คลายอารมณ์กับ “บ่อน้ำเขียว” แหล่งพักผ่อนขึ้นชื่อจะนะ ฟื้นตำนานเหมืองแร่ลิวงศ์ธุรกิจหลักตระกูลจิรนครผู้สร้างเมืองหาดใหญ่


องแร่การบุกเบิกและพัฒนาสถานท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักของนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ปักษ์นี้กองบรรณาธิการสรุปว่าเราจะไปทำความรู้จักกับ สวนสาธารณะ กพร. หรืออดีต เหมืองแร่ลิวงศ์ ที่หมู่บ้านลิวงศ์ ตำบลท่าหมอไทร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ่อน้ำเขียว” อันเป็นเหมืองแร่เก่าในเขตความรับผิดชอบของส.อบจ. ร่อเหตุ รักหมัด เลขานายกอบจ. และ สอบจ. รับผิดชอบเขตอำเภอจะนะกัน

เมื่อได้เป้าหมายทีมงานก็นัดท่านเลขาร่อเหตุ ทันที ท่านเลขาก็ใจดีพร้อมพาทีมงานลงไปดูสถานที่

สายๆ วันที่ 14 ธันวาคม สถานที่นัดหมายคือบ้านท่าหมอไทร เมื่อทีมงานเจอกับไกด์นำทางก็หาข้อมูลกันหน่อย

เลขาร่อเหตุ เล่าให้ฟังว่าบ่อน้ำเขียว เป็นสถานที่พักผ่อนของคนในชุมชน ซึ่งจังหวัดสงขลากำลังวางแผนที่จะพัฒนาให้สวนสาธารณะแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่นี้

เมื่อเราเข้าไปถึงสถานที่เราก็พบว่าสถานที่มีการปรับปรุงไปมากพอสมควร มีม้านั่ง สวนหย่อม และมีการปลูกต้นไม้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.อ.จะนะ

เนื้อที่ซึ่งมีอาณาเขตกว้างหลายร้อยไร่มีบ่อน้ำที่เป็นผลมาจากการขุดเหมืองแร่เก่า ร่วม 10 บ่อ เช่นบ่อเหมืองลิวงศ์ ที่ใหญ่มากๆพื้นที่ร่วม 100 ไร่ นอกจากนี้ก็มีบ่อเหมืองชุลี บ่อเหมืองขี้ฆ้อ และอื่นๆซึ่งขนาดไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

เรามาถึงบ่อเหมือลลิงส์ หรือที่ชาวบ้านเรีกว่าบ่อน้ำเขียวแล้ว สายลมพัดอ่อนๆ เย็นๆ ไม่ร้อนมากนัก อากาศกำลังสบายๆ เรารู้สึกผ่อนคลาย สายน้ำที่ถูกลมพัด ผิวน้ำเกิดเป็นคลื่นน้อยๆขยับไหลไปตามกระแสลม มองออกไปน้ำสีเขียวกว้างใหญ่ ทำให้จินตนาการไปว่าจะลึกขนาดไหน

เราหันไปจะถาม ท่านเลขาร่อเหตุเหมือนจะเดาใจเราออกน่าจะลึก 60-70 เมตร พร้อมเล่าต่อว่าเมื่อก่อนมีคนงานเหมืองแร่ลงไปขุดแร่ และใช้วิธีฉีดน้ำ ในหลุมหนึ่งๆ ก็มีคนงานจำนวนมาก เหมืองแร่ที่นี่ใช้รางรถไฟ และใช้ระบบฉีด ส่วนใหญ่ก็เป็นคนทางภาคอีสานที่มาทำงานที่เหมืองแห่งนี้ แต่สมัยเมื่อ 50 ปีก่อน การเข้าออกนั้นลำบาก เข้า-ออกได้เฉพาะทางนาทวี

ถัดจากบ่อน้ำเขียวแล้ว ก็มีอีกหลายบ่อ นายสุพจน์ ใจบุญ ส.อบต.ท่าหมอไทร ให้ข้อมูลกับเราว่าปัจจุบันบ่อน้ำเหล่านี้กลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญในช่วงหน้าแล้งที่ทางอำเภอต้องมาขนน้ำจากที่นี่ไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในเขตอำเภอจะนะ

และทางอบต.ท่าหมอไทรได้พัฒนาสวนสาธารณะกพร. แห่งนี้ ให้กลายเป็นสวนหย่อมที่พักผ่อนหย่อนใจ ชมนก ตกปลา ของพี่น้องประชาชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมทรัพยากรธรณีจำนวน 400,000 บาท และวางแผนที่จะพัฒนาให้มีสนามกีฬา หอประชุม ตลอดจนได้สร้างอาคารเอนกประสงค์ซึ่งปัจจุบันทางตำรวจมาขอใช้สถานที่ แต่ก็วางแผนที่จะพัฒนาต่อเพื่อให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา

เลขาร่อเหตุย้อนอดีตในอดีตเหมืองแร่เป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูมาก เจ้าของเหมืองแร่แห่งนี้คือขุนนิพัทธ์ ผู้สร้างเมืองหาดใหญ่ ทำให้ผู้เขียนหูผึ่งขึ้นมาทันที ด้วยความสนใจ...!!!

เลขาร่อเหตุ เล่าต่อว่าในอดีตชาวบ้านที่นี้ส่วนใหญ่ก็จะหารายได้จากเมืองแร่ เมื่อเหมืองระเบิดหินชาวบ้านก็จะไปขอเก็บขี้เหล็ก หรือขี้ตอก ซึ่งจะเป็นแร่ที่ทางเหมืองขุดแล้วกระจัดกระจาย ก็ไปขอเก็บ ตัวแร่จะอยู่ระหว่างดิน ขายกิโลกรัมหนึ่ง 140-200 บาท เป็นการเกื้อหนุนกันระหว่างเหมืองแร่กับชาวบ้าน

แต่เมื่อถึงยุคหนึ่งที่แร่ราคาถูกและมีเหตุการไม่คาดฝันทำให้เหมืองแร่ที่นี่ล่มสลายลง...!!!

บ่อที่เคยเป็นเหมืองแร่มีน้ำเต็ม ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการหาปลา และสัตว์น้ำ

ด้วยความอยากรู้ความเป็นมาของเหมืองแร่แห่งเรามาค้นหาข้อมูล พบว่ามีประวัติการทำเหมืองแร่ ณ ที่ต.ท่าหมอไทร แห่งนี้น่าสนใจ

'เจียกีซี' แห่ง ตระกูลจิระนคร ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนวางรากฐานสาธารณูปโภคของเมืองหาดใหญ่ " เขาคือเจ้าของเมืองแร่ลิวงศ์แห่งนี้

"นายเจียกีซี" หรือที่รู้จักในนาม ขุนนิพัทธ์จีนนคร ต้นตระกูล "จิระนคร"

ประวัติของบุคคลสำคัญท่านนี้มีบางส่วนบ้างตอนระบุว่า

หลังจาก "ขุนนิพัทธ์" ถึงแก่กรรม ผู้ที่เข้ามาสืบทอดกิจการของผู้เป็นพ่อคือ "กิตติ จิระนคร" บุตรชายคนสุดท้อง ซึ่งเป็นคนเดียวที่ติดตามบิดาไปทุกแห่งหน จนสามารถซึมซับเอาวิชาความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมารับช่วงต่อกิจการ เพื่อไม่ให้สิ่งสร้างไว้ต้องหยุดชะงัก

โดย "กิตติ จิระนคร" บุตรชายคนเดียวของบ้านที่สนใจในกิจการของ "ขุนนิพัทธ์" มาตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งในเรื่องการค้าขายกับประเทศมาเลเซียในอดีต รวมถึงกิจการเหมืองแร่ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้สำคัญของครอบครัว โดยแหล่งแร่ที่สำคัญ 2 แห่งที่ "เจียกีซี" บุกเบิก คือที่ตำบลท่าหมอไทร อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และตำบลท่าช้าง อำเภอหาดใหญ่

เนื่องจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของจังหวัดสงขลา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งแร่ชั้นดีทั้งดีบุก และวุลแฟรม การบุกเบิกธุรกิจเหมืองแร่จนสามารถก่อตั้ง บริษัทนิพัทธ์และบุตร จำกัด เพื่อทำการขุดแร่ในตำบลท่าหมอไทร และตำบลท่าช้าง ก่อนขยายไปยังอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา อีก 2 แห่ง และรุกข้ามไปยังจังหวัดยะลาอีก 9 จุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทขุนนิพัทธ์ และบุตร จำกัด จะได้รับการยอมรับอย่างสูงในแวดวงธุรกิจประเภทนี้

" ปี 2528 ธุรกิจเหมืองแร่ของตระกูลจิระนครต้องเผชิญจุดพลิกผันครั้งสำคัญ เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกกิจการเหมืองแร่ทั้งหมด ถือเป็นการยุติธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุดของครอบครัว สมาชิกต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพที่ถนัด "

และนี่คงจะเป็นจุดจบของเหมืองแร่ลิวงศ์... ที่วันนี้พื้นที่ดังกล่าวกลายปอด เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของชุมชนที่นี่

หมายเลขบันทึก: 620299เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2016 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2016 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท