"สนฺติเมว สิกฺเขยฺย" พึงศึกษาซึ่งสันติเท่านั้น


"Peace is a subject that should be studied."

"สนฺติเมว สิกฺเขยฺย" พึงศึกษาซึ่งสันติเท่านั้น (เรื่องสันติภาพนี้ เป็นสิ่งที่ควรศึกษา)
ถ้าจะว่าไปแล้วมีพุทธศาสนสุภาษิตหลายข้อที่ผู้รู้ผู้ทรงภูมิ ได้อธิบายไว้ให้ได้ศึกษา และนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ เหมาะกับชีวิตในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์บ้านเมือง ดังพุทธพจน์ที่ว่า "สนฺติเมว สิกฺเขยฺย" แปลได้ว่า "พึงศึกษาความสงบแล"

ตั้งแต่สมัยอดีตกาล ผู้คนต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและสงบสุขสบาย ไม่มีความเดือดร้อนมากมายนัก บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันจึงเป็นไปอย่างผาสุขและเป็นมิตร ถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความสมานสามัคคี อนึ่ง ความสงบย่อมดีกว่าความวุ่นวาย ที่ใดไม่สงบที่นั้นมีแต่ความขัดแย้ง ขาดความปรองดอง ขาดการประนีประนอม ขาดสันติภาพ ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เน้นหนักเรื่องการประพฤติดี ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ คือการสำรวมกายไม่ให้เกะกะระรานคนอื่น ไม่หยิบฉวยสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ ไม่ละเมิดสามีภรรยาและบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่คู่ครองของตน สอนให้ระวังการใช้คำพูด อย่าให้เป็นประเภทตนเองดีที่สุด ถูกที่สุด โดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง ทั้งยังยุยงส่งเสริมให้คนแตกแยก พูดจาโกหก ถ้อยคำหยาบคาย เหลวไหลไร้สาระ โดยเนื้อแท้แล้วพระพุทธศาสนานั้น สอนให้คนมีมโนสำนึกในทางที่ถูกต้องสร้างสรรค์ เมื่อแต่ละคนได้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติด้วยความสำรวมดีแล้ว ความวุ่นวายต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น สันติภาพย่อมเกิดแก่โลก หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ การเน้นย้ำในเรื่องสติ จะคิด จะทำ จะพูดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องมีสติกำกับเสมอเป็นปกติ สังคมจึงจะไม่เกิดความวุ่นวาย

"สติ" ถือเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก เป็นสิ่งที่จะช่วยประคับประคองการกระทำ คำพูด ความคิดของคนเราให้อยู่ในครรลอง เป็นตัวช่วยขจัดความยุ่งเหยิงในชีวิตได้เป็นอย่างดี คำว่า "สติ" นั้นแปลว่าความระลึกได้ เป็นกุศลธรรมที่ช่วยปลุกเตือนให้คนรู้ตัวอยู่เสมอ ดังเช่นเวลาที่ชีวิตประสบความยุ่งเหยิง บางครั้งหาทางออกไม่ได้ มัวหลงระเริงในโลกียวิสัย มัวเมาในอบายมุข บางเวลามีสิ่งไม่ถูกใจไม่พอใจมากระทบ เกิดอารมณ์หงุดหงิด ขัดเคือง ส่งผลให้บางครั้งมองโลกในแง่ร้าย บางครั้งเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่าน เกิดลังเลสงสัย ซึ่งความยุ่งเหยิงสับสนเหล่านี้ ถ้าเพียงแต่เราน้อมใจไประลึกรู้ โดยใช้สติเหนี่ยวรั้งจิตใจไว้ให้ถอยห่าง ชีวิตก็จะไม่เกิดความสับสนวุ่นว่าย ไม่คลอนแคลนไร้หลักยึด แต่ในทางกลับกันหากว่าเราขาดสติ โอกาสที่จะมีความเห็นที่ผิด และดำเนินชีวิตผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น "สติ" จึงเป็นข้อธรรมะที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทว่ามีการกล่าวถึงกันอยู่ทั่วไป แต่สังคมไทยยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในยามนี้ ดูช่างจะเหมาะจริงๆ ที่ควรจะตอกย้ำและเน้นให้เห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็น และประโยชน์ของการใช้ชีวิตอย่างมีสติระลึกรู้ โดยให้ระลึกอยู่เสมอว่าคนมีสตินั้น มีความเจริญอยู่ทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้รับความสุข และเป็นผู้ประเสริฐทุกวัน เพราะสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นทำคืนไม่ได้

พระพุทธศาสนามุ่งย้ำเตือนให้มนุษย์มีความรอบคอบ ทั้งก่อนทำและทั้งก่อนพูด เพราะมีหลายเรื่องที่ทำให้ผู้กระทำลงไปโดยไม่ยั้งคิด ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในภายหลัง ซึ่งแม้ว่าคนที่ทำผิดไปแล้ว อยากจะลบหรือแก้การกระทำผิดของตนให้ถูกต้อง หรือให้เป็นอันไม่ได้ทำ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ คนที่ปล้นเขา ฆ่าเขาก็เป็นอันว่าทำกรรมคือปล้นฆ่า และจะทำคืนหรือลบล้างการกระทำของตนนั่นย่อมเป็นไปไม่ได้ คนที่พูดจาดูถูกดูหมิ่นคนอื่นและทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหน้าเสียหาย เมื่อรู้สำนึกรู้สึกตัว อยากกลับคำพูด มีความประสงค์จะทำคืนไม่ให้เป็นอันด่า หรือดูหมิ่นผู้อื่นนั้นก็กระทำไม่ได้แล้ว เพราะตนได้กระทำกรรมลงไปแล้ว ก็เนื่องด้วยเหตุที่กรรมชั่วที่ตัวทำไปแล้วทำคืนไม่ได้นั้นเอง จึงทำให้คนเราเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์และอยากหนีจากภาวะแห่งความทุกข์นั้น ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่าจงพิจารณาให้ดีก่อนแล้วจึงลงมือทำ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ" (สิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้) ด้วยประการฉะนี้เอง

แผลเก่าแผลเป็นให้เวลาเยียวยาค่อยจางไป แต่อย่าเพิ่มแผลใหม่ให้ยิ่งดูน่าเวทนา
..สิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้..

ม.อุป.๑๔/๔๓๖; นัย.ม.อุป. ๑๔/๔๓๖.

---------------------------------------------------

ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครอง
อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

หมายเลขบันทึก: 618648เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท