พระกฐินพระราชทานกรมส่งเสริมสหกรณ์ ครั้งสุดท้าย ในรัชกาลที่ 9


พระกฐินพระราชทานกรมส่งเสริมสหกรณ์ ครั้งสุดท้าย ในรัชกาลที่ 9


ผู้เขียนได้ร่วมพิธี ถวายพระกฐินพระราชทานกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี ๒๕๕๙ ถวายพระสงฆ์จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2559 นับเป็น พระกฐินพระราชทานกรมส่งเสริมสหกรณ์ ครั้งสุดท้ายในรัชก่าลที่ 9

พระกฐินพระราชทาน คือ พระกฐินที่ถือว่า ผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐิน เป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควร ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ นอกจากพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอาราม(พระกฐินหลวง)

รัฐบาลโดยกรมการศาสนาจัดหาผ้าพระกฐิน และบริวารพระกฐิน (ปัจจุบันมีจำนวน ๒๖๕ พระอาราม มีรายชื่อตามบัญชีพระอารามหลวง) ซึ่งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม บริษัทห้างร้าน และบุคคลทั่วไป จะต้องยื่นความจำนงขอพระราชทานผ่านไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

และเมื่อถึงกำหนดกฐินกาลก็ติดต่อขอรับ ผ้าพระกฐินและบริวารพระกฐินจาก กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา เพื่อนำไปทอด ณ พระอารามที่ขอรับพระราชทานไว้




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :http://sys.dra.go.th/dra_katin/main.php?filename=h...

ขณะประธานสงฆ์ ถวายอดิเรก ผู้ร่วมพิธีไม่ต้องประนมมือ ผู้มีสิทธิ์ประนมมือรับพร คือ พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

จากประสบการณ์ของผู้เขียน หลายปีมาแล้ว ขณะเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการเมืองสหกรณ์ตามพระราชดำริ ได้เข้าร่วมในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จย่า ณ ศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กทม.

ฯพณฯ องค์มนตรีจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้แทนพระองค์เป็นประธานในการครั้งนั้น พอทราบอยู่บ้างว่า ตอนพระถวายอดิเรกต้องไม่พนมมือรับพรนั้น แต่ก็พบปัญหาว่าไม่ทราบว่าตอนไหน ก็ต้องพยายามฟังตอนถวายอดิเรก ต้องเป็นประธานสงฆ์องค์เดียวถวายอดิเรก สุดท้ายก็ใช้วิธีดูท่านผู้แทนพระองค์เอามือที่ประนมลงตอนไหนก็ปฏิบัติตาม นับเป็นการเอาตัวรอดแบบหาจุดอ้างอิง

ความหมายของคำว่า ถวายอดิเรก

ถวายอดิเรก คือ การที่พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาแด่พระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชินี ด้วยบทบาลีตอนหนึ่ง แล้วประธานสงฆ์จะถวายพระพรต่อด้วยบทว่า “อติเรกวัสสสตัง ชีวตุ...” จบลงด้วยคำว่า “ขอถวายพระพร” แล้วพระสงฆ์ทั้งนั้นจะถวายอนุโมทนาต่อไปจนจบ

จาก หนังสือคำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

มีข้อควรทราบ -

1 “พิธีบำเพ็ญพระราชกุศล” หมายถึงงานที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติเป็นพระราชกรณียกิจ (พูดตามภาษาชาวบ้านว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าภาพ) และมีพิธีสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของงาน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเสด็จฯ ด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์ หรือเป็นงานที่มีผู้ขอรับพระราชทานไปปฏิบัติ (เช่นกฐินพระราชทานเป็นต้น)

2 พระสงฆ์ที่จะถวายอดิเรกต้องมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ (ที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “ท่านเจ้าคุณ”) ขึ้นไป ปัจจุบันนี้ อนุญาตให้พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งถือพัดยศเปลวเพลิงเป็นผู้ถวายอดิเรกได้โดยอนุโลม

3 ในขณะที่พระสงฆ์กล่าวคำถวายอดิเรก ผู้ร่วมพิธีไม่ต้องประนมมือ ผู้มีสิทธิ์ประนมมือรับพรคือพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

4 คำถวายอดิเรกเป็นภาษาบาลีมีข้อความดังนี้
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา
สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ
ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร

ในกรณีสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จด้วย หรือสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระองค์เดียว ข้อความเปลี่ยนแปลงจากนี้เล็กน้อย แต่ใจความหลักคงเดิม

5 ที่เรียกว่า “ถวายอดิเรก” ก็เนื่องมาจากคำขึ้นต้นว่า “อติเรกวสฺสสตํ ...” นั่นเอง

คำถวายอดิเรกนี้ท่านไม่ได้แปลกันไว้ จึงขออนุญาตแปลเป็นไทยเพื่อให้ญาติมิตรชาว Facebook พอได้ทราบใจความ เป็นการเจริญศรัทธา ดังนี้

ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล
ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล
ขอสมเด็จบรมบพิตรจงทรงดำรงพระชนม์ยิ่งร้อยพรรษกาล

ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอจงทรงบำราศจากพระโรคาพาธ
ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอจงทรงบำราศจากพระโรคาพาธ

ขอพระปรมินทรมหาราชจงทรงพระเกษมสำราญ

ขอความสำเร็จแห่งราชกิจ
ความสัมฤทธิ์แห่งราชการ
ความเพิ่มพูนมหาศาลแห่งพระราชทรัพย์
ขอชัยชำนะนับเนื่องนิตย์
จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ - ขอถวายพระพร

ที่มาข้อมูล.FB_ทองย้อย แสงสินชัย

ในอนาคตอันใกล้ ก็จะทราบว่า คำว่า "ปรมินทรมหาราชา" ในบทถวาย อดิเรก น่าจะเปลี่ยนเป็น "ปรเมนทรมหาราชา" ในรัชกาลที่ 10 เพราะ รัชกาลที่ 10 เป็นเลข คู่

เมื่อทำบุญถวายพระกฐินพระราชทานมาแล้ว ก็ได้มาแบ่งบุญ ให้กับ พี่น้อง มิตรสหาย ตามบุญกิริยาวัตถุ 10 ข้อที่ 6 ปัตติทานามัย
6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น — by sharing or giving out merit)

ผู้ร่วมรับบุญ ก็จะกล่าว "สาธุ... อนุโมทนา" ตามบุญกิริยาวัตถุ 10 ข้อที่ 7 ปัตตานุโมทนามัย
7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น — by rejoicing in others’ merit)


ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=89


จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ transaction ที่เกี่ยวเนื่องกับ การถวายพระกฐินพระราชทานเป็นบุญทั้งหมด

ถวายพระกฐินพระราชทาน เป็น ทานมัย (บุญกิริยาวัตถุ 10 ข้อที่ 1) การรักษาศีลหลังจาก พระให้ศีลเมื่อถวายพระกฐินพระราชทาน ก็เป็นศีลมัย (บุญกิริยาวัตถุ 10 ข้อที่ 2) ....... เมื่อเราบำเพ็ญบุญตามบุญกิริยาวัตถุ 10 เราก็จะห่างจาก สถานีอนามัย และโรงพยาบาล เพราะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

พีระพงศ์ วาระเสน
12 พฤศจิกายน 2559


หมายเลขบันทึก: 618433เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2016 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2016 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท