เสียงจากนิสิตวิชาภาวะผู้นำ : จิตอาสาพัฒนาร่องน้ำชุมชน (อารียา สินทะรมย์)


แต่ละกลุ่มจะทำหน้าที่ขุดลอกร่องระบายน้ำ เก็บขยะกวาดขยะ เผาขยะ ดายหญ้า บันทึกภาพและแจกจ่ายสวัสดิการตามเส้นทางที่ตนเองรับผิดชอบ ใครเหนื่อยก็เปลี่ยนหน้าที่กัน ทุกคนได้ทำและได้เรียนรู้การทำงานกันทุกหน้าที่ โดยเมื่อผ่านบ้านแต่ละหลัง ถ้ามีคนอยู่ก็จะได้รับการทักทายที่ดี ชาวบ้านจะเรียกให้กินน้ำกินท่า แนะนำวิธีทำความสะอาดร่องน้ำ พูดคุยเรื่องปัญหาของร่องน้ำ รวมถึงช่วยเราทำงานเท่าที่จะสะดวก สิ่งเหล่านี้หนูถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับชาวบ้านด้วยเหมือนกัน





หนูชื่อนางสาวอารียา สินทะรมย์ ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ตอนนี้รับบทบาทหัวหน้ากลุ่มโครงการ ‘ชักร่องเพื่อชุมชน’ บ้านหนองคู ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการในรายวิชาภาวะผู้นำ ประจำภาคเรียนที่ 1/2559

หนูไม่รู้หรอกนะคะว่าทำไมเพื่อนๆ ถึงมอบหมายให้หนูเป็นหัวหน้า บางทีอาจเป็นเพราะช่วงแบ่งกลุ่มทำงานหนูชอบที่จะแสดงความคิดเห็นและอาสาทำงานในกลุ่มอยู่ตลอดเวลาค่ะ เพื่อนๆ จึงคิดว่าเราเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้า อีกอย่างคงเพราะหนูเคยทำโครงการนี้มาแล้ว พอได้มาเรียนวิชาภาวะผู้นำ หนูจึงเสนอโครงการขึ้นมาอีกครั้งและเพื่อนๆในกลุ่มต่างก็เห็นด้วย และมอบหมายให้หนูเป็นหัวหน้ากลุ่มเพราะหนูเคยทำและคุ้นเคยสถานที่มาก่อน






เหตุที่กลุ่มของพวกเราเลือกบ้านหนองคูเป็นสถานที่กิจกรรม ตอนนั้นในกลุ่มไม่มีใครเสนอชุมชนหรือเรื่องที่อยากจะทำเท่าใดนักค่ะ ทั้งๆ ที่หนูก็พยายามกระตุ้นให้สมาชิกได้แสดงคามคิดเห็นแล้วนะคะ พอเงียบไปหนูก็เลยแชร์ประสบการณ์ว่าเคยไปขุดลอกร่องระบายน้ำในหมู่บ้านแห่งนี้เมื่อภาคเรียนที่ 2/2558 ซึ่งตอนนั้นหนูเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 เป็นกิจกรรมวิชาที่มีชื่อว่า ‘วิชาสหศาสตร์’

หนูเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า หมู่บ้านแห่งนี้ชาวบ้านใจดีมากๆ ค่ะ ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของนิสิตดีมาก ถึงแม้จะอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามแต่ก็น่าสนใจ ส่วนความเงียบที่ว่านั้นส่วนหนึ่งหนูก็พอเข้าใจค่ะว่าเพื่อนยังใหม่ไม่มีประสบการณ์ด้านกิจกรรมกัน เลยไม่รู้จะเสนออะไรดี แต่หนูก็ไม่อยากให้เงียบ อยากให้ช่วยกันคิดไม่ใช่เงียบเหมือนไม่สนใจ บางทีหนูก็อดคิดแบบนั้นไม่ได้เหมือนกันค่ะ






เบื้องต้นหนูเล่าให้เพื่อนๆ ฟังเหมือนกันว่าหลายๆ ที่ค่อนข้างมีการจัดการเรื่องร่องระบายน้ำดีอยู่แล้ว ถ้าจะทำเรื่องนี้ในเขตใกล้ๆ มหาวิทยาลัยฯ ก็จะลำบากเพราะอยู่ในช่วงน้ำท่วมขังและกำลังซ่อมแซมถนน อีกทั้งทางผู้ใหญ่บ้าน (นายนิออน ชิณปะ) ได้ขอความร่วมมือมา เนื่องจากหลังหมดหน้าฝนแล้วร่องน้ำหน้าบ้านของแต่ละครัวเรือนมีเศษขยะเศษใบไม้อุดตันอยู่เป็นจำนวนมาก บางที่เกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และด้วยคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ บางคนไม่สามารถขุดร่องน้ำหน้าบ้านตนเองได้ จึงได้มาขอความร่วมมือกับกลุ่มนิสิต

หนูยอมรับค่ะว่าทำงานครั้งนี้มีปัญหายุ่งยากหลายเรื่อง นัดประชุมกันยากมาก แทบจะเรียกว่าประชุมนอกเวลาเรียนไม่ได้เลยก็ว่าได้ ตั้งเฟชบุ๊คกลุ่มขึ้นมาแต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จนต้องปรับแผนมาประชุมหลังเลิกเรียนในวิชานี้เลยถึงจะได้คุยกัน เพื่อนหลายต่อหลายคนมักจะบอกว่าไม่ค่อยมีเวลา ยิ่งแต่ละคนอยู่ต่างคณะกัน พอชวนลงสำรวจพื้นที่และประสานงานในหมู่บ้านก็ลำบากมาก บ่อยครั้งเข้าหนูก็แอบน้อยใจเพื่อนเหมือนกันค่ะ แต่เมื่อเป็นหัวหน้าแล้วก็ต้องอดทนให้มากค่ะ ซึ่งหนูกับเพื่อนเพียงไม่กี่คนก็ต้องลงพื้นที่กันเอง ทั้งๆ ที่เป็น ‘ผู้หญิง’ แต่หนูก็เข้าใจเพราะเวลามันไม่ตรงกันจริงๆ






ข้อดีของโครงการนี้คือเป็นหมู่บ้านที่หนูคุ้นเคย เพราะเคยมาทำกิจกรรมแล้วครั้งหนึ่ง ผู้นำชุมชนเข้มแข็งมาก ชาวบ้านทุกคนให้ความเป็นกันเอง น่ารักและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งหนูคิดว่านี่คือจุดแข็งของชุมชนนี้ และความที่หนูคุ้นเคยกับชุมชนและเป็นกิจกรรมเก่าที่จะไป ‘ต่อยอด’ หนูจึงสบายใจในเรื่องของการลงประสานงาน ส่วนใหญ่จึงใช้การประสานผ่านทางมือถือ ซึ่งพ่อผู้ใหญ่บ้านท่านจะใจดีและพูดในทำนองนี้เสมอว่า ‘ยินดี ไม่ต้องห่วงอะไร จะมาก็มาได้เลย’




หนูและเพื่อนลงจัดกิจกรรมในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 กำหนดรูปแบบไว้สองกิจกรรมหลักๆ คือ ‘การขุดลอกร่องระบายน้ำ’ และการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง ‘การจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน’ แต่ในเบื้องต้นชุมชนเองก็อยากให้เลื่อนกิจกรรมออกไปก่อนเหมือนกัน เพราะติดงานเรื่องบุญกฐินและการเกี่ยวข้าว กลัวจะไม่มีคนเข้าร่วมเยอะ เพราะส่วนหนึ่งที่อยู่ประจำจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุในราวๆ 60-70 ปีขึ้นไป ที่เหลือเป็นวัยทำงานที่ต้องออกไปเกี่ยวข้าว ซึ่งพวกหนูก็ได้แจ้งให้ชุมชนได้รู้ว่าเลื่อนไม่ได้จริงๆ ค่ะ เลื่อนไม่ได้เพราะใกล้จะสอบปลายภาค จึงต้องหารือกับชุมชนอีกรอบเพื่อกำหนดวันจัดกิจกรรมให้แน่ชัด





หนองคู : แหล่งน้ำอันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน





กรณีวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ก็ไม่ใช่มติของพวกหนูฝ่ายเดียวนะคะ แกนนำชาวบ้านก็ร่วมกำหนดวันเวลาช่วยด้วยเหมือนกัน เพราะท่านคงเข้าใจและเห็นใจพวกหนู ไหนจะใกล้สอบไหนจะเดินทางไกลคงสงสารไม่อยากให้มาหลายๆ วัน ซึ่งพอถึงวันทำกิจกรรม ชาวบ้านก็นำอุปกรณ์ต่างๆ มาให้ มีครบทั้งจอบ เสียม มีด ไม้กวาด กระติกน้ำ รถเข็น ฯลฯ

พอเราไปถึงหมู่บ้านผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศแจ้งชาวบ้านให้ออกมาช่วยนิสิต นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ว่าระบบเสียงตามสายยังจำเป็นในทุกๆ หมู่บ้าน ซึ่งก็อย่างว่าค่ะส่วนใหญ่ยุ่งอยู่กับการเกี่ยวข้าว บางคนยุ่งอยู่กับการตากข้าวเปลือกที่ต้องคอยระวังไม่ให้สัตว์มาคุ้ยเขี่ย บางคนถึงขั้นต้องนั่งเฝ้าข้าวเปลือกที่ตากอยู่บนถนนเลยทีเดียว เลยลำบากที่จะร่วมเดินเท้าขุดลอกไปกับนิสิต อีกทั้งการตากข้าวบริเวณถนนหน้าบ้านก็กลายเป็นปัญหาในการทำงานของเราเหมือนกัน แต่พวกหนูก็เรียนรู้ที่จะข้ามไป สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขกันตรงนั้น





ถึงแม้ชาวบ้านจะไม่ค่อยได้ออกมาช่วยมากนัก แต่ชาวบ้านมีน้ำใจและอัธยาศัยอันดีมากค่ะ ตอนแรกชาวบ้านแจ้งว่าจะจัดเตรียมข้าวปลาอาหารไว้ให้นิสิตได้ทานร่วมกันในหมู่บ้าน แต่พวกเราก็ปฏิเสธไปค่ะ เพราะไม่อยากให้เป็นภาระของชาวบ้าน รวมถึงเพื่อนอีกหลายคนต้องกลับมาเรียนต่อในภาคบ่าย จึงต้องปฏิเสธไปค่ะ

การทำงานในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะทำหน้าที่ขุดลอกร่องระบายน้ำ เก็บขยะกวาดขยะ เผาขยะ ดายหญ้า บันทึกภาพและแจกจ่ายสวัสดิการตามเส้นทางที่ตนเองรับผิดชอบ ใครเหนื่อยก็เปลี่ยนหน้าที่กัน ทุกคนได้ทำและได้เรียนรู้การทำงานกันทุกหน้าที่ โดยเมื่อผ่านบ้านแต่ละหลัง ถ้ามีคนอยู่ก็จะได้รับการทักทายที่ดี ชาวบ้านจะเรียกให้กินน้ำกินท่า แนะนำวิธีทำความสะอาดร่องน้ำ พูดคุยเรื่องปัญหาของร่องน้ำ รวมถึงช่วยเราทำงานเท่าที่จะสะดวก สิ่งเหล่านี้หนูถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับชาวบ้านด้วยเหมือนกัน







สุดท้ายนี้หนูอยากจะบอกว่ากิจกรรมนี้สอนให้หนูเรียนรู้การจัดสรรเวลา จัดสรรงานต่างๆ มอบหน้าที่ให้สมาชิกในกลุ่ม ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

การทำกิจกรรมครั้งนี้เราต่างได้มิตรภาพดีๆ ได้เพื่อนใหม่ๆ เพราะมีการพูดคุยเรื่องต่างๆ มากกว่าในช่วงที่เรียนในชั้นเรียน การทำกิจกรรมทำให้เราสนิทสนมกันและเริ่มพูดคุยกันได้มากขึ้น บางคนที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับเพื่อนๆ พอทำงานจริงๆ ก็ทำงานดีมากๆ เนื่องจากเข้าใจในการทำงานและมีอารมณ์ร่วมกับการทำงานของเพื่อน ถึงทุกคนจะเหนื่อยแต่ทุกคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใสสนุกและมีความสุขไปกับงานค่ะ ส่วนชาวบ้านก็ใจดีหาน้ำหาผลไม้มาให้กินและพูดคุยกับกลุ่มนิสิตอย่างเป็นกันเอง สิ่งเหล่านี้คือความเป็นทีมที่หนูสัมผัสได้ในขณะที่ทำกิจกรรมกันจริงๆ





สำหรับวิชานี้และการได้ทำกิจกรรมในครั้งนี้ หนูได้เรียนรู้ความเป็นผู้นำหลายเรื่องเลยค่ะ เช่น ความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าตัดสินใจ กล้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การมีความกระตือรือร้นในการทำงาน การเสียสละมีจิตอาสาเพื่อส่วนรวมและการรู้จักที่จะต้องอดทนแบกรับเพื่อการทำงานที่เป็นทีม

เช่นเดียวกับปัจจัยความสำเร็จหนูมองว่าเกิดจากการทำงานร่วมกัน สามัคคีกันของสมาชิกในกลุ่ม ถึงแม้แรกๆ จะมีปัญหากันบ้าง แต่พอถึงระยะเวลาที่ต้องทำจริงในภาคสนาม ส่วนใหญ่ก็จะทุ่มเทและเสียสละ ในส่วนของชาวบ้าน ทั้งผู้นำและสมาชิกในชุมชนต่างก็ให้ความร่วมมือกับนิสิตเป็นอย่างดียิ่ง หากเป็นชุมชนอื่นที่เราไม่คุ้นเคย ภายใต้เวลาอันจำกัดแบบนี้ หนูก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับความร่วมมือจนช่วยให้งานสำเร็จได้หรือไม่




เหนือสิ่งอื่นใดถ้ามีโอกาสหนูก็ยังอยากกลับมาทำกิจกรรมที่นี่อีกเหมือนเดิมนั่นแหละค่ะ ถึงแม้จะไกลไปสักหน่อยหนูก็ยังอยากจะมาอีกค่ะ เพราะชาวบ้านใจดีและให้ความสำคัญกับกิจกรรมของนิสิตมากๆ ค่ะ ส่วนกิจกรรมที่อยากจะทำเพิ่มเติมจะเป็นเรื่องปรับภูมิทัศน์รอบๆ หมู่บ้านให้มีความสะอาดและอาจจะมีการทำแปลงเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละครัวเรือนและตามรั้วบ้านของแต่ละหลังให้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม เพื่อบริโภคและแบ่งปันกันเองในหมู่บ้านและการเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ได้นำไปต่อยอดต่อไป



หมายเหตุ

เรื่อง : อารียา สินทะรมย์ ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
ภาพ : เยาวภา ปรีวาสนา / นิสิตวิชาภาวะผู้นำ

หมายเลขบันทึก: 618547เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2016 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จากกการสอบถาม การลอก หรือดักดินออกจาร่องน้ำ ทำได้ปีครั้งเท่านั้นเอง แต่ถ้าเพิ่มปีละ 2 ครั้ง ก็น่าจะเหนื่อยน้อยลง เนื่องจากดินอัดเต็มท่อจนนำ้ไม่สามารถไหลผ่านได้........การที่มาทำโครงการนี้ ก็เป็นการบอกเล่าจากคนที่เคยมาทำเมื่อปี ที่แล้ว เป็นข้อมูลเดิมที่่นำมาต่อยอด....และหาทางแก้ไขมาหลายรอบ แต่ท้ายที่สุดก็คงทำได้เพียงเป็นการดักออกจากร่องนำ้ถ้าดินเกิดการทับทม นั้นก็เป็นฝึกให้นิสิตได้รู้จักการให้บริการแก่ชุมชนอีกด้วย

ขอบคุณครับ คุณเยาวภา

เอาเข้าจริงๆ แล้ว การเปิดปิดเรียนตามประชาคมอาเซียนก็กระทบกับระบบการเรียนการสอนในแบบไทยๆ อย่างมหาศาลเลย แต่นั่นคือพลวัตที่เราล้วนต้องเรียนรู้

ภาพบางภาพที่สวยงาม คือคนชรา/สูงอายุ ที่ไม่สามารถลงแรงรื้อลอกร่องระบายน้ำได้ก็ยังออกมาดูออกมาให้กำลังใจ สิ่งนี้น่าจะมีความหมายให้ถอดรหัสได้อีกเยอะ

ภาวะที่ชาวบ้านตั้งใจว่าสิ้นหน้าเกี่ยวจะรื้อล้างร่องระบายน้ำ แต่นิสิตก็เข้าไปดำเนินการก่อน มิได้เสียหายอะไร ที่เหลือชาวบ้านก็จะระดมแรงสะสางจัดการกันเองในหมู่บ้าน

สำคัญคือนิสิตของเรา ต้องตอบให้ได้ว่า กิจกรรมในครั้งนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ต่อตัวเขาอย่างไร -----

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท