แผนที่ยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันสุขภาพ


ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดพัทลุง เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 1/2547 วันที่ 6 ตุลาคม 2547

     สำหรับแผนที่ยุทธศาสตร์กลุ่มงานประกันสุขภาพ สสจ.พัทลุง ปี 2548-2550 ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดพัทลุง เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 1/2547 วันที่ 6 ตุลาคม 2547 ดังที่เคยบันทึกไว้แล้วที่ แผนยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนจังหวัดพัทลุง โดยมีรายละเอียดและความเชื่อมโยงกันดังนี้ครับ (ดูภาพประกอบ)

          ด้านลูกค้า เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดพัทลุงทุกคนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพตามความจำเป็นด้านสุขภาพโดยเสมอภาคกัน ซึ่งต้องดำเนินการจัดให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ พร้อม ๆ กับการสร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ และสร้างความพึงพอใจต่อระบบแก่ผู้ให้บริการ ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนให้สถานบริการในสังกัดทุกแห่งมีความมั่นคงทางการเงิน และสามารถจัดบริการได้ตามมาตรฐานอย่างมีคุณภาพ

          ด้านการเงิน มีการกันเงินกองทุนไว้ที่ระดับจังหวัด เพื่อใช้ในการพิจารณาให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่เครือข่ายที่ขาดความมั่นคงทางการเงินตามความจำเป็นอย่างเป็นธรรม ซึ่งสถานบริการในสังกัดก็จะต้องช่วยเหลือตัวเองโดยการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างชัดเจน มีการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการจัดบริการอย่างเหมาะสม รวมถึงการเปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนของการบริหารการเงิน เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเรื่องความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้น ในส่วนมาตรการเชิงป้องกันนั้นก็ได้มีการค้นหาเพื่อลดโอกาสในการสูญเสียรายได้ และการค้นหาเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้าง/มีรายได้ ควบคู่กันไป และเชื่อว่าหากมีระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเงิน การคลังของเครือข่ายบริการได้ด้วยตัวเอง ก็จะสามารถป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น โดยจังหวัดเป็นพี่เลี้ยงและเฝ้าระวังฯ ให้ในภาพรวม

          ด้านการบริหารงานภายใน จัดให้มีช่องทางของการรับเรื่องร้องเรียนจากทุกฝ่ายให้เพียงพอและเหมาะสม การพยายามลดความซ้ำซ้อนของสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพของประชาชน การให้การช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากบริการร่วมกับภาคประชาชน โดยใช้แนวทางตาม ม.41 พร้อม ๆ กับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของสถานบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหา และตอบสนองต่อเป้าประสงค์ของการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพในภาพรวม มีการตรวจสอบความถูกต้องในการเรียกเก็บหนี้ก่อนจ่าย การค้นหาผู้ที่มีสิทธิว่างเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนใหม่ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร การดำเนินงาน และบริการ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็จะช่วยให้สถานบริการมีความมั่นคงขึ้นในขณะที่จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดเล็ก มีประชากรน้อย (420,000 คนในระบบหลักประสุขภาพแห่งชาติ)

          ด้านการเรียนรู้และพัฒนา ซึ่งเป็นหัวใจหรือเป็นฐานหลักของการดำเนินงาน ก็จะมีการพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ทางการเงิน การคลังแก่เจ้าหน้าที่ของเครือข่ายบริการ มีการส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน สนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมการเข้าถึงบริการ การสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพบริการ ตลอดจนการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆของเจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานฯ     

หมายเลขบันทึก: 6194เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2005 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท