ชีวิตที่พอเพียง : 2782. ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้


หนังสือ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในสายตาของจีนและตะวันตก เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัย ในโครงการปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว.


เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์บทความทำความรู้จักเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตผ่านเอกสารโบราณของจีนรวม ๓ เรื่อง ผ่านเอกสารของฝรั่งเศส ๑ เรื่อง ผ่านเอกสารของฮอลันดา ๑ เรื่อง


อ่านเรื่องเอกสารจีนที่ไร อดคิดยกย่องระบบจดบันทึกประวัติศาสตร์ของจีนเสียมิได้ ดังผมเคยบันทึกไว้ ที่นี่


รายงานเรื่องแรกเป็นการศึกษาเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๒๑๘๗) เป็นช่วงเวลา ๒๗๖ ปี ที่ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาของเรา สะท้อนความหลากหลายของผู้คน หรือชนเผ่า ที่อาศัยอยู่ในดินแดนทางใต้ของประเทศจีน และมีเรื่องราวของการผนวกแคว้นยูนนานเข้าเป็นส่วนหนี่งของราชอาณาจักรจีน คือสมัยก่อนหน้านั้น ดินแดนยูนนานและบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะดินแดนของไทใหญ่ที่สมัยนั้นเรียก อาณาจักร มาวหลวง เป็นดินแดนชายขอบปกครองกันเอง เพียงแต่แสดงความอ่อนน้อมต่อจีน แต่พอถึงสมัยราชวงศ์ หมิง ราชอาณาจักรจีนก็กระชับอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง


ท่านที่สนใจลักษณะจำเพาะ และความน่าเชื่อถือของเอกสารประวัติศาสตร์จีนโปรดอ่านหน้า ๖๓ - ๖๔ ซึ่งอยู่ในเรื่องที่ ๒ รัฐในภาคพื้นสมุทรและกลุ่มเกาะในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผมพิศวงเอกสารบันทึก การเดินทางจาริกจากจีนไปอินเดียของพระภิกษุ ๓ องค์ คือ ฟาเสียน (เดินทาง พ.ศ. ๙๔๒ - ๙๕๗ รวม ๑๕ ปี), อี้จิง (เดินทาง พ.ศ. ๑๒๑๔ - ๑๒๓๘ รวม ๒๔ ปี ท่านนี้เดินทางทางทะเลทั้งขาไปและกลับ), และซ่วนจัง (ท่านนี้ใช้เส้นทางบก) ที่น่าสนใจคือเรื่องเดินสมุทรสมัยนั้น (กว่า ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) ลำใหญ่โตมาก มีถึง ๕ ชั้น และบรรทุกผู้โดยสารได้ หลายร้อยคน (หน้า ๘๑) เมื่ออ่านพบข้อมูลนี้ และบอกว่ามีทั้งเรือจีน และเรืออาหรับ จึงเห็นได้ว่า ที่กองเรือของนายพลเจิ้งเหอ หรือซำปอกง มีเรือขนาดใหญ่มากไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเจิ้งเหอมา อยุธยาเมื่อ ๖๐๐ ปีนี่เอง


สรุปได้ว่า จีนสนใจดินแดน “ทะเลใต้” นี้มานานเกือบสองพันปี ด้วยเหตุผลหลักสองประการ คือ (๑) การค้า (๒) เป็นเส้นทางจาริกแสวงบุญไปอินเดีย


เรื่องที่ ๓ ยังเป็นเรื่องของหมู่เกาะทะเลใต้ แต่ย้อนกลับไปสมัยราชวงศ์หยวน หรือราชวงศ์มงโกล (พ.ศ. ๑๘๑๔ - ๑๙๑๑) มาถึงราชวงศ์หมิง มีหลักฐานชัดเจนว่ากุบไลข่านผู้สถาปนาราชวงศ์หยวน ถือว่าตนเป็นจ้าวโลก ส่งสารไปทั่วให้ผู้ปกครองดินแดนต่างๆ ส่งบรรณาการมาอ่อนน้อม แม้แต่สันตปาปาที่โรมยังได้รับราชสาส์นนี้ ดังนั้นดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้ย่อมได้รับคณะทูตที่มาเกลี้ยกล่อมให้สวามิภักดิ์และเมื่อปฏิเสธก็ส่งกองทัพมาปราบในปี พ.ศ. ๑๘๓๕ (สมัยกรุงศรีอยุธยา) เป็นเวลากว่าสองปี โดยไม่สามารถปราบอาณาจักรทะเลใต้ ให้ราบคาบได้ เพราะดินแดนทะเลใต้ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจผู้ปกครองคนเดียว


เรื่องน่าสนใจในเรื่องที่ ๓ นี้คือ กษัตริย์อยุธยาองค์ที่ ๖ คือสมเด็จพระอินทราชา เคยเสด็จประเทศจีนในปี พ.ศ. ๑๙๒๐ ก่อนขึ้นครองราชย์ และเรื่องราวรายละเอียดของเจิ้งเหอ กับการเดินทางของกองเรือมหาสมบัติ ๗ ครั้ง รวมทั้งหลักฐานที่บอกว่าจีนส่งทูต และมีพ่อค้าจีนมาที่ดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้อยู่เสมอเพราะเป็น ดินแดนที่มีความเจริญมั่งคั่งมาก


เรื่องที่ ๔ คุณูปการของนักเดินทางชาวฝรั่งเศสต่อเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ แค่อ่านบทนำก็ประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง ให้เห็นว่าการเดินทางของฝรั่งเศสมายังดินแดนแถบนี้ในช่วงต้น คือคริสตศตววรษที่ ๑๗ - ต้นศตวรรษที่ ๑๙ มาด้วยแรงจูงใจทางศาสนา และทางการค้าเป็นหลัก และมองคนตะวันออกด้วยสายตาที่ไม่ดูแคลน หลังจากที่เขา เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๙ จึงมารุกรานเอาเป็นเมืองขึ้น และมองพวกเราแบบดูถูก


คุณูปการสำคัญคือการประกาศตั้งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (L’Ecole Francaise d’Extreme-Orient) ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ โดยรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อศึกษาเรื่องราวของตะวันออก รวมทั้งอินโดจีนของฝรั่งเศส อย่างลึกซึ้ง แม้เป้าหมายหลักจะเพื่อปกครองอาณานิคม แต่ความรู้ที่ได้ก็มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง


ระลอกสำคัญของการเดินทางมาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เรารู้กันดี จากประวัติศาสตร์ไทย ที่ผมรู้เพิ่มขึ้นคือฝรั่งเศสใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่ 3G ให้แก่ราชสำนักฝรั่งเศส 3G ได้แก่ God, Gold, และ Glory การค้นหา G ที่สองของฝรั่งเศสเข้มข้นมากในลาว สมัยยึดเป็นเมืองขึ้น แต่คว้าน้ำเหลว


คุณูปการของนักเดินทางชาวฝรั่งเศสอยู่ที่เป็นคนช่างสังเกตและจดบันทึก ทำให้การค้นพบเมืองโบราณพระนคร (นครวัด) ได้รับการเผยแพร่กว้างขวาง ความช่างสังเกตและบันทึกของเขาทำให้รู้ว่า เขานับถือคนขยัน และมีวินัยในการทำงาน โดยในอินโดจีน คนจีนได้รับยอกย่องอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เวียดนาม


ในสมัยนั้นเขาเรียกเวียดนามเหนือว่า “ตังเกี๋ย” เรียกเวียดนามกลางว่า “อันนัม” และเรียกเวียดนามใต้ว่า “โคชินจีน” ผมแปลกใจมากที่มีบันทึกเรื่องการจับคนอันนัมไปเป็นทาส และคนที่เป็นผู้ลักตัวเป็นพวกข่าที่ อาศัยอยู่บนภูเขา คือคนที่มีอารยธรรมสูงธรรมถูกคนป่าจับตัวไปเป็นทาส เขาอ้างบันทึกของนายแพทย์ ปอล เนส์ ไม่บอกวันเดือนปีที่เขียน ผมเดาว่าเป็นเรื่องในคริสตศตวรรษที่ ๑๙


ข้อเรียนรู้อีกอย่างหนึ่งของผมคือ เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นที่อินโดจีน ภาพลักษณ์ของไทยคือ มหาอำนาจในท้องถิ่น


เรื่องสุดท้ายคือ การบรรยายพิเศษ การค้นคว้าวิจัยของชาวฮอลันดาเกี่ยวกับอินโดนีเซีย และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดย รศ. ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร


เมื่อเอ่ยถึงอินโดนีเซียก็ต้องนึกถึงการตกเป็นเมืองขึ้นของฮอลันดา ๔๐๐ ปี โยงไปยังเครื่องมือ ล่าเมืองขึ้นของฮอลันดา คือบริษัท VOC ที่คนสมัยหลังจะแปลกใจว่าตั้งขึ้นเพื่อการค้าอย่างกว้างขวาง โดยรัฐบาลมอบอำนาจให้เจรจาการค้า และทำสงครามในนามของรัฐบาลได้ ในดินแดนที่กว้างขวางตั้งแต่ แหลมกู๊ดโฮป ไปจนถึงสุดแดนหมู่เกาะญี่ปุ่น โดยสินค้ายอดนิยมในสมัยนั้น คือเครื่องเทศ ได้แก่พริกไทย กระวาน กานพลู จันทน์เทศ


ชื่ออินโดนีเซีย เป็นชื่อที่ฝรั่งตั้งขึ้นเรียกดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้ โดยเริ่มกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๙ และบอกเราว่า เป็นดินแดนในอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดีย


ข้อเรียนรู้สำหรับผม จากหนังสือตอนนี้คือ ไทยเรามักมองยุคคริสตศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๙ ที่ชาวตะวันตก เข้ามารุกรานตะวันออกเป็นเมืองขึ้น ในลักษณะที่เขามีอำนาจอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่า จากความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผมคิดว่าถูกครึ่งเดียว หรือไม่ถึงครึ่ง


ผมคิดว่า ฝรั่งตะวันตกเขามีวัฒนธรรมเรียนรู้ นำเอามาเรียนรู้จากพวกเราชาวตะวันออกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขามาสัมผัสสภาพแวดล้อมทางชีววิทยา และทางสังคมของผู้คน เขาสังเกต ตีความ และบันทึก เพื่อส่งต่อความรู้ไปยังคนอื่น และเพื่อการเรียนรู้ที่ลึกของตนเอง รวมทั้งมีการรวมตัวกันก่อตั้ง สมาคมผู้รู้หรือสมาคมวิชาการ ดังเช่น “สมาคมวิชาช่างและความรู้แห่งปัตตาเวีย” (Bataviaasch Genootschap van Kuusten en Wetenschappen) ก่อตั้งใน ค.ศ.๑๗๗๘


รศ. ดร. ธีรวัต ชี้ให้เห็นว่า ยุคทองของ วีโอซี เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การเดินทางมายังดินแดนตะวันออกไกล จึงมีลักษณะทั้งเพื่อการสำรวจ การค้า และการรุกรานเอาเป็นเมืองขึ้น การสำรวจด้านชีววิทยาและระบบนิเวศ มีคุณค่ายิ่งต่อความเข้าใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต การจำแนกพันธุ์ไม้ และสัตว์ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์


ตัวอย่างของบุคคลที่มาตั้งสถานีศึกษาธรรมชาติเขตร้อนในหมู่เกาะทะเลใต้ คนแรกคือ เกออร์ก เอเบอร์ฮาร์ด รุมฟิอุส (Georg Eberhard Rumphius) ทหารรับจ้างชาวเยอรมันของบริษัท วีโอซี ที่ประจำอยู่บนเกาะอัมบน (Ambon) ที่รวบรวมผลงานชื่อ Herbarium Anboinenseอันทรงคุณค่าทางพฤกษศาสตร์


คนที่สองคือ ฟรองซัวส์ วาเลนไทน์ (Francois Valentijn) นักบวชนิกายโปรเตสแตนท์ ผู้เขียน “สารานุกรม” อินเดียตะวันออก (Oud en Neuw Osst-Indien) ที่พรรณาเรื่องราวหลากหลายมาก ครอบคลุมมาถึงสยาม ตังเกี๋ย อินโดจีน ด้วย


อ่านจบทั้งเล่ม ผม AAR ว่า ประเทศมหาอำนาจตามในหนังสือเล่มนี้ คือ จีน ฝรั่งเศส และฮอลันดา มีลักษณะหรือวัฒนธรรมร่วมกันอย่างหนึ่งคือ รักการเรียนรู้ ช่างสังเกต และมีนิสัยจดบันทึก


วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 617786เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2016 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2016 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท