​ผลจากการทดสอบ PISA: ต้องพัฒนาการสอนอ่านอย่างไรบ้าง


ผลจากการทดสอบ PISA: ต้องพัฒนาการสอนอ่านอย่างไรบ้าง

เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.


หลายประเทศให้ความสำคัญในการพัฒนาประชากรให้เป็นผู้ที่รู้หนังสือ คำว่ารู้หนังสือนี้ มาจาก “literacy” แต่เดิมมีขอบเขตเพียงอ่านออกเขียนได้ (และยังรวมถึงการคำนวณเลขแบบง่าย ๆ ได้) คือ สามารถอ่านเขียนข้อความง่าย ๆ เพื่อให้ดำรงชีพ และเพียงพอประกอบการงานได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ในการทำกิจการต่าง ๆ มีข้อมูลความรู้ต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยโดยมาก ทำให้การอ่านออกหรือการรู้เรื่องที่อ่านแต่เพียงคร่าว ๆ อาจจะไม่เพียงพอต่อไป จำเป็นจะต้องอาศัยทักษะการอ่าน หรือการสร้างความเข้าใจในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้น ในการทดสอบความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ดังเช่นการทดสอบ PISA จึงมุ่งเน้นการค้นหาศักยภาพดังกล่าว
อันจะทำให้ได้ข้อมูลสำหรับทำนายเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนในอนาคต






การทดสอบ PISA มาเกี่ยวข้องการกับการสอนภาษาไทย เนื่องจากมีการทดสอบศักยภาพของนักเรียนในด้าน “การรู้การอ่าน” (reading literacy) คำนี้ มีความแตกต่างจากการอ่าน (reading) เพราะมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่อ่านและวิธีการอ่าน ประการแรก สิ่งที่อ่านนั้น จะมีความเป็น literacy เมื่อเป็นข้อความที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เช่น ข่าวจากหนังสือพิมพ์ บทความในคอลัมน์วารสาร ฉลากยา ฉลากสินค้า ข้อความในแผ่นปลิว แผนภาพ แผนผัง หรือรายละเอียดของสินค้าและบริการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นไปที่การอ่านใน 4 ลักษณะ คือ อ่านแล้วสามารถระบุตำแหน่งของข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องทราบในสิ่งที่อ่านได้ อ่านแล้วสามารถสามารถสร้างข้อสรุปจากสิ่งที่อ่านได้ อ่านแล้วสามารถตีความและผสมผสานกับประสบการณ์ของตนเองได้ และอ่านแล้วสามารถประเมินและวิจารณ์ด้วยหลักเหตุผลได้ ความสามารถต่าง ๆ เหล่านี้ ประมวลมาเป็นศักยภาพที่ควรเกิดขึ้นในการอ่าน ซึ่งครูสามารถนำมากำหนดเป็นเป้าหมายและกลยุทธ์ในการจัดการเรียนการสอนการอ่านได้ด้วยในขณะเดียวกัน ดังนั้น ในการสอนภาษาไทย จึงต้องเริ่มจากการกำหนดกรอบแนวทางของการสอนอ่าน ดังมีรายละเอียดดังนี้

ประการแรก ในการสอนอ่านต้องเน้นให้นักเรียนจดจำ และระบุข้อมูลหรือรายละเอียดต่าง ๆ
ในสิ่งที่อ่านให้ได้ ความสามารถในการอ่านระดับนี้ ถือว่าเป็นการอ่านระดับพื้นฐาน มิได้เน้นไปที่การทำความเข้าใจหรือตีความเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการจดจำถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่เป็นสาระสำคัญ หรือเป็นข้อมูลที่จะต้องนำไปใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยนักเรียนจะต้องทราบว่า ข้อมูลที่จะนำไปใช้นั้น มีเขียนไว้ ณ ตำแหน่งใดในสิ่งที่อ่าน ซึ่งอาจจำแนกออกมาเป็นความสามารถย่อย ได้แก่ สามารถระบุหรือบอกว่าข้อมูลที่ต้องการคืออะไร อยู่ตรงไหนในสิ่งที่อ่าน สามารถระบุความหมายของคำ กลุ่มคำหรือประโยคที่ปรากฏได้ สามารถค้นหาประเด็นเฉพาะหรือข้อมูลอันเป็นรายละเอียดเฉพาะบางอย่างในสิ่งที่อ่านได้ และสามารถค้นหาประเด็นสำคัญ หรือประเด็นที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยได้ (Mullis & Martin, 2015) ครูภาษาไทยสามารถจัดการเรียนการสอนการอ่านที่พัฒนาความสามารถในการอ่านนี้ได้จากการให้นักเรียนระบุหรือค้นหาข้อมูลในสิ่งที่อ่าน และสอนให้นักเรียนใช้กลวิธีการต่าง ๆ สำหรับจดจำข้อมูล
โดยนักเรียนจะต้องสามารถอ่านและจดจำข้อมูลที่สำคัญได้อย่างแม่นยำ หรือสามารถที่จะค้นหาข้อมูลที่ต้องการจากสิ่งที่อ่านได้อย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อให้นักเรียนอ่านประกาศรับสมัครงาน แล้วสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับเงื่อนไขหรือสิ่งที่ทางผู้รับสมัครต้องการว่ามีอะไรบ้าง นักเรียนสามารถระบุเงื่อนไขที่บังคับได้ หรือให้นักเรียนอ่านวรรณคดี แล้วให้นักเรียนระบุว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างไร เมื่อใด เรียงลำดับอย่างไร แล้วนักเรียนสามารถบอกได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ในการคัดเลือกและพิจารณาว่าสิ่งที่นักเรียนควรรู้หรือทราบในข้อมูลที่อ่านมีอะไรบ้าง จะต้องเกิดจากกที่ครูวิเคราะห์เนื้อหาและแยกแยกส่วนที่เป็นประเด็นหรือข้อมูลสำคัญของสิ่งที่อ่าน เพื่อให้นักเรียนรู้จักพิจารณาและสังเกตสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของ
สิ่งที่อ่านได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

ประการที่สอง ครูต้องจัดการสอนอ่านโดยให้นักเรียนสร้างความหมายจากสิ่งที่อ่าน ด้วยการให้นักเรียนสร้างข้อสรุปบางประการขึ้นจากข้อมูลที่อ่าน ซึ่งข้อสรุปนั้น เป็นสิ่งที่มิได้กล่าวถึงในบทอ่านโดยตรง กระบวนการสร้างดังกล่าวเรียกว่า การอนุมาน หรือการสร้างข้อสรุปเชิงอุปนัย (inference) คำนี้เป็นคำในเชิงการใช้เหตุผล เชื่อมโยงสิ่งที่อ่านซึ่งปรากฏแก่สายตา ไปสู่ประเด็นเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นไปได้ หรือมีความน่าจะเป็นว่าเป็นไปได้ กระบวนการดังกล่าวนี้ นักเรียนจะต้องอ่านคำหรือข้อความแล้วคิดหาความหมาย โดยการเชื่อมโยงระหว่างคำ ข้อความ และความคิดหรือประสบการณ์ของตน เพื่อหาความหมายในระดับที่ลงลึกว่าที่ปรากฏ ซึ่งความหมายดังกล่าว อาจเป็นความหมายที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของนักเรียน หรือเป็นความหมายที่ปรากฏในระดับสากล ซึ่งผู้เขียนอาจจะซ่อนหรือแสดงไว้ แต่จะต้องอาศัยการอ่านที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น ครูภาษาไทยสามารถนำเรื่องการอนุมานมากำหนดผลการเรียนรู้ในการอ่านได้ ตัวอย่างเช่น นักเรียนสามารถอนุมานหรือสรุปเชื่อมโยงจากเหตุการณ์หรือเนื้อหาที่ปรากฏไปสู่ประเด็นหรือเรื่องราวอื่น ๆ ได้ สามารถสร้างข้อสรุปในเชิงเหตุผลจากข้อมูลหรือสาระสำคัญต่าง ๆ ที่ปรากฏได้ สามารถที่จะวางนัยสำคัญ (generalization) หรือสร้างหลักการโดยทั่วไป จากข้อมูลที่อ่านได้ และอธิบายความเชื่อมโยงจากข้อสนับสนุนไปสู่ข้อสรุปได้ (Mullis & Martin, 2015) ในการสอนภาษาไทย ครูจึงต้องฝึกให้นักเรียนสร้างข้อสรุป หรือพิจารณาข้อมูลว่า จากสิ่งที่อ่านสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นต่าง ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงโดยตรงในบทความหรือเรื่องที่อ่านได้อย่างบ้าง ทั้งนี้
ครูจะต้องให้ความสำคัญว่า หลักสำคัญของการอนุมาน คือ การคิดในเชิงเหตุผล ข้อสรุปที่สร้างขึ้นจาก
การอนุมานต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ได้เกิดจากความคิดหรือจินตนาการโดยไร้เหตุผล

ประการที่สาม การอ่านจะมีประสิทธิภาพเมื่อนักเรียนสามารถที่จะตีความและผสมผสานความคิดกับข้อมูลที่อ่านเพื่อสร้างความเข้าใจในระดับที่กว้างขึ้นได้ คำว่าตีความและผสมผสานนี้ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “interpret” และ “integrate” ตามลำดับ กระบวนการสำคัญของการตีความประกอบด้วย การรับรู้ความหมายตามตัวอักษรหรือถ้อยคำ และเชื่อมโยงความหมายนั้นกับประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันเกิดจากผสมผสานทั้งข้อมูลจากความหมายตรงตรงและความหมายอื่น ๆ อันเนื่องมาจากประสบการณ์ หรือเกิดจากมุมมองอันเนื่องมาจากเกณฑ์มาตรฐานบางอย่างที่แต่ละคนสร้างขึ้น ส่งผลให้การตีความต่าง ๆ มีลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์หรือมุมมองที่ใช้ด้วย ความสามารถในการตีความและผสมผสานสิ่งที่อ่านกับประสบการณ์ของตนเองนี้ สะท้อนได้จากการที่นักเรียนสามารถแยกแยกข้อมูลและหาสิ่งที่เป็นแนวคิดสำคัญ (theme) ของสิ่งที่อ่านได้ สามารถเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของประเด็นต่าง ๆ ในข้อมูลได้ สามารถบอกหรือระบุอารมณ์หรือความรู้สึกของทั้งตัวละคร เหตุการณ์ หรือของผู้เขียนได้ และสามารถที่จะตีความเพื่อนำสิ่งที่จะนำไปใช้หรือเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตจริงได้ (Mullis & Martin, 2015) ตัวอย่างของการจัดการเรียนการสอนการอ่าน ที่เน้นการตีความและการผสมผสานกับประสบการณ์ คือ การให้นักเรียนอ่านแล้วหาแนวคิดสำคัญของสิ่งที่อ่าน ให้นักเรียนเปรียบเทียบตัวละครหรือเหตุการณ์ เพื่อหาความหมายหรือประเด็นที่แท้จริงที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ ให้นักเรียนพิจารณาพฤติกรรมของตัวละคร หรือการดำเนินเรื่อง เพื่อหาแนวคิดหรือความหมายอันเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ อย่างไรก็ตาม การตีความต้องอาศัยประสบการณ์และพื้นความรู้เดิมของผู้อ่านเป็นพื้นฐาน ดังนั้น
การตีความจึงอาจไม่สำคัญในเรื่องของความถูกผิด แต่สำคัญที่เหตุผลหรือหลักเกณฑ์ที่นักเรียนนำมาใช้ในการตีความ ซึ่งก็อาจที่จะแตกต่างกันได้

ประการสุดท้าย ควรส่งเสริมการการสอนอ่านที่ให้นักเรียนประเมินและแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่อ่านในระดับของการวิจารณ์ การประเมินหรือการวิจารณ์ คือ การใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ อ่านเรื่องต่าง ๆ อย่างวิเคราะห์ แล้วสร้างข้อสรุปหรือตีความไปในประเด็นต่าง ๆ จากนั้นจึงนำผลของการอ่านเหล่านั้นมาตัดสินหรือประเมินว่า ประเด็นหรือแนวคิดสำคัญที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ได้อย่างไรบ้าง เรียกว่าอ่านแล้วสามารถบอกได้ว่า ตรงนี้จริง ไม่จริง หรือเป็นข้อเสนอที่หนักแน่น ไม่หนักแน่นอย่างไร อะไรคือจุดแข็งหรือจุดอ่อนของการนำเสนอสารในข้อความที่อ่าน แล้วที่สุดแล้วก็คือ ควรที่จะเชื่อถือตามหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถประเมินและวิจารณ์สิ่งที่อ่านได้ คือ หลักเกณฑ์ หรือตัวที่จะใช้เป็นเครื่องมือสำคัญตัดสินหรือวิพากษ์สิ่งที่อ่าน ซึ่งครูภาษาไทยจะต้องสร้างขึ้นในตัวของนักเรียนเสียก่อน ซึ่งหลักเกณฑ์นั้น เป็นองค์ความรู้ ที่จะต้องประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบของงานเขียน และความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่เขียน และความรู้เกี่ยวกับกลวิธีการเขียน ความรู้ทั้งสามประการนี้สัมพันธ์กัน กล่าวถือ จะใช้ในการวิจารณ์กันและกันได้ เช่น วิจารณ์ได้ว่า เลือกวิธีการเขียนที่เหมาะกับเนื้อหาหรือไม่ จัดรูปแบบได้เหมาะกับเนื้อหาหรือไม่ หรือใช้วิธีหรือเทคนิคการเขียน ที่เหมาะสมกับรูปแบบหรือไม่ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่า นักเรียนจะสามารถประเมินและวิจารณ์สิ่งที่อ่านได้ จะต้องมีการให้ความรู้เหล่านี้ ซึ่งนักเรียนจำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินในรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ ในการประเมินว่านักเรียนสามารถที่จะตัดสินคุณค่าของสิ่งที่อ่านได้หรือไม่อย่างไรนั้น สามารถพิจารณาได้จากความสามารถ อันประกอบด้วย นักเรียนสามารถที่จะบอกได้ถึงความสมบูรณ์ของการนำเสนอข้อมูล หรือประเด็นอันเป็นแนวคิดสำคัญได้ว่า หนักแน่น ชัดเจน หรือมีข้อสนับสนุนเพียงพอ ชัดเจนแล้วหรือไม่ สามารถที่จะบอกได้ว่า เนื้อหา รูปแบบและกลวิธีการเขียน มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ และช่วยให้เกิดการนำเสนอแนวคิดที่ชัดเจนหรือไม่อย่างไร สามารถที่จะสามารถที่จะถึงลักษณะทางภาษา เช่น การใช้ภาพพจน์ สัญลักษณ์หรือการเปรียบเทียบต่าง ๆ ที่ไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงความคิดโดยตรง สามารถบอกถึงมุมมองความคิด หรือประเด็นที่ผู้เขียนนำเสนอได้ว่า สมเหตุสมผล หรือมีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร เป็นต้น (Mullis & Martin, 2015) ซึ่งในการเรียนการสอนอ่าน กิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนวิจารณ์หรือประเมินสิ่งที่อ่าน ควรที่จะเริ่มต้นจากการให้หลักเกณฑ์ในการประเมิน และการแบ่งประเด็นการประเมินออกมาให้ชัดเจนเพื่อให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นไปทีละประเด็น เช่น การประเมินแนวคิด การประเมินรูปแบบ การประเมินกลวิธีการเขียน การประเมินเนื้อหา ความชัดเจน ความสมเหตุสมผล เป็นต้น

คุณภาพของการอ่านของประชากรเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญของคุณภาพประชากร กระบวนการในการพัฒนาคุณภาพของการอ่านจึงต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนอ่าน โดยจัดการเรียนการสอนอ่านอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประกอบด้วยการกระตุ้นหรือทบทวนประสบการณ์เดิมก่อนการอ่าน การให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์และประเมินสิ่งที่อ่าน การควบคุมความเข้าใจในการอ่าน ด้วยการให้หาสาระสำคัญ อนุมานไปสู่ประเด็นต่าง ๆ ตีความและผสมผสานความรู้ความเข้าใจในการอ่าน และประเมินสิ่งที่อ่านด้วยการใช้มุมมองต่าง ๆ อย่างหลากหลายมิติ โรงเรียนสามารถพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรที่ส่งเสริมศักยภาพในการอ่านดังกล่าวได้ ด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์หรือผลการเรียนรู้ในรายวิชาด้านการอ่านให้มีชัดเจน เน้นไปที่ความสามารถหรือสมรรถนะหลักที่ควรเกิดขึ้นทั้ง 4 ประการ เพื่อเป็นพื้นฐานของการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนการอ่านที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในการอ่าน อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการวัดประเมินผลตามโปรแกรมการทดสอบ PISA และการทดสอบอ่านอื่น ๆ ในระดับสากล

______________________________________________________________________

รายการอ้างอิง

Mullis, I.V.S. & Martin, M.O. (Eds.). (2015). The PIRLS 2016 Assessment Framework. 2nd.
MA: TIMSS & PIRLS International Study Center, Boston College.

หมายเลขบันทึก: 620093เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท