สรุปผลการประเมินโครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้


การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
          ปีงบประมาณ 2548 สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน  มุ่งเน้นให้ประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพทุกที่ทุกเวลาอย่างทั่วถึง  ภายใต้การดำเนินงานตามกลยุทธ์ กศน.สู่การปฏิบัติ  ปีงบประมาณ 2548-2551 โดยมีจุดเน้นการดำเนินงาน 5 จุดเน้น  และมีโครงการนำร่องตามจุดเน้นดังกล่าว จุดเน้นละ 1 โครงการ  โดยหนึ่งในห้าโครงการดังกล่าว  คือ  โครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชนประจำปีงบประมาณ 2548  ภายใต้จุดเน้น  การสร้างสังคม/ชุมชนแห่งการเรียนรู้  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพของรัฐบาล ที่มุ่งหวังจะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเร่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ในระบบและนอกระบบ  ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาความรู้  ทั้งนี้การสร้างสังคมนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2548  ดังกล่าว  มีวัตถุประสงค์  เพื่อพัฒนารูปแบบวิธีการดำเนินงานการจัดการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อสร้างสังคม/ชุมชนแห่งการเรียนรู้  รวมทั้งเพื่อแสวงหาความร่วมมือกับภาคีการศึกษานอกโรงเรียน  และปลูกฝังนิสัยใฝ่เรียน  ใฝ่รู้  ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
ดังนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศ ที่สามารถตอบวัตถุประสงค์ดังกล่าว  สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนจึงจำเป็นต้องทำการประเมินโครงการดังกล่าว  ซึ่งผลที่ได้จะเป็นข้อมูลและสารสนเทศพื้นฐานที่สำคัญในการกำหนดแผนงาน การขยายผลการดำเนินงานการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป
วัตถุประสงค์การประเมิน
          วัตถุประสงค์ทั่วไป
            เพื่อประเมินการดำเนินงานโครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2548 ตามรูปแบบซิป ( CIPP MODEL )
          วัตถุประสงค์เฉพาะ
            1. เพื่อประเมินการดำเนินโครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชนประจำปีงบประมาณ 2548 โดยใช้รูปแบบซิป ( CIPP MODEL ) ตามประเด็นการประเมินดังต่อไปนี้
                 1.1 การประเมินบริบท ( Content Evaluation )
                 1.2 การประเมินปัจจัยป้อน ( Input Evaluation )
                 1.3 การประเมินกระบวนการ ( Process Evaluation )
                 1.4 การประเมินผลผลิต ( Product Evaluation )
ผลการประเมิน
ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation)
            การดำเนินงานโครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน ประจำปี
งบประมาณ 2548 มีพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 166 ชุมชน จาก 22 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดกรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร ชลบุรี ชัยนาท เชียงใหม่ นครนายก นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส บุรีรัมย์ ปทุมธานี เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ลพบุรี สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี อุดรธานี และอุบลราชธานี โดยมี
ผลการประเมินด้านบริบท ดังนี้
            1. เหตุผลการเลือกพื้นที่ดำเนินการโครงการ พบว่าได้มีการคัดเลือกพื้นที่
โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของการจัดกิจกรรมการดำเนินงานการศึกษานอกโรงเรียนกับนโยบายรัฐบาล นโยบายระดับจังหวัด และจุดเน้นการดำเนินงานของ สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน โดยจำแนกได้ดังนี้
                        1.1 นโยบายรัฐบาล
                             (1) นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน
                             (2) นโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
                        1.2 นโยบายระดับจังหวัด
                             (1) นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
                 (2) นโยบายส่งเสริมและพัฒนาสังคมน่าอยู่เชิดชูคุณธรรม
                 (3) นโยบายส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร
                 (4) นโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชุมชน
            1.3 จุดเน้นการดำเนินงานของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน
     (1) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                 (2) การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ
                 (3) การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
            2. ความพร้อมของประชาชนในชุมชนในการเข้าร่วมโครงการ จากการสำรวจพบว่าประชาชนในชุมชนมีความกระตือรือร้นในการพัฒนา โดยประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้าร่วม
กิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และมองเห็นประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพ พัฒนาตนเองและสังคม และได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง
            3. ความต้องการแก้ไขปัญหาของชุมชน พบว่าชุมชนมีความต้องการแก้ไขปัญหาในด้านหนี้สินของตนเอง ซึ่งเกิดจากปัญหาการมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ การขาดความรู้ในการประกอบอาชีพเสริม การว่างงาน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ปัญหายาเสพติด ตลอดจน
การขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ
ความต้องการของชุมชน
            4. ความพร้อมของชุมชนในด้านต่างๆ พบว่า ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีทรัพยากรที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา ตลอดจนผู้นำให้ความสำคัญต่อการพัฒนา ชุมชนมีความสามัคคีและร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ
            5. ความพร้อมของภาคีในการเข้าร่วมจัดกิจกรรมของชุมชน พบว่าชุมชนส่วนใหญ่มีความพร้อมในด้านภาคีที่จะเข้าร่วมจัดกิจกรรมของชุมชน โดยภาคีหลักของชุมชน คือ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาครัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน
            6. ความพร้อมทางด้านทุนทางสังคมที่เหมาะแก่การพัฒนารูปแบบการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ พบว่าชุมชนมี ทุนด้านวัฒนธรรม ได้แก่ ศิลปะ ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น ทุนด้านภูมิปัญญา ได้แก่ ภูมิปัญญาด้านอาชีพที่สืบทอดกันมา ภูมิปัญญาด้านศิลปะ
ภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย เป็นต้น ตลอดจน ทุนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
            7. ความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจของชุมชน เมื่อพิจารณาจากรายได้ของ
ประชาชน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ระหว่าง 20,000 – 30,000 บาท/คน/ปี โดยมีอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย และรับจ้าง ในด้านภาวะหนี้สิน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นหนี้กองทุน
หมู่บ้าน หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รวมทั้งหนี้นอกระบบ ซึ่งส่วนมากกู้ยืมมาเพื่อการลงทุนทางด้านการเกษตรและเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ
ทุนการศึกษา และการทำอาชีพเสริม
            8. การจัดตั้งกองทุนในชุมชน พบว่าทุกชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและมีการจัดตั้งกองทุนในรูปแบบอื่นตามสภาพความพร้อมและความต้องการของชุมชน เช่น กองทุนเศรษฐกิจชุมชน กองทุนสงเคราะห์หมู่บ้าน กองทุนออมทรัพย์ กองทุนสัจจะ กองทุนเงินแสน
กองทุนเงินล้าน กองทุนฉุกเฉิน กองทุน SME กองทุนกลุ่มจักรสานผักตบชวา กองทุนโรงสีชุมชน กองทุนธนาคารข้าว กองทุนปุ๋ยชีวภาพ กองทุนเกษตรธรรมชาติ กองทุนกลุ่มอนุรักษ์ควายไทย กองทุนกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ กองทุนผู้เลี้ยงไหม กองทุนส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม กองทุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเสื่อกก กองทุนศูนย์สาธิตการตลาด กองทุนประปาประจำหมู่บ้าน กองทุนอุปกรณ์ก่อสร้าง กองทุนเต้นท์โต๊ะเก้าอี้บริการ กองทุนเพื่อการกีฬา กองทุนยาประจำหมู่บ้าน
กองทุนเยาวชน กองทุนสตรี กองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนฌาปณกิจสงเคราะห์
            9. ด้านผลิตภัณฑ์ OTOP พบว่า เกือบทุกชุมชนมีผลิตภัณฑ์ OTOP เช่นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม (อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าบาติก ปักจักรผ้าคลุม เสื้อยูเบาะ เสื่อกกลายขัด ดอกไม้จากผ้าใยบัว เครื่องใช้จากผักตบชวา เครื่องจักรสาน) ผลิตภัณฑ์อาหาร (อาทิ กล้วยฉาบ กล้วยม้วน ขนมจีน ข้าวแต๋น ข้าวตูเสวย ผลไม้แปรรูป ปลาร้าสับสมุนไพร) ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร (อาทิ ข้าวซ้อมมือ ผลไม้ ดอกไม้ ปุ๋ยอินทรีย์) ผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพร (อาทิ ใบชา ยาหม่อง ตะไคร้หอม)
ผลการประเมินด้านปัจจัยป้อน (Input Evaluation )
          การดำเนินงานโครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน ประจำ
ปีงบประมาณ 2548 มีปัจจัยป้อนที่สำคัญหลายประการ ประกอบด้วย งบประมาณทุนในรูปแบบอื่น บุคลากร ภาคี ความรู้ความเข้าใจของบุคลากร ภาคี และประชาชนในชุมชนต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
            1. ด้านงบประมาณและทรัพยากรอื่น ได้รับการสนับสนุนจากภาคี ทั้งภาครัฐ
เอกชน และชุมชน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด (งบประมาณ CEO) และทุนทางสังคม (เช่น กองทุนในชุมชน ภูมิปัญญา และกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชน) ตลอดจน กศน. ซึ่งในพื้นที่ได้บูรณาการงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ในการบริหารโครงการจนเสร็จสิ้นการดำเนินงาน
          2. ด้านบุคลากร บุคลากร กศน.ที่เข้าร่วมโครงการ มีจำนวน 645 คน  ประกอบด้วย
                        2.1 ผู้บริหาร         54      คน
                        2.2 ข้าราชการ      78      คน
                        2.3 ครู กศน.        513    คน
            3. ด้านภาคีภาครัฐ มีจำนวน 225 แห่ง อาทิ สำนักงานปกครองอำเภอ องค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเกษตรอำเภอ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรประจำตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลประจำอำเภอ สถานีอนามัยตำบล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สถานีตำราจภูธรอำเภอ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอ การประปาส่วนภูมิภาคอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานที่ดินจังหวัด สภาวัฒนธรรมอำเภอ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติองครักษ์ วิทยาลัยการอาชีพ โรงเรียน เป็นต้น
            4. ด้านภาคีภาคเอกชนและภาคประชาชน มีจำนวน 549 แห่ง อาทิ บริษัท TOT (มหาชน) จำกัด เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน กลุ่มพลังแผ่นดิน กลุ่มภูมิปัญญา เครือข่ายกลุ่มอาชีพ กลุ่ม อสม. ผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน นักเรียน และประชาชนในชุมชน เป็นต้น
            5. ความรู้ความเข้าใจของบุคลากร กศน.และภาคีต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ผลจากการศึกษาพบว่า บุคลากรของ กศน.และภาคีมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และสามารถนำความรู้ความเข้าใจดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติได้ โดยใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและการดำเนินงาน ดังนี้
                        5.1 ประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการ
                        5.2 ประชุมชี้แจงการดำเนินงานในการประชุมประชาคมทุกระดับอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
                        5.3 ประสานงานภาคีหน่วยงานเครือข่าย สร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เช่น เชิญชวนอาสาสมัครร่วมดำเนินโครงการ
                        5.4 วางแผนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยยึดความต้องการการรับบริการและบริบทของชุมชนเป็นสำคัญ
                        5.5 สร้างทีมงาน ให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อสามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
                        5.6 ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้
            6. แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน จากการศึกษาพบว่าชุมชนมีแหล่งการเรียนรู้ 499 แห่งเพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เช่น วัด มัสยิด ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน โรงเรียน สถานีอนามัย และห้องสมุดประชาชน เป็นต้น
ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation)
            การดำเนินงานโครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน ประจำ
ปีงบประมาณ 2548 มีกระบวนการที่สำคัญหลายประการ ประกอบด้วย กระบวนการพัฒนาบุคลากร ภาคี และประชาชนเกี่ยวกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กระบวนการวิเคราะห์สภาพความพร้อมของชุมชน กระบวนการสร้างความเข้าใจกับชุมชน บทบาทหน้าที่ของบุคลากร ภาคี และชุมชน และกระบวนการจัดกิจกรรมในชุมชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
            1. กระบวนการพัฒนาบุคลากร กศน. ภาคี และประชาชนเกี่ยวกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่มีกระบวนการพัฒนา ดังนี้
                        1.1 การพัฒนาบุคลากร กศน. ดำเนินการโดยจัดประชุมชี้แจงนโยบาย
จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และกระบวนการจัดทำแผนชุมชน ตลอดจนจัดให้มีการศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์
                        1.2 การพัฒนาภาคี ดำเนินการโดยจัดประชุมชี้แจงระดับอำเภอ ระดับตำบล และหมู่บ้าน จัดให้มีการฝึกอบรมในชุมชนและการศึกษาดูงาน ประสานงานและติดตามผล
การดำเนินงาน
                        1.3 การพัฒนาผู้นำชุมชนและประชาชน ดำเนินการโดยจัดให้มีการศึกษาดูงาน การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน การส่งเสริมกระบวนการกลุ่มเพื่อพัฒนา
ศักยภาพชุมชน การจัดเวทีประชาคม และการประกวดชุมชน
            2. กระบวนการวิเคราะห์สภาพความพร้อมของชุมชน จากการศึกษาพบว่า
ชุมชนมีการวิเคราะห์สภาพความพร้อมของชุมชนโดยใช้กระบวนการจัดทำและทบทวนแผนชุมชน แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชุมชน แผนชีวิตเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การระดมความคิดเห็น การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายในชุมชน (SWOT Aanlysis) การจัดทำแผนที่ความคิด (Mind Mapping) การวิเคราะห์สาเหตุและผลที่เกิดขึ้น (Cause-and-Effect Analysis)
            3. กระบวนการสร้างความเข้าใจกับชุมชน พบว่า ส่วนใหญ่มีวิธีการประชาสัมพันธ์โดยผนวกสาระโครงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เข้าไปในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน การประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) การประชาสัมพันธ์โดยใช้แผ่นป้าย วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว เครือข่ายนักศึกษา จดหมายข่าว เอกสาร แผ่นพับ การจัดทำเวทีชาวบ้าน และการพบปะประชาชนตามหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการนิเทศตรวจเยี่ยมในพื้นที่และการแนะนำให้ความรู้
            4. บทบาทหน้าที่ของบุคลากร ภาคี และชุมชน จากการศึกษา พบว่ามีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
                        4.1 กศน.มีหน้าที่ส่งเสริมการจัดการความรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน โดยใช้ทุนทางสังคมเป็นฐาน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองและชุมชน รวมทั้งร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
                        4.2 ภาคีทุกภาคส่วนมีหน้าที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามบทบาทภารกิจหรือความเชี่ยวชาญของภาคีนั้นๆ
                        4.3 ชุมชนมีหน้าที่จัดการความรู้ของชุมชน โดยเป็นผู้กำหนดแผน และทิศทางการพัฒนาชุมชน และร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแผนที่กำหนด ตลอดจนติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
            5. กิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน ผลจากการศึกษาพบว่าชุมชนได้ดำเนิน
กิจกรรมการเรียนรู้ที่หลายหลาย โดยจำแนกได้ดังนี้
                        5.1 กิจกรรมการพัฒนาอาชีพ เช่น การพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมและหัตถกรรมในครัวเรือน (เช่น ทอผ้า ผ้าบาติก จักรสาน
ปักจักร จัดทำผลิตภัณฑ์จากไม้ม่วง แกะสลักหินทราย และศิลปะประดิษฐ์ เป็นต้น) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศการเกษตร การเลี้ยงโคขุน
                        5.2 กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การส่งเสริมการออกกำลังกาย (เช่น การเต้นแอโรบิค การเล่นกีฬา) การแพทย์แผนไทย (เช่น นวดแผนไทย สมุนไพร) การผลิตของใช้ในครัวเรือนปลอดสารพิษ (เช่น สบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจาน) กิจกรรมนันทนาการ (เช่น การร้องเพลง การเต้นรำ) ความปลอดภัยทางด้านอาหารและเครื่องดื่ม ความปลอดภัยในชีวิต (เช่น
การป้องกันอุบัติเหตุ การป้องกันยาเสพติดและโรคเอดส์) การปลูกผักปลอดสารพิษ การประหยัดพลังงาน
                        5.3 กิจกรรมการพัฒนาสังคมและชุมชน เช่น การทำบัญชีครัวเรือน การจัดรายการวิทยุชุมชน การแต่งเพลงและการขับร้องเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน กิจกรรมประกวดหมู่บ้าน “ชุมชนน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม ชุมชนเข้มแข็ง” กิจกรรมการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดกิจกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง (เช่น ผักสวนครัว รั้วกินได้ ไก่พื้นเมือง ประมงครัวเรือน)
                        5.4 กิจกรรมการยกระดับความรู้ เช่น การส่งเสริมการอ่าน การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอบรมภาษาต่างประเทศ การอบรมคอมพิวเตอร์
            6. การบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้ดำเนินการโดยกำหนดให้มีเจ้าภาพหลักและผู้มีส่วนร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น การจัดกิจกรรมพัฒนาอาชีพ มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสรรงบประมาณและการแต่งตั้งคณะกรรมการ สำหรับผู้มีส่วนร่วมคือหน่วยงานที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ เช่น ผู้อำนวยการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์โดยมีครู กศน.เป็นผู้ประสานงานการรวมกลุ่มและวิเคราะห์ความต้องการการเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบการจัดทำหลักสูตรการจัดฝึกอบรม และผู้นำชุมชนเป็นผู้เชิญชวนหรือรับสมัครผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ เจ้าภาพหลักและคณะทำงานจะร่วมกันติดตามและประเมินผลการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ สำหรับนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรมอื่นต่อไป
            7. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้มีรูปแบบการดำเนินงานที่
หลากหลาย เช่น การฝึกอบรม การศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสาธิต การฝึกทักษะ
การประกวดและการแข่งขัน การจัดนิทรรศการ การจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา เป็นต้น
ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation)
            การดำเนินงานโครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน ประจำ
ปีงบประมาณ 2548 ได้ก่อให้เกิดผลผลิตของโครงการที่สำคัญหลายประการ ดังนี้
            1. บุคลากร กศน.และภาคี ผลจากการศึกษาพบว่า โดยส่วนใหญ่บุคลากร กศน.และภาคีตามโครงการนำร่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิต สภาพสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน ทำให้ทราบความต้องการของประชาชนในชุมชน และสามารถจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสภาพของชุมชนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งกิจกรรมโดยส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาอาชีพ กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต กิจกรรมพัฒนาสังคมและชุมชน และกิจกรรมยกระดับความรู้
            2. ประชาชนและชุมชน ผลจากการศึกษาพบว่าประชาชนและชุมชนเกิดความตระหนักและมองเห็นสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาของตนเองและชุมชน และได้เข้าร่วมพัฒนาชุมชน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้ และทุนทางสังคมเป็นฐาน ตลอดจนการระดมและสนับสนุนทุนในการดำเนินงาน ประชาชนเกิดนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมากขึ้น ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลายและต่อเนื่องจำนวน 166 ชุมชน และเกิดแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนมากกว่า 440 แห่ง รวมทั้งมีการขยายผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จไปยังชุมชนใกล้เคียงและการเกิดกระบวนการถ่ายทอดความรู้จากชุมชนหนึ่งไปยังชุมชนอื่นๆ
            3. ความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ ผลจากการศึกษาพบว่าได้เกิดการประสานงานของทุกภาคส่วน โดย กศน.เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการจัดการความรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน และภาคีทุกภาคส่วนทำหน้าที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามบทบาทภารกิจหรือความเชี่ยวชาญของภาคี  โดยชุมชนมีหน้าที่จัดการความรู้ของชุมชน เป็นผู้กำหนดแผนและทิศทางการพัฒนาชุมชน ร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแผนที่กำหนด ร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาโครงการและกิจกรรมที่ได้ดำเนินการให้คงอยู่ต่อไป  รวมทั้งร่วมรับผลประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการของกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าว
 

ผลลัพธ์
            จากการศึกษาพบว่า
1. ประชาชนในชุมชนมีความกระตือรือร้นในการร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้
2. มีการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
3. มีการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาด้านอื่นๆ ของชุมชนมากขึ้น
4. ชุมชนมีการพัฒนามีแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
5.ชุมชนสามารถกำหนดแผนและทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพและความ
ต้องการของชุมชน
6. ชุมชนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานตามแผนชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 7. ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้โดยใช้ทุนทางสังคม มีแกนนำที่เข้มแข็งและมีการขยายเครือข่ายกว้างขวางยิ่งขึ้น
8. ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชุมชนหนึ่งไปยังชุมชนอื่นอย่างเป็นระบบ

หมายเลขบันทึก: 6187เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2005 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
เพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานราชการให้เหมือนเทียบเท่าข้าราชการ และบรรจุครู ศรช. เป็นพนักงานราชการด้วย ขอบคุณมาก
บุคลากร กศน. ปัตตานี
การทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลำบากมาก ขออนุมัติค่าเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับครู กศน. ทุกคน ชีวิตครู กศน. ไม่มีความสำคัญหรืองัยถึงได้ให้เสี่ยงภัยเฉพาะกลุ่ม
ไม่มีรูปเลยโว้ยยยยยยยยยย!!!!!!!!

เรียน ท่านที่เคารพอย่างสูง

           ลูกจ้างประจำที่มีความรู้ ความสามารถ มีวุฒิภาวะ เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ ทำงานได้ดี สร้างงาน การศึกษา มาแล้วอย่างมากมาย ก็อยากจะก้าวหน้า อยากจะมีเกียรติอยู่ในสังคมได้อย่างสง่าผ่าเผยด้วยเช่นกัน  ลูกจ้างประจำคนกลุ่มเหล่านี้ ถูกกำหนดไว้โดยระเบียบเก่า ๆเกือบจะครบ 100 ปีแล้ว เห็นสมควรได้รับการพัฒนาให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีช่องทางเจริญก้าวหน้ากับ เจ้าหน้าที่ส่วนอื่น ๆ กับเขาบ้าง 

             ขอเรียนตามตรงว่าหากรัฐบาลปรับโครงสร้าง หรือกำหนดระเบียบให้เข้ากับสภาพความจริงปัจจุบันสำหรับลู้กจ้างประจำที่ จบปริญญาตรี ปริญญาโท ผ่านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ มาแล้วอย่างมากมาย บางคนยังทำหน้าที่แทนผู้บริหารได้ก็ยังมีเยอะแยะมากมาย  ตรวจสอบคุณสมบัติได้ไม่ใช่เรื่องยากเลยสักนิด

             จึงเรียนมาเพื่อได้โปรดพิจารณารับฟังด้วยเถอด 

ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคนนะคะ  หน้าที่เราชาว กศน.คือการพัฒนาสังคมและชุมชนให้เข้มแข็ง  การที่เราจะพัฒนาสังคมหรือชุมชนได้ กระบวนการหนึ่งในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งนั้น  คือการสร้างสังคมนั้นเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และการที่เราจะสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้   มองใกล้ตัวก่อนเราจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตัวเราเองได้หรือยัง  เมื่อจัดการได้แล้วเราพร้อมจะแบ่งปัน หรือแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นหรือยัง  ถ้าเรายังจัดการไม่ได้  หวงความรู้ หรือไม่แน่ใจในความรู้ที่เรามี หรือไม่แบ่งปันประสบการณ์ดีดีที่เรามีให้ผู้อื่นรับรู้  เราก็ไม่สามารถสร้างสังคมที่เราอยู่ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้  หรือผู้มีส่วนในการจัดการความรู้ เช่นผู้บริหาร  เพื่อนร่วมงาน  เปิดโอกาสให้สังคมนั้นเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของการทำงานซึ่งกันและกันหรือยัง  ถ้ายัง ทำใจให้สบาย ๆ นะคะ  เริ่มต้นกันใหม่นะคะ หาเวทีแลกเปลี่ยนในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ให้โอกาสทุกคนได้เล่าเรื่องที่ประสบความสำเร็จของตนเองให้ผู้อื่นฟังบ้าง  มองกันในแง่บวก มีการยกย่องชมเชย หรือให้รางวัล  เราก็ยินดีที่จะแบ่งบันความรู้ให้กันและกันได้ ซึ่งก็จะส่งผลให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่น่าอยู่ และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไม่ยากเย็น

งานการศึกษานอกโรงเรียนมีความลำบากมาก อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ คนในสังคมพลาดโอกาสในระบบ กศน.เป็นผู้คอยประสานความแตกต่างเหล่านั้น หากแต่การปฏิบัติงานนั้นกับยากลำบากอีกทั้งไม่ได้รับการสนันสนุนเท่าที่ควร บุคลากรที่เขาปฏิบัติหน้าที่ควรได้รับขวัญและกำลังใจที่ดี ขอให้ครูกศน. ไดรับขวัญและกำลังใจเหล่านั้นด้วยเถอะ
เมื่อไรจะมีการบรรจุ ครู ศรช. เป็นพนักงานของรัฐบ้างครับ เพราะทุกวันนี้ต้องทำงาน รับผิดชอบมากว่า พนักงานเสียอีก ทั้งงานด้านอาชีพ งานสามัญ และยังมีของแถมอีกคือ งานในสำนักงาน เหนื่อยจากงานไม่เท่าไร ทนได้ แต่เหนื่อยจากอย่างอื่นนี้ซิครับ ขอบอกแย่มาก ๆๆๆๆๆๆๆๆ
ขอนำผลการประเมินไปใช้บ้างนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท