นักวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา


ความจำเป็นในการพัฒนาการให้คำปรึกษาแนะนำ(Counseling) ในกลุ่มนักวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา

ความจำเป็นในการพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ (Counseling)

ในกลุ่มนักวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนยอมรับว่าการมีปัญหาเล็กบ้างใหญ่บ้างเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ทุกคน หากปรึกษาคนใกล้แล้วไม่ได้ผล ก็ต้องไปใช้บริการของนักวิชาชีพ หน้าที่ของรัฐบาลคือ จัดสรรจัดหาบุคลากรที่จะคอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำกับประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย เริ่มจากนักวิชาด้านสังคมสงเคราะห์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ (Social Worker) จะช่วยจัดการด้านสวัสดิการสังคม ตอบสนองต่อความต้องการความจำเป็นด้านการดำเนินชีวิต เช่นที่พักอาศัย เครื่องอุปโภคบริโภค งานอาชีพ และประสานความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น

นักจิตวิทยา (Counseling Psychologist) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำด้านสภาพจิตใจและแก้ไขพฤติกรรมเริ่มตั้งแต่นักเรียนในระบบโรงเรียน จะต้องมีนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นไว้ประจำเพื่อดูแลการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในช่วงเด็กและวัยรุ่นโดยตรง ตลอดจนนักจิตวิทยาที่ทำงานในสถานพยาบาล หน่วยงานรัฐและเอกชน ตลอดจนเปิดคลินิกส่วนตัวเพื่อให้บริการปรึกษาแนะนำ (Counseling) ปัญหาชีวิต ครอบครัว คู่สมรสแก่ประชาชนทั่วไปในชุมชนนั้น ๆ

จิตแพทย์ (Psychiatrist) เป็นแพทย์ที่ทำหน้าที่ป้องกัน รักษา และพัฒนา ผู้ป่วยด้วยอาการทางจิตและอาการทางประสาท หลังจากการให้บริการของนักจิตวิทยาหรือสังคมสงเคราะห์มีข้อจำกัดหรือไม่สามารถช่วยเหลือดูแลอาการของผู้ที่ป่วยทางจิตใจจนเกินความสามารถของนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับจิตแพทย์เป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่จำนวนจิตแพทย์ในประเทศไทยจนถึงวันนี้มีเพียง 580 คน ต่อประชากร 67 ล้านคนทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีพยาบาลที่อบรมด้านจิตเวชศาสตร์เป็นผู้ช่วยอีกเพียงพันกว่าคน เฉพาะปัญหาผู้ป่วยด้านจิตเวชอย่างเดียว จิตแพทย์ก็ไม่สามารถให้บริการดูแลได้อย่างทั่วถึง ประชาชนผู้มีปัญหาทั่วไป เช่น ปัญหาครอบครัว คู่สมรส บุคลิกภาพขัดแย้ง ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การงาน การเงิน ตลอดจนปัญหาบุตรหลานที่เป็นเด็กและเยาวชน และอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพโดยตรงได้ (ประชาชนจำนวนมากที่มีปัญหาครอบครัวจึงมุ่งหน้าไปใช้บริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดในชุมชน เพื่อช่วยจัดการแก้ไขปัญหาครอบครัวของตน เพียงเพราะไม่รู้จะไปปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากใคร นำไปสู่ความสับสนซับซ้อนด้านภาระหน้าที่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากยิ่งขึ้น)

ทั้งนี้ ดิฉัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) อรอนงค์ อินทรจิตร ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการบริหารจัดการและบริการสุขภาพจิตของโรงพยาบาลเอกชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้มองเห็นจุดอ่อนของปัญหาความขาดแคลนจิตแพทย์ แต่ศักยภาพและคุณสมบัติของนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ที่มีอยู่ไม่สามารถจะอุดช่องว่างหรือช่วยให้ประชาชนที่มีปัญหาสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต ชีวิต ครอบครัว ฯลฯ ในประเทศไทยได้ จึงได้ร่วมมือกับเพื่อนผู้หญิงหลายคนในการก่อตั้ง “ศูนย์ฮอทไลน์” ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพจิต ชีวิต ครอบครัว คู่สมรส วัยรุ่น และสุขภาพกาย ผ่านทางโทรศัพท์ และนัดมาพบที่สำนักงาน โดยทีมงานนักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ (Counseling) แล้ว

ที่สำคัญ การฝึกทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ เป็นเรื่องจำเป็นเพราะทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ หรือ Counseling เป็นจิตวิทยาในการติดต่อสื่อสารพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนักจิตวิทยาหรือผู้ที่เรียนจบด้านจิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์ จะต้องมีทักษะนี้เป็นเครื่องมือทำงานให้การบริการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธ์ภาพ นั่นคือทั้งการป้องกัน การบำบัด และการพัฒนาผู้มีปัญหาให้สามารถเรียนรู้ในการช่วยเหลือตัวเองต่อไปได้ หลังจากมาใช้บริการการให้คำปรึกษาแนะนำนี้แล้ว

แต่ในประเทศไทย ผู้ที่เรียนจบด้านจิตวิทยาในระบบสาธารณสุขส่วนใหญ่จบจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology) ซึ่งอาจจะชำนาญในด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมโดยแบบทดสอบ แต่ขาดทักษะในการให้คำปรึกษาแนะนำ (Counseling) ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะสำหรับนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาแนะนำ (Counseling Psychologist) ในการป้องกันปัญหา บำบัดจิตใจ และพัฒนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้มีปัญหา ซึ่งปัจจุบันจำนวนนักจิตวิทยาด้านให้คำปรึกษาแนะนำมีจำนวนไม่กี่ร้อยคน น้อยยิ่งกว่าจำนวนจิตแพทย์ เช่นเดียวกับจำนวนนักสังคมสงเคราะห์ปัจจุบันมีรวมกันทั้งประเทศจำนวน 1,700 คน แม้ทั้งหมดอาจจะได้เรียน พื้นฐานการให้คำปรึกษาแนะนำหรือ Counseling มาบ้าง แต่เพราะขาดประสบการณ์จากการฝึกฝนจริง ทำให้นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ที่เรียนจบด้านจิตวิทยาเหล่านี้ ไม่สามารถให้คำปรึกษาแนะนำกับประชาชนโดยตรงได้

ปัจจุบันผู้ที่เรียนจบจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เหล่านี้ ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ทำงานด้านเอกสาร ธุรการ วิชาการ เพื่อพัฒนาหรือก้าวไปสู่การเป็นนักบริหาร ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าว ผู้ที่เรียนจบสาขาพัฒนาสังคม การจัดการทั่วไป การบริหารรัฐกิจ บริหารธุรกิจ หรือการบัญชี ฯลฯ ก็สามารถทำงานเหล่านี้ได้ ทำให้คุณค่าและศักดิ์ศรีของนักสังคมสงเคราะห์ลดลงไปเรื่อย ๆ ในสายตาประชาชน ซึ่งตรงกับคำพูดวิจารณ์ของผู้คนมากมายที่ว่า “ถ้าคุณแจกอาหาร แจกผู้ห่มเป็น คุณก็เป็นนักสังคมสงเคราะห์ได้!”

เห็นได้ว่า ท่ามกลางปัญหาสังคมที่สับสนวุ่นวายมากมายในทุกครอบครัวทุกวันนี้ หากไม่มีเงินไปรับการบำบัดรักษาจากจิตแพทย์ในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ประชาชนที่วิ่งวนอยู่กับปัญหาชีวิต ครอบครัว การปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ต้องกระเสือกกระสนดำเนินชีวิตไปตามลำพัง ขาดผู้ช่วยที่ชี้แนะทางอย่างสร้างสรรค์ ขาดกำลังใจ ขาดความกล้าที่จะคิดและตัดสินใจด้วยตนเองอย่างถูกต้อง ที่สำคัญหากปล่อยให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิต ที่มีคุณภาพในการให้ความช่วยเหลือกับประชาชนอย่างมืออาชีพ และการช่วยให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองต่อไปได้ การดำเนินชีวิตในครอบครัวไทย ในสังคมไทยทุกระดับ จะกลายเป็นภาระที่ซับซ้อนต่อไปเรื่อย ๆ และการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิต กลายเป็นจุดอ่อนในช่วงการเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศไทยในฐานะเป็นหนึ่งในผู้เริ่มต้นก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เมื่อเทียบกับสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ขณะนี้

ตลอดกว่า 30 ปีที่มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ในฐานะขององค์กรสาธารณประโยชน์หรือเอนจีโอ ที่ต้องการช่วยอุดช่องว่างของงานบริการของรัฐ โดยทีมนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ ได้เปิดให้บริการปรึกษาแนะนำโดยตรง และเปิดหลักสูตรฝึกอบรมนักวิชาชีพ ที่เรียนจบทุกสาขาจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ พยาบาล สาธารสุข ตลอดจนครูแนะแนว นักการศึกษา นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ขององค์การเอนจีโอ ที่ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้หญิง เด็ก ครอบครัวและชุมชน เพื่อให้นักวิชาชีพเหล่านั้นมีคุณภาพในการทำงานอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การขาดความเข้าใจ ขาดทักษะและขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ ท่ามกลางการพัฒนาประเทศไทยภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ทำให้กระบวนการและทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ หรือ Counseling ค่อย ๆ ลบเลือนเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เริ่มจาก

  1. ครูอาจารย์ผู้ทำหน้าที่สอนสั่งวิชา Counseling นี้ ส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตที่เรียนเก่ง แต่ขาดประสบการณ์

ในการทำงาน เมื่อถ่ายทอดวิชาด้านการให้คำปรึกษาแนะนำ จึงขาดประสบการณ์จริงที่จะถ่ายทอดให้นักศึกษาเห็นประโยชน์หรือสามารถนำไปใช้ได้ นักศึกษาจึงเรียนเพื่อสอบให้ผ่านหรือเพื่อเกรดอย่างเดียว ไม่ได้เข้าใจหรือสามารถลงภาคปฏิบัติได้จริง ๆ

  1. ค่านิยม “ต่างชาติ” นั่นคือให้ความสนใจว่าจ้าง ครูอาจารย์ต่างประเทศเข้ามาสอนนักศึกษาเป็นบางครั้ง

บางคราว ทั้ง ๆ ที่คนไทยนักศึกษาไทยไม่ชำนาญภาษาอังกฤษ และสิ่งแวดล้อมทางครอบครัวและวัฒนธรรมประเพณีในประเทศไทย แตกต่างจากประเทศตะวันตก มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับครูอาจารย์คนไทยที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความเข้าใจทักษะการให้คำปรึกษาอย่างแท้จริง ดังเช่นนักจิตวิทยาของมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ซึ่งมีประสบการณ์การให้บริการปรึกษาแนะนำและการฝึกอบรมมานานกว่า 30 ปี

  1. ระบบพรรคพวกที่มีอิทธิพลในสังคมไทย นำความอ่อนแอมาสู่การทำงานของ ข้าราชการไทย นั่น

คือประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณทำอะไรได้ ดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่สำคัญว่า “คุณเป็นใคร” มีพวกพ้องเกี่ยวข้องเป็นลูกน้องใคร ระบอบพรรคพวกที่พัฒนาชัดเจนยิ่งขึ้นจนกลายมาเป็นระบอบทักษิณ ที่ถูกอิทธิพลครอบงำความคิด และพฤติกรรมตั้งแต่ระบบในมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ไม่ได้มุ่งมองการสอนเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาและประเทศชาติโดยส่วนรวม แต่เอื้อประโยชน์เฉพาะตนเอง ครอบครัวและเพื่อนพ้องที่ยอมรับตนเท่านั้น

  1. ระบบพรรคพวกหรือระบอบทักษิณนี้เอง เมื่อคนในพรรคของทักษิณเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือฝ่าย

บริหารก็ได้ใช้ อำนาจควบคุมครอบงำด้านงบประมาณการเงินที่ส่งเสริมเฉพาะนโยบายของตนเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่ากว่า 10 ปีมานี้ ในเกือบทุกกระทรวงทบวงกรมข้าราชการระดับสูงถูกแต่งตั้งโดยนักการเมืองที่มีอำนาจ และทำงานเฉพาะตามคำสั่งของนักการเมืองและครอบครัวพวกพ้องเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานเอนจีโอ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยเงิน งบประมาณเล็ก ๆ น้อย ๆ จากกองทุนของรัฐที่จัดไว้ให้ หากเอนจีโอใด “Pro” หรือยอมนอบน้อมถ่อมตนให้ ก็จะได้งบประมาณ เอนจีโอใดไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จึงทำให้เกิดเอนจีโอต่างสีในช่วงระบอบทักษิณตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

  1. “คนเรียนไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้เรียน!” ทุกครั้งที่มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์เปิดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะ

การให้คำปรึกษาแนะนำหรือ Counseling Training Course จะต้องเชิญนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์จากหน่วยงานรัฐบาล โดยเฉพาะจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาเข้ารับการฝึกอบรมด้วยทุกครั้ง จะพบว่า เจ้าหน้าที่ที่มาเข้ารับการฝึกอบรมนั้น เมื่อกลับไปก็จะไปทำงานด้านธุรการหรือบริหารจัดการ ไม่ได้ทำงานให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้มีปัญหา ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม กลับเป็นคนทำงานให้บริการประชาชนโดยตรง ดังเช่นกรณีเจ้าหน้าที่ดูแลบ้านพักพิง หรือสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ หรือมีการสลับมาเรียน แต่เรียนไม่ครบหลักสูตรทำให้รู้บ้างไม่รู้บ้าง ทำงานอย่างมืออาชีพไม่เป็น จนถึงขณะนี้ คำถามคือ ในจำนวนนักสังคมสงเคราะห์ 1,700 คน มีกี่คนที่สามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้อย่างมืออาชีพ ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐ ที่จะต้องเป็นหลักเป็นครูฝึกให้เจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับไม่มีครูฝึก การใช้บริการจากครูอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เหมือนที่กล่าวมา คือครูอาจารย์เหล่านั้นอาจรู้ทฤษฎีแต่ลงภาคปฏิบัติไม่ได้ ทำไม่เป็น แต่เพราะได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นมหาวิทยาลัย จึงเข้าถึงงบประมาณได้ จนถึงวันจะพบว่าสถานการณ์ยังวนเวียนอยู่เหมือนเดิมตลอดมา!

  1. พระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 ดิฉัน อรอนงค์

อินทรจิตร ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างเสนอพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ฯ ซึ่งนำเสนอโดยนายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ รองศาสตราจารย์ อภิญญา เวชยชัย คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งร่างที่ส่งมาไม่ได้ระบุคุณสมบัติสำคัญคือการให้คำปรึกษาแนะนำหรือ Counseling เอาไว้ดิฉันจึงได้เสนอแนะว่า ควรกำหนดบทบาทและคุณสมบัติความเป็นนักวิชาชีพให้นักสังคมสงเคราะห์เหล่านั้นเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานอย่างมืออาชีพได้ ไม่ใช่เป็นเพียงนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำด้านธุรการหรือบริหาร แต่งานบริการประชาชน คือป้องกันบำบัดและพัฒนาทำไม่ได้ และไม่ได้ทำ

คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงได้มีการลงมติเห็นชอบให้เพิ่มทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำให้กับนักสังคมสงเคราะห์ที่เรียนจบปริญญาตรีขึ้นมา ขณะเดียวกันดิฉันได้ขอให้ระบุต่อไปด้วยว่า (อยู่ในบันทึกรายงานการอภิปรายแปรญัตติ) ให้นักสังคมสงเคราะห์ที่มีประสบการณ์การให้คำปรึกษาแนะนำ สามารถเปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว คู่สมรส และวัยรุ่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีแพทย์เป็นผู้ดำเนินการคลินิกหรือเป็นเจ้าของคลินิกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ที่ผ่านมา เนื่องจากนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์เพียงพอจะสามารถเปิดคลินิกเฉพาะการให้บริการปรึกษาแนะนำปัญหาครอบครัว คู่สมรส และวัยรุ่นได้ จึงมีเฉพาะคลินิกจิตเวชเท่านั้นที่ดำเนินการอยู่ ยกเว้นมูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ ที่เปิดคลินิกให้บริการให้คำปรึกษาแนะนำปัญหาชีวิต ครอบครัว คู่สมรส ปัญหาวัยรุ่น ผ่านทางโทรศัพท์และนัดมาพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบัน

พระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 นี้ จะให้โอกาสนักวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์สามารถให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเพิ่มขึ้น หรือประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์มากขึ้นในอนาคต เมื่อนักวิชาชีพพัฒนาทักษะการให้บริการปรึกษาแนะนำขึ้นอย่างมีมาตรฐานเทียบเท่านักวิชาชีพในประเทศตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง พัฒนาและเพิ่มพูนคุณภาพนักวิชาชีพอยู่ขณะนี้ ความเชื่องช้าจากระบบราชการทุกระดับเริ่มตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาจทำให้นักวิชาชีพจากประเทศเพื่อนบ้านที่ผ่านการพัฒนาวิชาชีพมาแล้วเช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ หรือนักวิชาชีพในภาคตะวันตกสามารถเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยโดยเปิด คลินิกให้บริการปรึกษาแนะนำ หรือ Counseling Clinic ได้ ดังที่พบเห็นได้ใน “พัทยา” ขณะนี้

ข้อเสนอแนะ

ปัจจุบันทุกฝ่าย ทุกวิชาชีพ ทุกภาคส่วนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการ “ปฏิรูป” ประเทศไทย ให้สังคมไทยมั่นคงแข็งแกร่งสมกับความยิ่งใหญ่ที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสมมา โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์และมั่งคั่งของทรัพยากรทางธรรมชาติ หากประชาชนมีจิตสำนึกของความจงรักและภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ย่อมพร้อมจะมุ่งมองที่การพัฒนาเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ข้องติดอยู่กับอัตตาของตัวเอง โดยเฉพาะนักวิชาชีพทางด้านสุขภาพจิต ครูอาจารย์ผู้ผลิตนักวิชาชีพเหล่านี้ ที่ต้องมองให้กว้างไกล ด้วยจิตที่มีเมตตา และพยายามมองหาเส้นทางในการพัฒนาส่งเสริมนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิต ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาแนะนำได้อย่างทั่วถึงมากกว่าที่ผ่านมา โดยเริ่มจาก

  1. 1. ฝ่ายบริหารสถาบันอุดมศึกษา ต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า อาจารย์ที่สอนทักษะการให้

คำปรึกษาแนะนำหรือ Counseling เข้าใจและสามารถใช้ทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำนี้ได้จริง ๆ ไม่ใช่รู้เพียงแค่ทฤษฎี แล้วสอนเพียงแค่ทฤษฎี ที่เหลือให้ผู้เรียนไปคิดเอาเอง!

  1. 2. นักวิชาชีพ จะต้องให้เกียรตินักวิชาชีพด้วยกัน โดยเฉพาะกรณีที่ตนเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่มี

สถาบันอื่นมีความเชี่ยวชาญกว่า ก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ยอมรับเฉพาะคนต่างชาติเท่านั้น หลายสิบปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยของไทยเสียเงินงบประมาณในการเชิญนักวิชาชีพ(ฝรั่ง)ด้านการให้คำปรึกษาแนะนำมาสอนเพิ่มทักษะให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ ถึงวันนี้ มหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงหรือไม่?

  1. 3. มาตรฐานของนักวิชาชีพ ทุกวิชาชีพมีมาตรฐาน เริ่มจากมาตรฐานของนักศึกษาปีที่หนึ่ง จะต้อง

รู้และเข้าใจเกี่ยวกับ Counseling อย่างไรบ้าง เรียนจบปริญญาตรีแล้ว สามารถให้บริการปรึกษาแนะนำได้จริงหรือไม่ เพราะอะไร

  1. 4. การจัดองค์การด้านสวัสดิการสังคม ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและ

ความมั่นคงของมนุษย์ โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ควรจะต้องจัดระบบด้านสวัสดิการสังคม ที่เปิดโอกาสให้นักวิชาชีพด้านจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เลือกที่จะทำงานด้านบริการให้คำปรึกษาแนะนำโดยตรงได้ และหรือสามารถเลือกงานด้านการให้บริการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักบริหารในองค์กรนั้น ๆ นั่นคือขยายบริการให้คำปรึกษาแนะนำให้กว้างขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือโดยตรงได้ และเป็นการฝึกนักวิชาชีพที่ต้องการสะสมประสบการณ์เพื่อสามารถก้าวต่อไปในการเปิดคลินิกเฉพาะทางได้ เรียกว่าเป็นนักวิชาชีพอย่างแท้จริง

  1. 5. เป็นที่เข้าใจดีว่า หลายสิบปีมานี้ ประเทศไทยเสียเวลาและสูญเสียทรัพยากรของประเทศไปมาก

มายกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในระบอบทุนนิยมสามานย์ ที่มุ่งเน้นสนับสนุนพรรคพวกและเครือญาติเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสภาพจิตใจของคนไทยทั่วไปในสังคม การจะ”ปฏิรูป” เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงในหนทางที่สร้างสรรค์ จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิตและผู้ให้บริการประชาชนในปัจจุบัน จะต้องเชื่อมั่นและหนักแน่น มองเห็นผ่านไปถึงในอนาคตของชาติให้ได้ว่าประชาชนต้องการอะไร และที่สำคัญคือ เราจะตอบสนองต่อความต้องการของคนไทยเราได้อย่างไรบ้าง เพราะนี่คือ “หน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคน!”

หมายเลขบันทึก: 619866เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2016 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2016 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท