ครูปฐมวัยในศตวรรษที่ 21


“อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับการอบรม สั่งสอนของครู”

การศึกษาปฐมวัยนับเป็นการวางฐานรากชีวิตให้มั่นคงและแข็งแรง การที่จะพัฒนาคนให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขต้องพัฒนา ทั้งทางด้านจิตใจ ร่างกาย ปัญญา และสังคม เริ่มพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี เพราะหากเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาที่สมดุลครบ 4 ด้าน ก็จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มีความสามารถในการดำรงชีวิต มีประสบการณ์ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี รอบคอบทางความคิด กล้าตัดสินใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค มีการวางแผนในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาตนเองให้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้เพื่อการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อไป

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากจะพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้านั้น ต้องมีการวางรากฐานสังคมให้มั่นคงและแข็งแรงเพราะสังคมจะดีได้นั้น ต้องอาศัยคนที่อยู่ในสังคม การพัฒนาคนก็ต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่เด็กปฐมวัยจึงจะเป็นการวางรากฐานในชีวิตอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยโดยตรงคือ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครูปฐมวัย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการอบรมเลี้ยงดูให้ความรัก และแนะนำแนวทางที่ถูกต้องให้กับเด็ก ดังนั้นครูปฐมวัยจึงมีหน้าที่ในการพัฒนาเด็กให้มีความรู้ความสามารถ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ ครูปฐมวัยจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เป็นครูในศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาแนวการสอนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจึงมีการเปรียบเทียบครูปฐมวัยในลักษณะพิเศษดังนี้

***ครูปฐมวัยต้องเป็นเหมือน “ผึ้ง” ซึ่งมีคุณลักษณะที่ ขยัน เพราะครูปฐมวัยจะต้อง ขยันพัฒนาตนเอง พัฒนานวัตกรรม พัฒนาเทคนิควิธีการ ทำงานเป็นทีมอย่างมีระบบ

***ครูปฐมวัยต้องเป็นเหมือน “เหยี่ยว” ซึ่งมีสายตาที่กว้างไกล มีทวงท่าที่สง่างาม มั่นคง ซึ่งเป็นการบ่งบอกของความเป็นครูมืออาชีพ

***ครูปฐมวัยต้องเป็นเหมือน “นกฮูก” ที่มีความสุขุมลุ่มลึก สงบ เยือกเย็น รอบคอบ

***ครูปฐมวัยต้องเป็นเหมือน “แรด” ที่มีความอดทน แข็งแรง บากบั่น ไม่ท้อถอย

โดยลักษณะครูปฐมวัยที่ดีในศตวรรษที่ 21 มีดังนี้

1. มีความสนใจเสาะแสวงหาความรู้ กระตือรือร้นที่อยากเรียนรู้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

2. มีความรอบรู้ด้านปรัชญาการศึกษา นโยบายทางการศึกษา กฎหมายการศึกษา มาตรฐานวิชาชีพครู มาตรฐานการศึกษา จิตวิทยาการศึกษาและหลักสูตรการสอนทั่วไป

3. มีความรอบรู้ความสามารถที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์และทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยสามารถเชื่อมโยงสภาพท้องถิ่นเข้ากับมาตรฐานสากลในลักษณะสหวิทยาการมีความรู้ความสามารถในวิธีการแสวงหาความรู้

รู้จักและเข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน

4. มีความรู้และทักษะในวิชาชีพที่สอนอย่างลุ่มลึก ชัดเจน สามารถสอนแล้วผู้เรียนเข้าใจมีความสามารถเรียนรู้ได้และสนุกกับการเรียนรู้ สอนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเต็มความสามารถ เต็มเวลา และเต็มหลักสูตร

5. มีความสามารถในการสร้างบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่กระตุ้นความสนใจใฝ่รู้และมีความสุข สนุกในการเรียนการสอนมีความสามารถในการสังเกตและรู้จักแก้ไขพฤติกรรม การเสริมแรงและการลงโทษที่เหมาะสม

6. มีทักษะในการสอนอย่างเชี่ยวชาญและสร้างสรรค์การเรียนรู้จนสามารถพัฒนาผู้เรียนได้เต็มศักยภาพตามความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยปลุกเร้าให้ผู้เรียนแสดงความสามารถอย่างเต็มที่

7. เน้นการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนองผู้เรียนเป็นสำคัญ

8. มีความรู้และความเข้าใจในเป้าหมายและวิธีการของหลักสูตรและการสอน

9. มีความสามารถในการออกแบบ วางแผนการสอนการบริหารจัดการชั้นเรียน วิจัยและพัฒนาการสอน

10. มีความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถวัดผลประเมินผลพัฒนาการของการเรียนรู้ได้หลายวิธีได้อย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ

11. มีความรัก ศรัทธาที่จะเป็นครู มีความเมตตากรุณาและเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์

12. มีจริยธรรม มีกริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย วางตนอยู่ในศีลธรรมอันดีเปี่ยมด้วยคุณธรรมฝึกหัดปฏิบัติตนยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพครูโดยชี้แนะทางถูกต้องแก้ไขสิ่งผิดและยึดมั่นตามหลักศาสนา

13. มีบุคลิกภาพดีเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กและสาธารณชน ในด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และการดำรงชีวิต

14. มีความรับผิดชอบในหน้าที่มุ่งมั่นในการทำงาน ทำงานเป็นระบบและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

15. มีความสามารถในการปลูกฝังวินัย คุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่ดี และถูกต้องต่อผู้เรียน

16. ความสามารถในการจัดระเบียบเนื้อหาสาระการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับพัฒนาการผู้เรียนและมีความสามารถพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นได้ตรงความต้องการของท้องถิ่น

ดังนั้น ครูปฐมวัยที่ดีในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นผู้ที่ขยัน อดทน สงบ มีสมาธิดี รักและเอื้ออาทรต่อศิษย์ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และต้องมีความสามารถในการประเมินผลสำเร็จโดยดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นในเด็กแต่ละคน แล้วให้เด็กสะท้อนการเรียนรู้ตลอดเวลา และที่สำคัญต้องเชื่อมั่นว่า เด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้

หมายเลขบันทึก: 619231เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2016 01:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2016 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีนักอ่านที่น่ารักทุกท่านค่ะ ขอขอบคุณสำหรับการเข้ามาเยี่ยมชมผลงานนะค่ะ

เยี่ยมมากค่ะ​ ที่เห็นความสำคัญกับ​เด็กซึ่งดิฉันเอง​ อยากพัฒนาเด็กให่เป็นเด็กมีระเบียบพัฒนาการครบ4ด้าน​ เพื่อเด็กโตขึ้นพร้อมที่เรียนชั้นสูงตามลำดับต่อไป​ ถ้าเราสามารถสร้างเครือข่าย​ จัดอบรมเชื่ิอได้ค่ะประเทศ​ไทยเราก็ไม่แพ้ชาติ​ใด​เหมือนกันค่ะยินดี​ และพร้อมพัฒนาตนเองตลอดค่ะถึงแม้จะพบอุปสรรค​ไม่เคยหวั่นค่ะขอบคุณ​นะคะที่นำสิ่งดีๆเพื่อก้าวสู่ศตวรรษ​ที่21ค่ะ​ พร้อมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท