มหาราชกษัตริย์นักพัฒนา


มหาราชกษัตริย์นักพัฒนา

20 ตุลาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ในบริบทของพสกนิกรชาวท้องถิ่นทั่วไทย รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณในองค์พระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยิ่งนัก มีพระราชสมัญญาต่าง ๆ ที่หลายคนอาจไม่ทราบ แต่ในภาษาชาวบ้านที่เรียกกันนานา [2] เช่น กษัตริย์แห่งเขื่อน ราชาแห่งน้ำ มหาราชาแห่งการจัดการน้ำ เป็นคำเรียกขานทั่วไป ซึ่งก่อนอื่นนั้นคงต้องเท้าความไปถึงโครงการพระราชดำริ สนองพระราชดำริ และ โครงการต่อเนื่องของสมเด็จพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์ และโครงการอื่น ๆ ด้วย

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ [3]

พระราชดำริ แนวคิด แนวทางการปฏิบัติมาจัดทำเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีให้กับปวงชนชาวไทย ในการดำเนินชีวิต ให้รอดพ้นจากวิกฤตและดำเนินอยู่ในสังคมได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาชนบท สอดคล้องกับแนวคิดของสหประชาชาติในปี 1992 (พ.ศ.2535) ที่ได้กำหนดแผนแม่บทระดับโลกเรียก “แผนปฏิบัติการ 21” (AGENDA 21) โดยเน้นการพัฒนาสามมิติ (สังคม เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม)

หลักการสำคัญโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

หลักการสำคัญๆ คือ (1) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (2) การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตามลำดับความจำเป็น ประหยัด (3) การพึ่งตนเอง (4) การส่งเสริมความรู้ และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม (5) การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ (6) การส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม [4]

เป็นแนวพระราชดำริเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกรในชนบทตามหลักการแห่งทฤษฎีการยอมรับนวัตกรรม (Innovation Adoption Theory) ในปัจจุบันมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 6 ศูนย์ กระจายอยู่ในภาคต่างๆ ทั้ง 4 ภาค คือ (1) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา (2) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (3) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสนามไชย อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (4) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (5) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (6) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส [5]

พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า

ในพระอัจฉริยภาพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นั้น ยังมีองค์สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อ 20 ธันวาคม 2525 ว่า “...พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า” [6] เป็นแนวปรัชญาที่ทั้งสองพระองค์ได้ทรงถือปฏิบัติเป็นพระราชจริยานุวัตรมาตลอดพระชนม์ ทั้งนี้จะเห็นได้ตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ มากมายในพื้นที่ชนบทห่างไกล

ทรงเป็นปราชญ์แห่งน้ำและดินแห่งโลก

สืบเนื่องจากการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยาที่กรุงเทพฯ ปี 2545 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการพัฒนาทรัพยากรดินและการพัฒนาการเกษตร ทรงมีพระอัจฉริยภาพ ในการพัฒนา “ดิน” ในปี 2556 ที่ประชุมใหญ่ของสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก” และในปี 2558 กำหนดให้เป็น “ปีแห่งดินสากล” [7]

ทรงพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” [8] (พ.ศ. 2539) ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่มีพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสีย น้ำแล้ง และน้ำท่วม [9]

ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา” (พ.ศ. 2549) เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” (The Human Development Lifetime Achievement Award) [10]

โครงการพระราชดำริใหม่ ๆ

ในกระแสท้องถิ่นมีโครงการพระราชดำริที่ทรงริเริ่มให้ท้องถิ่น หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ขับเคลื่อน มากมาย ที่สำคัญล่าสุด คือ

(1) โครงการ “รักน้ำ รักป่า รักษาแผ่นดิน” [11]

เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ครบ 70 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2559 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2559 ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ต่อพสกนิกรชาวไทย ทั้งด้านการเกษตร การชลประทาน การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่อาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและป่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 12 มกราคม 2559 เห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสดังกล่าวทั้งใน ประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้คนในชาติได้แสดงความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกัน ในโครงการ “รักน้ำ รักป่า รักษาแผ่นดิน” โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการพร้อมกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ถึงเดือนธันวาคม 2560 มีกิจกรรมโครงการ ดังนี้

(1) การปรับปรุงและบำรุงรักษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้สามารถใช้งานได้ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง พิจารณา สนับสนุนและนำโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปปรับปรุงพัฒนาและขยายการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่โครงการฟาร์มตัวอย่าง ฯลฯ (2) การสร้าง และบำรุงรักษาฝายกักเก็บน้ำ แก้มลิง สระน้ำสาธารณะ หรือการพัฒนาแหล่ง น้ำอื่น ๆ ในพื้นที่ขาดแคลน และพื้นที่แห้งแล้งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการอุปโภค บริโภคและการเกษตร (3) การสร้างภาชนะกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ (Water Bank) เพื่อเป็นแหล่งน้ำสาธารณะสำหรับ ใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านที่ไม่มีประปา เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคพอเพียง และทั่วถึง (4) กิจกรรมปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่สาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเชิญชวนบุคลากรในสังกัดหรือประชาชนร่วมปลูกต้นไม้ภายในบริเวณสถานที่ ที่ปฏิบัติงาน บ้านเรือน ที่สาธารณะของหมู่บ้าน/ชุมชน หรือสถานที่ที่หน่วยงานกำหนด เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ความร่มรื่นและสวยงามในพื้นที่ดังกล่าว โดยให้พิจารณาขนาดพื้นที่ จำนวนต้นไม้ หรือพันธ์ไม้ตามความ เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิทัศน์ของแต่ละพื้นที่

(2) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) [12]

โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามแผนแม่บท อพ.สธ. 5 ปีที่ 5 (1 ตุลาคม 2554-30 กันยายน 2559) ใน 8 กิจกรรม คือ

(1) กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช (2) กิจกรรมสำรวจเก็บรวมรวบพันธุกรรมพืช (3) กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช (4) กิจกรรม อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช (5) กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช (5) กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช (6) กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (7) กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (8) กิจกรรม (นอกจากพันธุกรรมพืชแล้วรวมถึงทรัพยากรชีวภาพอื่น ๆ เช่น สัตว์และจุลินทรีย์ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากร วัฒนธรรมและภูมิปัญญา)

ทั้งนี้มีฐานทรัพยากรท้องถิ่น สนองพระราชดำริ ได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาลตำบล (ฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ.-ตำบล) ที่เข้าร่วมโครงการ ในการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นนั้นโดย “ทำอย่างไรให้ชุมชน มาให้โรงเรียน โดยเฉพาะนักเรียน ช่วยในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และมีการทำ DNA Fingerprint ใน โรงเรียน” จัดตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นตำบล” เพื่อเป็นฐานทรัพยากรในการพึ่งตนเอง สู่เศรษฐกิจพอเพียง เกิดประโยชน์แท้แก่ชุมชนตำบล

ที่ต้องกล่าวขานถึงโครงการพระราชดำริในองค์พระบาทสมเด็จองค์ภูมิพลอุดลยเดช เพื่อเป็นการเตือนระลึกถึงความชาญฉลาด ความอุตสาหะวิริยะ บากบั่น เพื่อพสกนิกรพี่น้องชาวไทยทั้งมวลได้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้เขียนเห็นว่า การนำแนวโครงการตามพระราชดำริยังสามารถที่จะมาสานต่อใน วาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา ทั้ง (1) วาระการปฏิรูป (Reform Agenda) และ (2) วาระการปรับเปลี่ยน (Transformation Agenda) และ “โมเดลประเทศไทย 4.0” ที่เน้นการ “พัฒนาที่สมดุล” 4 มิติ (1) ความสมดุลในความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (2) การรักษ์สิ่งแวดล้อม (3) การมีสังคมที่อยู่ดีมีสุข และ (4) การเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ ที่อยู่บนฐานคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ว่า “เมื่อพร่อง ต้องรู้จักเติม เมื่อพอ ต้องรู้จักหยุด เมื่อเกินต้องรู้จักปัน” [13]พี่น้องพสกนิกรอยู่ดีมีสุข ขอทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23194 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม – วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2559, หน้า 66

[2] ราชาแห่งราชัน, 15 ตุลาคม 2559, http://www.komchadluek.net/news/royal/246093 & ใต้ร่มพระบารมี 70 ปี แห่งการครองราชย์, ผู้จัดการรายวัน, 11 มิถุนายน 2559, http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9590000058413& พระมหากษัตริย์นักพัฒนา, สยามรัฐออนไลน์, 26 ตุลาคม 2559, http://www.siamrath.co.th/n/4503

[3] โครงการพระราชดำริคืออะไร, http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=14

[4] หลักการของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, http://www.wrp.or.th/หลักการ/& ดู ศุลีพร บุญบงการ, ศัพท์ควรรู้ ในโครงการพระราชดำริ, http://www.chaipat.or.th/site_content/download/797/7551/18.html

[5] แนวคิดการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (Self Reliance), http://www.chaipat.or.th/site_content/70-3/283-self-reliance.html

[6] “สมเด็จพระบรมราชินีนาถนักพัฒนา เพื่อปวงประชาสุขศานต์”, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, 2555, http://www.crownproperty.or.th/public/upload/media/th/dlBook_20121002125232.pdf

[7] 5 ธันวา “วันดินโลก” เทิดพระเกียรติมหาราชา, ศูนย์ข่าวกระทรวงการต่างประเทศ, 2 ธันวาคม 2557, http://www.qlf.or.th/Home/Contents/972

[8] พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ, http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=57 & พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ, http://www.nso.go.th/webstat/king/kfiles/k1-04.pdf & พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ, Manager Online, 14 ตุลาคม 2559, www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103330 & พระมหากษัตริย์นักพัฒนา, thairath.co.th, 16 ตุลาคม 2559, www.thairath.co.th/content/754546

[9] พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ, http://www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com/content/index.php?page=category&type=view&cat=57

[10] รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์

[11] หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0801.2/ว 1060 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559, http://www.buengkandla.go.th/center/website/site/users_images/1205/information_u_1205_1_36def8e392188265e4f6fdd862e7c2bb.pdf

[12] โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, http://www.rspg.or.th/index_sub.html & http://rspg.rmutr.ac.th/โครงการ/แนวทางการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานของแผนแม่บท-อพ-สธ.html

[13] ‘โมเดลประเทศไทย4.0’ ผลึกความคิด ‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’, หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3083 วันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน พ.ศ. 2558, ฐานเศรษฐกิจ, 31 สิงหาคม 2558, http://www.thansettakij.com/2015/08/31/9309



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท