"วุฒิธรรม ๔" เพื่อความเจริญแห่งปัญญา


"วุฒิธรรม ๔ เพื่อความเจริญแห่งปัญญา"

ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้าแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมะรับอรุณ ณ บ้านเย็นยิ้ม

วันพระขึ้น 8 ค่ำ เดือน 1 ประจำวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2559

- - - - - - - - - - - - - - -

จตฺตาโรเม ภิกฺขเว ธมฺมา ปญฺาวุฑฺฒิยา สํวตฺตนฺติ กตเม จตฺตาโร

สปฺปุริสสํเสโว สทฺธมฺมสฺสวนํ โยนิโสมนสิกาโร ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ

อิเม โข ภิกฺขเว จตฺตาโร ธมฺมา ปญฺาวุฑฺฒิยา สํวตฺตนฺตีติ ฯ

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัปปุริสสังเสวะ การคบสัปบุรุษ ๑ สัทธรรมสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่าน ๑ โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ฯ"

- - - - - - - - - - - - - - -

"วุฒิธรรม ๔" เพื่อความเจริญแห่งปัญญา

วุฒิ หรือ วุฑฒิธรรม แปลว่าธรรมเป็นเครื่องเจริญ, คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ประกอบด้วย ๔ ประการ

๑. สัปปุริสังเสวะ คือ การคบหาสัตบุรุษ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ

๒. สัทธัมมัสสวนะ คือ การฟังสัทธรรม, เอาใจใส่เล่าเรียน หาความรู้จริง

๓. โยนิโสมนสิการ คือ การทำในใจโดยแยบคาย, คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี

๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลัก คือ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขต ความหมาย และวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ, นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ

ธรรมหมวดนี้ ในบาลีที่มา เรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อ ปัญญาวุฒิ คือ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญา

- - - - - - - - - - - - - - -

"ปัญญา ๓"

ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้, รู้ทั่ว, เข้าใจ, รู้ซึ้ง

๑. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาเกิดแต่การคิดการพิจารณาหาเหตุผล

๒. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาเกิดแต่การสดับการเล่าเรียน

๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาเกิดแต่การฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ

(ที.ปา. ๑๑/๒๒๘/๒๓๑.)

- - - - - - - - - - - - - - -

"ติกนิเทศ"

ในญาณวัตถุหมวดละ ๓ นั้น จินตามยปัญญา เป็นไฉน ?

ในการงานทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในศิลปะทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในวิชาทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี บุคคลมิได้ฟังจากผู้อื่น ย่อมได้กัมมัสสกตาญาณ หรือย่อมได้สัจจานุโลมิกญาณ ว่ารูปไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าเวทนาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสัญญาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าวิญญาณไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ย่อมได้อนุโลมิกญาณ ขันติญาณ ทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณ เปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณอันใด ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น นี้เรียกว่า จินตามยปัญญา

สุตมยปัญญา เป็นไฉน ?

ในการงานทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในศิลปะทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในวิชาทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี บุคคลได้ฟังจากผู้อื่นแล้ว จึงได้กัมมัสสกตาญาณ หรือได้สัจจานุโลมิกญาณ ว่ารูปไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าเวทนาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสัญญาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าวิญญาณไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ได้อนุโลมิกญาณ ขันติญาณ ทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณ เปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณ อันใด ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น นี้เรียกว่า สุตมยปัญญา

ภาวนามยปัญญา เป็นไฉน ?

ปัญญาของผู้เข้าสมาบัติแม้ทั้งหมด เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

(อภิ.วิ. ๓๕/๘๐๔/๔๓๘.)

- - - - - - - - - - - - - - -

องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๔๘/๓๓๒; พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.

Cr. รูปภาพจากอินเทอร์เน็ต

...

ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ

อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศล เป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

หมายเลขบันทึก: 619832เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2016 07:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2016 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท