทย ในพื้นที่และบริบทที่ต่างกัน ศาสนาหนึ่งเกิดในตะวันออกกลาง อีกศาสนาเกิดในอินเดีย สองสายธารศาสนามาปะทะกันในประเทศไทย แท้จริง เขาน่าจะคิดศาสนาได้ด้วยตนเอง มากกว่าไปเอาสิ่งภายนอกมาปะทะกันให้เกิดความแตกแยกระหว่างกัน นอกจากนั้น ผู้มีศาสนายังเป็นเหยื่อของสื่อ ซึ่งผู้กระทำสื่ออาจจะไม่เคยเห็นค่าแห่งศาสนาก็ได้ การมีศาสนาแบบนี้น่าจะเป็นเพียงในฐานะหีบห่อกระมัง

หมายเลขบันทึก: 620817เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2016 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2016 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นานาจิตตัง..นะเจ้าคะ...

เปลือก กระพี้ เข้าถึงได้แตกต่างกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท