ชีวิตที่พอเพียง : 2791. PMAC 2018 Working Group Meeting ที่วอชิงตัน ดีซี : คิดการณ์ปกป้องมนุษยชาติ จากโรคระบาดใหญ่



การประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๖๑ ชื่อเรื่องชั่วคราวคือ Accelerating Progress towards Making the World Safe from the Threats of Emerging Infectious Diseases เน้นโรคติดเชื้อดื้อยา (AMR) ดังบันทึกนี้ กับโรคติดเชื้อจากสัตว์ (Zoonosis) โรคทั้งสองกลุ่มรวมกันเรียกว่า “โรคติดเชื้ออุบัติใหม่” (EID – Emerging Infectious Diseases)


การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อ ที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั้งโลกมากที่สุดครั้งล่าสุดเกิดเมื่อ ๙๘ ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1918) มีคนตายทั่วโลก ร้อยละ ๕ - ๑๐ ของประชากรโลก คือมีคนตายจากโรคไข้หวัดใหญ่คราวนั้น ๕๐ - ๑๐๐ ล้านคน


ความเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดใหญ่ในปัจจุบัน เกิดจากหลายสาเหตุที่เกี่ยวพันกันและมีความซับซ้อนมาก ได้แก่

  • การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ทั้งในคน, ในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อกระตุ้นการเติบโต (แปลกที่ ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามใส่ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ แต่ในสหรัฐอเมริกาไม่ห้าม), และในพืชเพื่อป้องกันโรค พืชที่มีการพ่นหรือฉีดยาปฏิชีวินะเข้าลำต้นคือส้ม ในสวนที่ฟลอริดา และที่เชียงใหม่
  • ความไม่รู้เกี่ยวกับไวรัสที่มีอยู่ในโลก เดาว่าน่าจะมีไวรัสที่เราไม่รู้จักประมาณ ๕ แสนชนิด ความมืดบอดทำให้เราไม่สามารถเตรียมการณ์ไว้ป้องกันการระบาดใหญ่ได้ รัฐบาลอเมริกัน โดย USAID จึงริเริ่มดำเนินการโครงการ Global Virome Projectเพื่อให้ “รู้เขา รู้เรา” ในการสู้รบกับเชื้อโรค โครงการนี้จะเป็นอภิมหาโครงการต่อเนื่องจาก The Human Genome Project
  • พฤติกรรมของมนุษย์ช่วยอำนวยความสะดวกในการแพร่เชื้อโรค ซึ่งมีพฤติกรรมหลายแบบ ได้แก่

- การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพของระบบนิเวศน์ หรือที่อยู่ของสัตว์นำโรค เช่นยุง ทำให้มันแพร่ไปดำรงชีวิตอยู่ในเขตที่ไม่เคยอยู่ คือเขตที่อากาศหนาว

- ผู้คนเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ จำนวนมากมาย

- การย้ายถิ่นในพื้นที่ ระหว่างชนบทกับเมือง คือยิ่งนับวันคนชนบทจะมีพฤติกรรม ไปทำงานในเมือง เดินทางกลับไปกลับมาระหว่างเมืองกับชนบท


การประชุมคณะทำงาน จัดที่วอชิงตัน ดีซี เพราะทาง USAID รับเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากเขาเป็นผู้เสนอหัวข้อนี้ ด้วยความเป็นห่วงว่าโลกกำลังมีความเสี่ยงต่อหายนะจากโรคระบาดใหญ่ ของเชื้อโรคที่ ไม่มียารักษา ดัง บันทึกนี้


การประชุมในวันที่ ๑๓ - ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ นี้ มีเป้าหมายเพื่อกำหนดหัวข้อให้ดึงดูด กำหนดเป้าหมายของการประชุมให้ชัดเจน ไม่กว้างหรือเปะปะ และกำหนดหัวข้อย่อย (Sub-Theme) ของการประชุม รวมทั้งประเด็นสำคัญในแต่ละหัวข้อย่อย เพื่อให้สามารถนำไปประกาศเชิญชวน นักวิชาการที่มีผลงานตรงตามรายละเอียดในแต่ละหัวข้อย่อยให้เสนอบทคัดย่อ มาให้เราคัดเลือก และเชิญมาร่วม นำเสนอผลงานในการประชุม


ที่จริงหัวข้อที่มีความสำคัญเช่นนี้ ฝรั่งเขาใช้คำว่าเป็น crowded issue คือมีหน่วยงานต่างๆ สนใจ และจัดการประชุมกันมากมาย จึงเป็นประเด็นที่ PMAC ต้องรับรู้ สำหรับนำมาโฟกัสความจำเพาะของ PMAC ต่อหัวข้อนั้นๆ


Dr. Sylvie Briand, Director, Pandemics and Epidemic Diseases, WHO, Geneva นำเอกสาร Meeting Report : Anticipating Emerging Infectious Disease Epidemics, 1-2 December 2015, Geneva, Switzerland มาแจก เป็นตัวอย่างผู้สนใจอ่านได้ ที่นี่เป็นตัวอย่างของการเป็น over-crowded issue


ในสายตาของผม (ซึ่งเป็นคนตาถั่ว) ยุทธศาสตร์สร้างความปลอดภัยแก่โลกในเรื่องนี้มี ๓ แนวทางใหญ่ๆ เท่านั้น คือ

  • แก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คงทำได้ที่ AMR โดยระงับการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นทั้งพฤติกรรมของคนทั่วไป (ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น) และเป็นเรื่องผลประโยชน์ (ของหมอบางคน และของบริษัทขายยา และบริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตอาหาร) ต้นเหตุจำนวนมากแก้ยากหรือแก้ไม่ได้ เช่นการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส
  • พัฒนาวัคซีนหรือยาไว้รับมือ ซึ่งเป็นงานของนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
  • พัฒนาความเข้มแข็งทางระบาดวิทยาเอาไว้รับมือ ซึ่งเป็นงานของนักวิทยาศาสตร์ด้าน การจัดการระบบ หรือบูรณาการหลายศาสตร์ รวมทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์


นวัตกรรมที่มีการเสนอในที่ประชุม ที่ใหม่สำหรับ PMAC คือ กิจกรรมก่อนการประชุม และกิจกรรมหลังการประชุม ที่หลายหน่วยงานเจ้าภาพร่วม (Co-Host) จะทำ และอยากใช้ชื่อของ PMAC ร่วมในกิจกรรมนั้นด้วย


ที่จริงกิจกรรมก่อนการประชุม และกิจกรรมหลังการประชุม ซึ่งมักจะเน้นที่การสื่อสารสังคม เพื่อสร้างความตระหนักว่าเรื่องนี้แม้โอกาสเกิดไม่สูงมาก แต่หากเกิดขึ้นจะก่อหายนะกว้างขวางมาก ทุกคนในสังคมจึงควรได้รับรู้ และร่วมกันสร้างระบบสังคมที่เข้มแข็งในการป้องกัน เรื่องนี้ทางฝ่ายไทยเรา คุยกันมาตั้งแต่ต้น ว่าเรายังมีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ของ PMAC แก่สังคมไทย ซึ่งสำนักงาน PMAC ไม่มีกำลังทำ ต้องอาศัยบารมีของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ในการรวมพลังหลายฝ่ายในสังคมไทย เพื่อทำงานสื่อสารสังคมก่อนและหลังการประชุม


เช้าวันที่ ๑๓ ตุลาคม ในวอชิงตัน ดีซี เรารู้ข่าวการสวรรคตของในหลวง ร. ๙ แล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันนิ่งสงบ ๑ นาทีเพื่อส่งเสด็จสวรรคาลัย



วิจารณ์ พานิช

๑๕ ต.ค. ๕๙

ห้องพัก ๕๔๘ โรงแรม Marriott at Metro Center, Washington DC


หมายเลขบันทึก: 618537เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2017 07:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท