ชีวิตที่พอเพียง ๒๗๐๐. เพชรฆาตที่มนุษย์สร้าง



นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ ๒๑ - ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ขึ้นปกเรื่องเชื้อโรคดื้อยา และลงบทความ เรื่องเชื้อโรคดื้อยาถึง ๒ บทความ

สาระภาพใหญ่ที่ผมตีความคือ มนุษย์กำลังติดกับดักความสำเร็จของตัวเอง ความสำเร็จในการพัฒนา ยาปฏิชีวนะขึ้นมาใช้ฆ่าเชื้อโรค ที่อาจนำไปสู่หายนะ

บทความแรก When the drugs don’t work ชื่อก็บอกแล้วว่า ยาไม่มีฤทธิ์ อธิบายว่า เพราะเชื้อโรคดื้อยา อธิบายบ่อเกิดว่า เป็นไปตามกฎวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ว่าผู้แข็งแรงที่สุดจะดำรงเผ่าพันธุ์ คือเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรค อาจมีเชื้อโรคบางตัวที่มีการกลายพันธุ์อย่างเหมาะเหม็ง ทำให้ดื้อยา ยาฆ่าไม่ตาย หรือฆ่าไม่ได้ เชื้อตัวนี้จะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเพราะไร้คู่แข่งในการดำรงชีวิตและขยายพันธุ์

เขาบอกว่า เวลานี้ทั้งโลกมีคนตายเพราะเชื้อโรคดื้อยาปีละ ๗ แสนคน หากยังมีพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไม่สมเหตุสมผลอย่างในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 2050 จะมีคนตายด้วยสาเหตุเดียวกัน ๑๐ ล้านคน มากกว่าการตายจากโรคมะเร็ง ซึ่งจะมีเพียง ๘ ล้านคน

ต้นเหตุคือการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ ที่จริงความรู้เรื่องห้ามใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ รู้กันดีมากว่าห้าสิบปีแล้ว เพราะเมื่อตอนผมเรียนแพทย์ อาจารย์ก็พร่ำสอนเรื่องนี้ แต่เวลาผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ การใช้ยาปฏิชีวนะดูจะเพิ่มขึ้น จากการใช้พร่ำเพรื่อในคน โดยหมอสั่งยาโดยไม่จำเป็น หรือคนไข้ไปซื้อกินเองจากร้านขายยา รวมทั้งการกินยาไม่ครบขนาด ทำให้เชื้อไม่ตาย และกลายเป็นเชื้อดื้อยา

ในระยะหลัง อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เป็นตัวการใหญ่ของการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เพราะเอาไปใช้ผสมอาหารเพื่อทำให้สัตว์โตเร็ว และในระยะหลังนี้มีการใช้ในพืช มีตัวอย่างในประเทศไทยในไร่ส้มตามรูป ที่ผมได้มาจาก ศ. นพ. วิษณุ ธรรมลิขิตกุล

บทความหลัง Antibiotic resistance : The grim prospect ลงรายละเอียดมาก และน่าอ่านมาก บอกรายชื่อ เชื้อดื้อยาทีเดียวหลายชนิด ๑๘ ชื่อ และบอกกลไกการแพร่ยีนดื้อยาจากแบกทีเรียตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง หรือจากแบกทีเรียชนิดหนึ่งไปยังแบกทีเรียต่างชนิด ว่าเกิดง่าย เพราะยีนดื้อยาอยู่ในพลาสมิด ที่แบกทีเรียมักแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ



วิจารณ์ พานิช

๑ มิถุนายน ๒๕๕๙



หมายเลขบันทึก: 609905เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2016 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2016 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท