​เชียงใหม่ ๖๐ รอบนักษัตร



ขอขอบคุณคุณอนันต์ ลี้ตระกูล อดีตกรรมการสภา มช. ที่กรุณามอบหนังสือ เชียงใหม่ ๖๐ รอบนักษัตร อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เขียนโดย สมโชติ อ๋องสกุล จัดพิมพ์โดยสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) อ่านแล้วเห็นบทบาทของนักวิชาการประวัติศาสตร์ต่อการพัฒนาเมือง ซึ่งในที่นี้คือ รศ. ดร. สมโชติ อ๋องสกุล แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มช. อ่านแล้ววางไม่ลง


ผมเพิ่งอ่านได้ ๗๒ หน้า จาก ๔๘๔ หน้า คืออ่านจบตอนที่ ๓ ชุมชนเชียงใหม่สมัยพม่าปกครอง เท่านั้นแต่ก็ได้ความรู้มากมาย


ได้รู้ว่ามีหลักฐาน “มนุษย์โบราณ” (hominid) อยู่ในพื้นที่ล้านนาเมื่อสมัยครึ่งล้านปีก่อน แสดงว่า แผ่นดินส่วนนี้เป็นพื้นที่เก่าแก่ แตกต่างจากพื้นดินตรงบ้านผมที่ปากเกร็ด เป็นแผ่นดินงอกจากทะเล อายุไม่กี่พันปี


มีหลักฐานทางโบราณคดี ว่าบริเวณล้านนามีมนุษย์ (Homo sapiens) อยู่อาศัยเมื่อกว่าสองหมื่นปีมาแล้ว และมีเมืองหลายเมืองที่ตั้งมาก่อนเชียงใหม่ ที่มีหลักฐานแน่นอนว่าตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๙ หลังเวียงกุมกาม

ผมได้ความรู้ใหม่ว่า ปีสิบสองนักษัตรปีสุดท้ายคือปีกุนนั้น ทางเหนือเรียกว่าปีกุญชร และสัตว์ประจำปีคือช้าง ไม่ใช่หมู


ผมชอบวิธีเล่าเรื่องการตั้งเมืองในตอนที่ ๒ (หน้า ๕๓) ที่เล่าเรื่องพระนางจามเทวีเสด็จมาครองเมือง หริภุญไชย (ลำพูน) ที่บอกว่าพระนางได้นำคณะบุคคลเข้าไปอยู่คือ มหาเถรเจ้า ช่างต่างๆ คนที่อยู่ในศีลในสัตย์ คนที่เป็นหมอโหรา หมอยา และอื่นๆ คือนำผู้มีปัญญาไปอยู่ ต่างจากประวัติศาสตร์ไทยที่ผมอ่าน มักระบุว่า พระเจ้าแผ่นดิน ยก “ไพร่พล” (คือคนไร้ปัญญา) ไปครองเมือง ไม่ทราบว่าข้อเขียนสะท้อน “กระบวนทัศน์” ที่แตกต่างกันของผู้เขียนประวัติศาสตร์ หรือของผู้ครองเมือง


ที่หน้า ๖๔ มีกล่าวถึงมังรายศาสตร์ ที่ส่วนหนึ่งว่าด้วยเรื่องการจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย ผมได้เรียนรู้ว่าในสมัยโบราณเขามีคำถึง ๓ คำที่หมายถึงคันหรือเขื่อนกั้นน้ำ คือ ฝาย (กั้นลำน้ำใหญ่) แต (กั้นลำเหมืองใหญ่) และ ปุม (กั้นลำเหมืองเล็ก) ทำให้นึกถึงตอนไปเยี่ยมชมระบบการจัดการน้ำที่ลำน้ำแม่ขาน ที่คุณพรพิไล เลิศวิชาดำเนินการวิจัย เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว

ในวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ผมเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็อ่านจบตอนที่ ๑ จำนวน ๑๘๘ หน้า ได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ว่า สมัยปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ตอนผลัดแผ่นดินจากพระเจ้ากรุงธนบุรี มาเป็น ราชวงศ์จักรี คนเชื้อจีนแซ่แต้ต้องอพยพหนีภัยการเมืองจากบางกอกน้อย ขึ้นไปทางเหนือ และในที่สุด มีลูกสาวแต่งงานกับคนเชื้อสายจีนที่ลำพูนและเป็นต้นตระกูลชุติมา ผมได้ความรู้ว่าคนตระกูลชุติมา นิมมานเหมินทร์ และ บุรี เป็นเครือญาติกัน


ได้ความรู้เรื่องการอพยพ (เทครัว) คนจากเมืองเชียงแสน ไปอยู่ที่ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี, อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา, อำเภอคูบัว จังหวัดราชบุรี, และอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ สมัยโบราณ เมื่อรบชนะก็จะใช้วิธีเทครัวพลเมืองเอาไปเป็นกำลังของตน


อ่านหนังสือนี้แล้ว เห็นพลวัตของประชากรไทยอย่างยิ่ง ทั้งในหมู่ชนพื้นที่ใกล้เคียง และพื้นที่ ห่างไกล ผ่านการค้า และการรบ รวมทั้งการล่าเมืองขึ้นในช่วง ร. ๔ และ ร. ๕ ของกรุงรัตนโกสินทร์


ที่สนุกมากสำหรับผมคือตอนที่ ๘ ชุมชนโรงเรียนแพทย์ เชียงใหม่ ทำให้ผมได้ความรู้เรื่องราวของการก่อตั้ง ได้ปะติดปะต่อกับที่เคยได้ยิน ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้วเล่าว่า ตอนแรกรัฐบาลจอมพล ป. จะตั้งคณะแพทยศาสตร์ในภาคเหนือที่จังหวัดพิษณุโลก บ้านเกิดของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของจอมพล ป


หนังสือเล่มนี้มีรูปมากมาย เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ทั้งด้วยตัวอักษรและด้วยรูป เสียแต่รูปเล็ก คนตาไม่ดีอย่างผมต้องเพ่งแล้วเพ่งอีก แต่บางรูปก็มองไม่เห็นอยู่ดี


(ต่อตอนที่ ๒)

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 617508เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท