ชีวิตที่พอเพียง : 2783. จาก คศน. ถึง DHS และ DHS KM : ไปเยี่ยมชื่นชมโรงพยาบาลแก่งคอย



วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ วันสุดท้ายของปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ที่ราชการมีการเลี้ยงส่งผู้เกษียณ อายุราชการ ผมได้มีโอกาสชุ่มชื่นหัวใจ ที่ได้รับรู้ว่า ผมมีโอกาสเป็นส่วนเล็กๆ ของเรื่องราวดีๆ ในบ้านเมือง คือการก่อเกิดขบวนการ DHS (District Health Systems) เพราะจุดกำเนิดมาจากโครงการ คศน. ที่คุณหมอปิ๊ด (ประสิทธิชัย มั่งจิตร) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย เป็นผู้ริเริ่มโครงการพิเศษ DHS จากการไปเข้าโครงการ คศน. รุ่นที่ ๑ ตามที่ผมบันทึกการก่อเกิดโครงการ คศน. เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ ที่นี่


DHS เป็นนวัตกรรมของระบบสุขภาพ ที่ก่อเกิดขึ้นแบบ chaordic หรือ complex-adaptive ที่ไร้การสั่งการ ไร้ระบบควบคุม นี่คือความงดงามในระบบสุขภาพ ที่เปิดโอกาสให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ เพราะตัวระบบไม่เข้มงวดด้านการควบคุมสั่งการเข้มข้นเกินไป


ในขณะที่บางระบบของบ้านเมือง เช่นระบบการศึกษา, ระบบ อปท., เดินทางผิด ใช้การบริหาร แบบควบคุมสั่งการเข้มข้น จนนวัตกรรมในระบบเกิดขึ้นยาก ผมหวังว่าระบบใหญ่ของบ้านเมืองจะไม่เดินผิดทาง ไปทางควบคุมสั่งการเข้มข้น หวังว่าจะเข้าใจธรรมชาติของการสร้างสรรค์ ผ่านระบบ chaordic เพื่อให้เดินสู่เป้าหมาย Thialand 4.0 ได้สำเร็จ


ผมฝันไปหาลู่ทางพัฒนา VM (KM 4.0) จากการประยุกต์ KM 3.0 & BDM (Behavioral Data Management) ในระบบ DHS VM = Value Management ที่โรงพยาบาลแก่งคอย ที่มีชื่อเสียง


ผมคิดว่า Thailand 4.0 จะเกิดขึ้นได้ ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยต้องยกระดับขึ้นไปอีกภพภูมิหนึ่ง ไม่ใช่ย่ำกระบวนทัศน์อยู่ในภพภูมิปัจจุบัน ที่ใช้พลังสร้างสรรค์ของคนธรรมดาไม่เป็น


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้จากการทำงานหรือ การปฏิบัติของตนเอง โดยร่วมกันเรียนรู้ เพื่อให้สามารถยกระดับสู่เป้าหมายใหม่ มีวิธีทำงานใหม่ๆ เป็นระยะๆ โดยเครื่องมืออย่างหนึ่งคือ KM 3.0 ซึ่งสามารถยกระดับสู่ KM 4.0 (VM) ได้


ผมฝันเห็น DHS KM เป็นหัวหอก ในการพัฒนา KM 3.0 สู่ KM 4.0 แก่สังคมไทย โดยพัฒนาผ่านการปฏิบัติใน DHS โดยสมาชิกของ DHS นำร่องนั่นเอง


เราได้ฟังการนำเสนอ DHS โรงพยาบาลแก่งคอย ที่เริ่มต้นจาก การพัฒนาทีมเครือข่ายสุขภาพอำเภอ ที่ตอบสนองต่อชุมชนและอำเภอสุขภาวะ ที่ตีความ สุขภาพ ในความหมายใหม่ คือประกอบด้วย สุขภาวะ (wellbeing) ๔ ด้าน คือทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา (รวมจิตวิญญาณ) ความหมายที่กว้างนี้ เปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชน เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมปฏิบัติเพื่อสุขภาวะของผู้คนในพื้นที่ (อำเภอ) ได้ยกระดับสู่พื้นที่คุณภาพชีวิต ของทุกคนในพื้นที่ยิ่งเปิดกว้างให้ราชการทุกฝ่ายเข้าร่วมได้ ผมบอกตัวเองว่านี่คือโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ขององค์กรเคออร์ดิค ที่เปิดช่องให้มีการริเริ่มสร้างสรรค์ ในทุกส่วนของ ระบบ และเป็นพื้นฐานให้ KM ทำงานได้ เพื่อหนุนกระบวนการเรียนรู้จากการทำงาน



จาก KM DHS สู่ KM คุณภาพชีวิต?

เราตั้งใจไปหาทางใช้ KM 3.0 ไปหนุน DHS ผมกลับมา AAR ที่บ้านว่า น่าจะเปิดกว้างขึ้น เป็นหาทางใช้ KM 3.0 ไปหนุนระบบคุณภาพชีวิตในระดับอำเภอหรือไม่ คำถามนี้จะยังคงเป็นคำถามอยู่ เพราะระบบ DHS Board ที่นายอำเภอเป็นประธาน ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และการทำงานที่กระจายเกินไป ในขั้นเริ่มแรกอาจบรรลุความสำเร็จได้ยาก เพราะขาดโฟกัส



ตัวละครใหม่ๆ

เราไปพบตัวละครใหม่ในระบบ DHS แก่งคอย คือสมาชิกจิตอาสา (Hospital Volunteer) ๗๒ คน และสมาชิกโอบอุ้ม (Care Giver) ๒๓๗ คนนอกเหนือจาก อสม. และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลชุมชนและรพสต. รวมทั้งกลไกราชการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว


อสม. เป็นระบบอาสาสมัครของทั้งประเทศ เปลี่ยนแปลงมาได้รับค่าตอบแทนเดือนละ ๖๐๐ บาท และเชื่อมโยงอยู่กับกลไกการปกครองท้องถิ่น และทำหน้าที่ด้านป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ ที่เน้นดูแลสภาพแวดล้อมในพื้นที่เป็นหลัก และเนื่องจากปี ๒๕๕๘ แก่งคอยเป็นอำเภอที่ไข้เลือดออก ระบาดหนักมาก อสม. จึงถูกใช้ให้ทำงาน “คว่ำกะลา หยอดทราย (Abate)” เป็นหลัก


จิตอาสา เป็นระบบภายในโรงพยาบาลแก่งคอย ที่ฝึกชาวบ้านมาช่วยให้บริการความสะดวกแก่ เพื่อนชาวบ้านด้วยกันเอง เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๙ ริเริ่มโดยอดีตหัวหน้าพยาบาลที่เกษียณอายุราชการ ไปแล้ว ชื่อสุชาดา ตันติวงศ์ อายุ ๗๓ ปี เวลานี้สมาชิก ๗๒ คน แบ่งเป็น ๙ กลุ่ม มีหัวหน้ากลุ่ม ติดต่อกันผ่านกลุ่ม Line นอกจากมาช่วยงานผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาล ยังช่วยทีมเยี่ยมบ้าน และทีมอนามัยโรงเรียน และเมื่อไปพบความยากลำบากของผู้ป่วย บางคนก็อาจช่วยปรับปรุงบ้าน มีการฝึกอบรมให้ความรู้ในการปฏิบัติงาน โดยหัวหน้าหน่วยต่างๆ ๑๗ หน่วยของโรงพยาบาล มีบริการตัดผม และมีนักไวโอลินมาเล่นเพลงกล่อมหอผู้ป่วยนอกในวันจันทร์และศุกร์


โอบอุ้ม ก็เป็นระบบที่คิดกันขึ้นเองที่โรงพยาบาลแก่งคอย เริ่มปี ๒๕๕๔ หัวหน้าชื่อ ปิยพร อายุ ๖๐ ปี เล่าว่าเริ่มด้วยการชักชวนชาวบ้านที่มีใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มารับการอบรม คนไหนไม่ชอบก็เลิกไป มีคนสนใจก็มาสมัครเพิ่ม เริ่มจากสมาชิก ๓๘ คน เวลานี้เพิ่มเป็น ๒๓๗ คน งานที่ทำคือให้ความช่วยเหลือ ผู้ป่วยติดเตียงติดบ้าน สมาชิกโอบอุ้มมีความสุขความภูมิใจมากที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย “ดูแลจนตายในอ้อมกอด” มีระบบการจัดการ ระบบสื่อสาร (กลุ่ม Line) ระบบฝึกอบรม น่าชื่นชมมาก เขาบอกว่าบางคนเป็น อสม. (ได้ค่าตอบแทน) ลาออกมาเป็นโอบอุ้ม (ไม่มีค่าตอบแทน) สิ่งที่ได้คือความอิ่มเอมใจ


ผมกลับมา AAR ที่บ้าน ว่าระบบสุขภาพอำเภอแก่งคอยมีความซับซ้อนมาก มีตัวละครมาก เป็นโอกาสนำเอา KM เข้าไปใส่/ใช้ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ และยกระดับผลงาน ให้เกิด synergy กันของงานที่มีหลากหลายฝ่ายหลากหลายจุดเน้น


ผมคิดยุทธศาสตร์ “สองขั้ว คือ ขั้วรายละเอียดกับขั้วภาพใหญ่จับที่ critical knowledge ของทั้งสองขั้ว หาความรู้นั้นมาใช้และยกระดับขึ้นไปอีก


อีกยุทธศาสตร์หนึ่งคือ ยุทธศาสตร์เยาวชน คิดขึ้นมาเพราะไม่เห็นมีการเอ่ยถึงพลังเยาวชน



วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๕๙



1 บรรยากาศที่แผนกผู้ป่วยนอก


2 จิตอาสาเล่นไวโอลิน กับ นพ. ประสิทธิชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล


3 เสื้อทีมจิตอาสา


4 คลินิกความดันโลหิตสูง


5 นิมนต์พระมารับสังฆทานถึงหอผู้ป่วยทุกเดือน


6 บรรยากาศในห้องประชุม รพ. แก่งคอย


7 คนที่สองจากขวา คุณสุชาดา หัวหน้าทีมจิตอาสา


8 วงคุยที่ รพสต. หนองผักบุ้ง


9 ห้าคนทางซ้ายมือเป็นทีมโอบอุ้ม


10 ถ่ายรูปหมู่ที่หน้าอาคาร รพสต. หนองผักบุ้ง



หมายเลขบันทึก: 617788เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2016 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2016 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท