ดนตรีเพื่อการแบ่งปัน ปั้นฝันปันรักสู่เยาวชนด้อยโอกาส


โครงการดนตรีแบ่งปัน โดยมีวัตถุประสงค์ใช้ดนตรีเข้าไปสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กๆ ในชุมชน เพื่อป้องกันเด็กไปขลุกอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น ร้านเกม หรือแหล่งมั่วสุมยาเสพติด โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครทั้งนักดนตรีและครูอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรมนับร้อยคน

<img src="https://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/001/192/604/large_musicsharing1.JPG" "="">

ดนตรีและเสียงเพลง คือสิ่งที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเลือกมอบให้กับเด็กๆ และเยาวชนที่ด้อยโอกาส เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนเหล่านั้น ได้รู้ว่า ตัวเองมีคุณค่าและยังมีที่ยืนอยู่ในสังคม ขณะเดียวกัน “ผู้ให้” ก็อิ่มเอมใจที่ได้เห็นผู้รับมีความสุข


ศิริพร พรหมวงศ์ หรือ “ครูแอ๋ม” ครูอาสาในโครงการ Music sharing และครูผู้สอนดนตรีให้กับเด็กที่ขาดโอกาส กล่าวว่าได้เปิดตัวโครงการดนตรีเพื่อการแบ่งปัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้เด็กๆ ที่ขาดโอกาส ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตผ่านเสียงดนตรี โดยเปิดรับบริจาคเครื่องดนตรีเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน รับสมัครครูอาสาสอนดนตรี ร่วมลงสอนดนตรีให้เด็กๆ ในพื้นที่ชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีมืออาชีพ ขอเพียงมีความรักในเสียงดนตรี มีความรับผิดชอบ และตั้งใจจริง และรับสมัครวงดนตรีอาสามาเปิดหมวกและร่วมแสดงดนตรีในงานต่างๆ เพื่อเป็นพื้นที่แสดงออกทางดนตรีเป็นแรงบันดาลใจ และช่วยระดมทุนช่วยเหลือเด็กๆ

<img src="https://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/001/192/608/large_FB_IMG_1479314780047.jpg" "="">

โครงการ Music sharing เกิดจากกลุ่มครูอาสา 4 คนที่รักเสียงดนตรีและสนใจทำงานภาคสังคม เริ่มต้นจากครูอาสาไปสอนดนตรีให้กับเด็กในชุมชนคลองเตย 5 ปีมาแล้ว โดยได้รับเงินบริจาคมาซื้อเครื่องดนตรีและระดมทุนจากการเล่นดนตรีเปิดหมวก ต่อมาได้ขยายสู่พื้นที่อื่นที่เป็นย่านชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานคร

ในปี 2557 ได้เขียนโครงการขอทุนจาก สสส.ในชื่อ โครงการดนตรีแบ่งปัน โดยมีวัตถุประสงค์ใช้ดนตรีเข้าไปสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กๆ ในชุมชน เพื่อป้องกันเด็กไปขลุกอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น ร้านเกม หรือแหล่งมั่วสุมยาเสพติด โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครทั้งนักดนตรีและครูอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรมนับร้อยคน

ปัจจุบันโครงการดนตรีเพื่อการแบ่งปันได้เริ่มขายเครือข่ายไปทั่วประเทศแล้วประมาณ 20 ชุมชน ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ อีสาน สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ มี 3 พื้นที่ เช่นที่เขตคลองเตย กำหนดการสอนเครื่องดนตรีสากลทุกประเภทในวันพฤหัสบดี และวันเสาร์, ที่ชุมชนวัดปรก สอนดนตรีสากลทุกประเภททุกวันศุกร์ และที่ชุมชนกุฎีดาว สอนกีตาร์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์


ศิริพร เล่าด้วยว่า ล่าสุดได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครผ่านทางเฟซบุ๊คเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีผู้สนใจมาร่วมขอมาเป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัครจำนวน30 คน บางคนเป็นนักศึกษาที่เรียนเอกดนตรี ครูสอนดนตรี และนักร้องจากวงทียู แบนด์ (TU Band) เป็นต้น โดยได้พูดคุยร่วมกันถึงกิจกรรมที่จะเริ่มสอนดนตรีแต่ละพื้นที่ เพื่อดูความพร้อมของอาสาสมัครแต่ละคนทั้งเรืองการเดินทาง และเวลาว่างของแต่ละคน


สำหรับการเข้าไปสอนดนตรีในพื้นที่ชุมชนนั้น ศิริพร บอกว่า จะเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นหลักเพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่อง เพราะอาสาสมัครจะไม่สามารถฝังตัวอยู่ได้ตลอดไป นอกจากนี้จะเน้นให้เด็กๆที่มาเรียนได้มาเป็นรุ่นพี่ที่จะสอนน้องๆ ในชุมชนต่อไป รูปแบบการทำงานแบบนี้เกิดขึ้นแล้วที่ชุมชนคลองเตย กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งโดยผ่านกระบวนการทางทางดนตรี และสามารถต่อยอดไปสู่การเป็นจิตอาสาในชุมชน ทำให้เด็กๆ มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนด้วย อย่าง เด็กบางคนเลิกติดเกม หันมาเล่นดนตรีแทน ขณะที่เด็กบางคนเข้าใจว่าโลกที่อยู่ภายนอกชุมชน มีอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่

“เคยพาเด็กจากคลองเตยไปเล่นดนตรีข้างนอก เชื่อมั้ยว่า เด็กไม่เคยได้ยินคำพูดสุภาพ อย่าง ครับ คะ มาก่อนเลย เขาหันมาถามเราว่าทำไมต้องพูดออกมาอย่างนี้ เพราะเขาได้ยินแต่คำพูดหยาบคายและเสียงด่าเป็นประจำ จนไม่รู้มาก่อนว่ายังมีคำสุภาพที่คนทั่วๆ ไปเขาพูดกันอยู่” ครูแอ๋ม เล่า


ทิศทางต่อไปของโครงการMusic sharing ในอนาคต ครูแอ๋มเตรียมแผนที่จะทำเรื่องกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กๆ ที่ตั้งใจอยากเรียนด้านดนตรีอย่างจริงจัง ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะมองว่าเด็กที่มาจากชุมชนโอกาสที่จะได้เรียนต่อด้านดนตรีเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้ทุนทรัพย์สูงมาก


ทางด้าน เพชรประเสริฐ ศิลาสถาพร หรือ น้องเพชร นักศึกษาวิชาสาขาดนตรี สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา ชั้นปีที่ 3 อาสาสมัครครูสอนดนตรี บอกเหตุผลที่ร่วมโครงการ Music sharing ว่า ถ้าเวลาว่าง ก็รับจ้างสอนดนตรีให้กับเด็กๆ อยู่บ้างในกรณีที่อาจารย์ตัวจริงไม่อยู่ และที่สำคัญได้เล่นดนตรีด้วย และล่าสุดได้ไปสอนกีตาร์ให้กับเด็กๆ ในอำเภอจะนะ จ.สงขลา เห็นว่าเด็กในต่างจังหวัดสนใจมาเรียนดนตรีมาก มีทั้งเด็กและวัยรุ่น ซึ่งการสอนมีเทคนิคที่ต่างกันอย่างเด็กเล็กๆ ซึ่งครูจะต้องเล่นให้ดูก่อน ส่วนวัยรุ่นขึ้นมาหน่อยจะสอนให้เขาจับคอร์ดได้เลย

เช่นเดียวกับ อลิน วี อาสาสมัครMusic sharing วัย 22 ปี นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ที่บอกว่า เป็นกิจกรรมที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมและตัวเองได้ทำในสิ่งรัก คือเล่นกีตาร์ ทำให้เราได้ฝึกฝนตัวเองไปด้วย


หมายเลขบันทึก: 618670เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท