นายพิสิทธิ์ หนีกระโทก


>>>ถนนสายเปลี่ยว…

ก้าวแรกที่ได้สัมผัสกับรั้วอาชีวศึกษา โดยเริ่มต้นจากการปฏิบัติงานในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ วุฒิ (ปวส.) เป็นระยะเวลา 5 ปี มีโอกาสได้พัฒนาตนเองจนกระทั่งได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งครูผู้สอน ย่างเข้าปีที่ 4 โดยยึดอุดมคติให้คุณธรรมนำความรู้ เพราะหากเด็กนักเรียน 1 คนมีคุณธรรม เป็นคนกตัญญูความดีอื่น ๆ ก็จะตามมา และยิ่งสังคมในยุคปัจจุบันต้องการอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง

จากประสบการณ์สอน ก็ได้รู้และพบกับพฤติกรรมของเด็กที่หลากหลาย แต่มีพฤติกรรมของเด็กคนหนึ่งที่สามารถทำให้ผมเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนแปลงความคิดและเกิดแรงบันดาลใจ ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงเด็กคนหนึ่งให้สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนในชั้นเรียน และเพื่อนคนอื่น ๆ ได้ นับตั้งแต่อาทิตย์แรกที่เด็กก้าวเข้ามาเรียนในระดับชั้น ปวช. 1 เด็กคนนี้มีพฤติกรรมที่ชอบนั่งอยู่คนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่ยอมทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ประกอบกับตัวเด็กเองมีโรคประจำตัว เวลาเข้ากิจกรรมกลางก็เลยจะแกล้งป่วยทุกครั้ง จนเพื่อนและครูทุกคนในรุ่นเดียวกันรู้กันทั่ว จนมีคำว่ากล่าวเด็กคนนี้ต่าง ๆ มากมาย ว่าแกล้งป่วยบ้างเพราะไม่อยากเข้ากิจกรรม แต่มีคำพูดหนึ่งพูดว่า “ถ้าเขาเรียนไม่ได้ ก็ปล่อยให้เขาลาออกไปเถอะสอนไปก็คงไม่รู้เรื่อง” และจากคำพูดนี้เองที่ตัวเด็กและผมก็ได้ยินพร้อมกัน ผมได้สังเกตเห็นแววตาของเด็ก จึงเกิดความสงสารเด็กคนนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กคนนี้ให้สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนได้ แต่ในใจก็อยากรู้สาเหตุของเด็กคนนี้ว่าทำไมจึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ จึงได้ไปเยี่ยมบ้านของเด็กคนนี้และเด็กในที่ปรึกษาทุกคน ตามโครงการออกเยี่ยมบ้านนักเรียน นักศึกษา และเมื่อได้สอบถามและเห็นสภาพแวดล้อมของครอบครัว จึงได้เข้าใจว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เด็กได้แสดงออกมานั้นล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากครอบครัว คือเด็กไม่ได้อยู่กับบิดามารดา บิดาเสียชีวิต ในห้วงการเข้ามาศึกษาต่อ ครอบครัวมีฐานะยากจน จึงส่งผลกระทบด้านจิตใจของเด็กมาก จึงนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมายในขณะการจัดการเรียนการสอน บางครั้งตัวเราเองก็มีปัญหาต่าง ๆ มากมายเช่นกัน จึงทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ แต่พอนึกถึงภาพแววตาของเด็กคนนี้ครั้งใด เหมือนเป็นแรงผลักดันที่จะคอยให้สู้กับงานต่อไป ผมมีโอกาสนำพาเด็กคนนี้เข้าไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน คอยส่งเสริม ชี้นำให้คำปรึกษา ช่วยเหลือให้เขาได้เล็งเห็นคุณค่าของชีวิตควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตในสังคม บางครั้งจึงทำหน้าที่เป็นทั้งพี่และเพื่อนในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้ผมมีความสุขทางใจ เด็กพูดว่า “บางครั้งผมรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว แต่อย่างน้อยก็มีครูที่คอยให้คำแนะนำ คอยชี้แนะซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้อยู่เพียงลำพังคนเดียว”

ปัจจุบันเด็กคนนี้เรียนอยู่ในระดับชั้น ปวช. ปีที่ 3 เป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งมาก แต่สิ่งที่เด็กคนนี้ปฏิบัติ ก็คือหลังเลิกเรียนกลับไปบ้าน ทำงานบ้านดูแลตากับยาย อยู่ที่วิทยาลัยช่วยเหลืองานครูในแผนกฯ ช่วยเหลือเพื่อน ๆ สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ สิ่งแรกที่ผมนำมาใช้ในการแก้ปัญหาก็คือ ความศรัทธา และเชื่อมั่นว่าเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโตก็สามารถสอนให้เป็นคนดีได้ แต่ต้องเริ่มต้นสอนให้เขามีคุณธรรม และอาศัยความจริงใจ ความเมตตาปราณี ปรารถนาที่จะให้เขาเป็นคนดี และสิ่งสำคัญต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะหากครูมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เด็กก็จะสามารถรับรู้ และสัมผัสถึงความรักที่ครูมีให้ได้อย่างแน่นอน...

คำสำคัญ (Tags): #ถนนสายเปลี่ยว
หมายเลขบันทึก: 617020เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2016 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2016 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท