คารวตา : ความเคารพ ๖ อย่าง


"คารวตา : ความเคารพ ๖ อย่าง"

ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้าแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมะรับอรุณ ณ บ้านเย็นยิ้ม

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2559

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


"คารวตา ๖"

คารวะ หรือ คารวตา ๖ แปลว่า ความเคารพ, การถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจและปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยความหนักแน่นจริงจัง, การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญแล้วปฏิบัติต่อบุคคลหรือสิ่งนั้นโดยถูกต้อง ด้วยความจริงใจ ธรรม ๖ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ.

๑. สัตถุคารวตา คือ ความเคารพในพระศาสดา (ข้อนี้บางแห่งเขียนเป็น พุทธคารวตา คือ ความเคารพในพระพุทธเจ้า)

๒. ธัมมคารวตา คือ ความเคารพในธรรม

๓. สังฆคารวตา คือ ความเคารพในสงฆ์

๔. สิกขาคารวตา คือ ความเคารพในการศึกษา

๕. อัปปมาทคารวตา คือ ความเคารพในความไม่ประมาท

๖. ปฏิสันถารคารวตา คือ ความเคารพในปฏิสันถาร

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

"อปริหานิยสูตรที่ ๑"

ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท ๑ ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ เทวดานั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัยลำดับนั้น เทวดาตนนั้นทราบว่า พระศาสดาของเราทรงพอพระทัยแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว หายไป ณ ที่นั้น ฯ

ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่ง ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท ๑ ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาตนนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้น ฯ

ภิกษุผู้เคารพในพระศาสดา เคารพในพระธรรม เคารพอย่างแรงกล้าในพระสงฆ์ เคารพในความไม่ประมาท เคารพในปฏิสันถาร ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อม ย่อมมี ณ ที่ใกล้นิพพานทีเดียว ฯ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

"คารวะ" และ "นับถือบูชา"

ศัพท์ว่า "คารวะ" แปลกันว่า ความเคารพ หมายถึงความเอื้อเฟื้อ มักจะพูดติดต่อกันว่าความเคารพเอื้อเฟื้อ และมักจะใช้คู่กับคำว่า "นับถือบูชา" โดยความหมาย ก็คือ การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยกย่องเชิดชู ไม่ลบหลู่ดูหมิ่น ในบุคคลนั้นๆ และในธรรมนั้นๆ ตลอดถึงในวัตถุนั้นๆ อันเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ ซึ่งในที่นี้มี ๖ อย่าง คือ

๑. ความเอื้อเฟื้อในพระพุทธเจ้า คือเคารพเอื้อเฟื้อนับถือบูชาด้วยอามิส และด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทางกาย วาจา และใจ อันประกอบด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า แม้ดับขันธปรินิพพานนานแล้ว ก็ไม่ลบหลู่ดูหมิ่น แม้ทำท่าเล่นพูดเล่นเพื่อสรวลเสเฮฮา ก็ไม่ควรต้องเคารพสำรวมกิริยามารยาท ในสัมมาสัมพุทธเจดีย์ทั้ง ๔ ประเภท คือ

ก. พระบรมธาตุเจดีย์ๆ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ข. บริโภคเจดีย์ๆ บรรจุบริขารของพระพุทธเจ้า และสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

ค. ธรรมเจดีย์ๆ บรรจุพระธรรม จารึกพระพุทธวจนะ

ง. อุทเทสิกเจดีย์ อันได้แก่พระพุทธรูป

๒. เอื้อเฟื้อในพระธรรม คือเคารพเอื้อเฟื้อ ฯลฯ เลื่อมใสในพระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด แม้วัตถุที่จารึกพระธรรมก็ต้องให้ความเคารพ ไม่เหยียบย่ำข้ามกราย

๓. เอื้อเฟื้อในพระสงฆ์ คือเคารพเอื้อเฟื้อ ฯลฯ เลื่อมใสในพระสงฆ์ คือภิกษุ (สามเณร) ทั้งที่เป็นอริยสงฆ์ ทั้งที่เป็นสมมติสงฆ์ แม้กาสาวพัสตร์ คือผ้าย้อมน้ำฝาดที่พระสงฆ์นุ่งห่มอันเป็นดุจธงชัยในพระพุทธศาสนา ก็ต้องให้ความเคารพ ไม่แสดงกิริยาอาการล้อเล่นดูถูกดูหมิ่นพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สอนพระธรรมรักษาพระธรรมนำพระศาสนาสืบต่อมาไม่ขาดสาย ตั้งใจกราบไหว้ และปฏิบัติตามคำสอนของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้แทนพระพุทธเจ้า

๔. เอื้อเฟื้อในความศึกษา คือเคารพเอื้อเฟื้อในความศึกษาตั้งใจศึกษาหาความรู้ความเข้าใจความชำนาญ ในสิ่งที่ควรรู้ ทั้งคดีโลกทั้งคดีธรรมสิ่งที่ควรศึกษาหาความรู้ในทางโลก ได้แก่ศิลปะวิชาสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นทางให้ดำรงชีพอยู่โดยผาสุกในโลก สิ่งที่ควรศึกษาหาความรู้ในทางธรรม ได้แก่ไตรสิกขา คือ ศีลสมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ดำรงชีวิตอยู่โดยความสงบร่มเย็น ไม่มีความเดือดร้อน

ฉะนั้น ควรเคารพเอื้อเฟื้อในความศึกษาทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่เบื่อหน่าย ไม่ดูหมิ่น ควรปลูกฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ลงในความศึกษา ทำความศึกษาให้บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น

๕. ความเอื้อเฟื้อในความไม่ประมาท คือเคารพเอื้อเฟื้อในความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน โดยใจความก็คือ มีสติควบคุมกาย วาจา จิต ในกาลทำพูดคิดอย่าให้ผิดสม่ำเสมอ ไม่พลั้งเผลอ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

๖. ความเอื้อเฟื้อในปฏิสันถารคือต้อนรับปราศรัย คือความเคารพเอื้อเฟื้อในปฏิสันถาร ๒ อย่าง คือ

ก. อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับแขกด้วยวัตถุสิ่งของ เช่น ที่นั่งที่พัก ข้าว น้ำ เป็นต้น

ข. ธรรมปฏิสันถาร ต้อนรับแขก ด้วยการกล่าวเชื้อเชิญสนทนาปราศรัยด้วยไมตรีจิต และจัดแจงอามิสให้พอสมควรแก่ฐานะของแขก ตามสมควรแก่ฐานะของตน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๐๓/๓๖๘.

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

Cr. รูปภาพจากอินเทอร์เน็ต

...

ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ

อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศล เป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

หมายเลขบันทึก: 619715เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2016 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2016 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท