(143) 'จิตสำนึกคุณภาพ' ของฝ่ายยานพาหนะ


ดิฉันสังเกตพบว่า รถตู้รับ-ส่งผู้ป่วยรักษาด้วยไฟฟ้า มีกระดาษขนาด A4 เขียนตัวอักษรด้วยลายมือโย้เย้ตัวใหญ่เต็มหน้ากระดาษว่า “ECT” ติดไว้ 3 จุด บริเวณหน้ารถและข้างรถซ้าย-ขวา จุดละ 1 แผ่น


จิตสำนึกคุณภาพ (Quality Awareness)

ขออารัมภบทเสียก่อนนะคะ จิตสำนึกคุณภาพ (Quality Awareness) หมายถึง การที่ผู้ปฏิบัติงานมีการรับรู้ถึงผลกระทบที่ได้จากการปฏิบัติงาน หรือมีสติรู้ว่าขณะปฏิบัติงานนั้นต้องให้ความสนใจกับคุณภาพอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้สินค้าหรือบริการมีคุณภาพหรือได้มาตรฐานตรงตามที่กำหนดไว้ ประโยชน์ที่ได้จากการที่พนักงานมีสติสำนึกคุณภาพ คือ ปริมาณของเสีย (defect) หรือการแก้ไขงาน (rework) หรือการหยุดรองาน (delay) ลดน้อยลง ประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานสูงขึ้น (http://www.qa.kmutnb.ac.th/)

KM พระศรี : ‘รถพุ่มพวง’

ต้นเดือนสิงหาคม 59 ที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดการความรู้ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ได้ดำเนินการเบิกทางการดำเนินงาน KM โดยประดิษฐ์ ‘รถพุ่มพวง’ ขึ้น ใช้เป็นเครื่องมือรณรงค์ให้ประชาชนคนพระศรีฯ หันมาให้ความสนใจ KM ผลการดำเนินงานสามารถเรียกร้องความสนใจได้เกินคาด เขียนเป็นบทความเผยแพร่ในเว๊บไซต์ 2 แห่ง ได้แก่ Facebook และ gotoknow.org เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องได้อีกหลายเรื่อง

ที่ผ่านมา เราได้กระตุ้น ชี้แนะและช่วยเหลือให้ ‘ชาวพระศรี’ ได้แนวทางการพัฒนางานคุณภาพหลายหน่วยงาน แต่เพิ่งจะมีโอกาสดูแลฝ่ายยานพาหนะ หน่วยงานสนับสนุนหน่วยใหม่ ที่เพิ่งแยกออกจากฝ่ายบริหาร หัวหน้าฝ่ายฯนี้เติบโตจากพนักงานขับรถ เราเชื่อว่าการพัฒนาในลักษณะ ‘พาทำ’ จะช่วยพัฒนาทักษะ ‘การนำ’ ได้เป็นผลดี

สถานการณ์ KM ฝ่ายยานพาหนะ

เหตุการณ์ เป็นดังนี้นะคะ .. วันจันทร์-พุธ-ศุกร์ ครึ่งวันเช้า ดิฉันปฏิบัติหน้าที่พยาบาลหน่วยรักษาด้วยไฟฟ้าตามปกติ วานนี้ 10 ต.ค.59 ดิฉันสังเกตพบว่า ถตู้รับ-ส่งผู้ป่วยรักษาด้วยไฟฟ้า มีกระดาษขนาด A4 เขียนตัวอักษรด้วยลายมือโย้เย้ตัวใหญ่เต็มหน้ากระดาษว่า “ECT” ติดไว้ 3 จุด บริเวณหน้ารถและข้างรถซ้าย-ขวา จุดละ 1 แผ่น จึงสอบถามพนักงานขับรถ (นายอุบล นพคุณ) ได้ข้อมูลว่าเขียนข้อความนี้ติดรถไว้ เพื่อสื่อสารว่ารถคันนี้กำลังให้บริการอะไร ลดปัญหาความสับสน “จะได้ไม่ต้องร้องถามกันบ่อยๆ” ดิฉันแสดงความชื่นชมวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารว่าสร้างสรรค์ดีมาก แล้วซักต่อว่าคิดขึ้นมาเองหรือเป็นมติของฝ่ายยานพาหนะ ได้คำตอบว่า “คิดเอาเอง”

KM 'เชิงรุก'

เราสนทนากันต่ออีกครู่หนึ่ง ดิฉันแจ้งให้นายอุบลทราบว่าเขามองเห็นปัญหาเรื่องการสื่อสารที่หน้างาน และหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งได้ผลดีมาก สะท้อนว่าเขามีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพ เพียงแต่ขาดทักษะการทำให้เป็นกระบวนการ ดิฉันจะช่วยหาแหล่งสนับสนุนให้เขาและฝ่ายยานพาหนะพัฒนางานของตนเองได้

ภายหลังเสร็จงานที่หน่วยรักษาด้วยไฟฟ้า ดิฉันก็กลับมาเขียนใบความเห็น แสดงความชื่นชมวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์นี้เพื่อให้เรื่องนี้เข้าสู่ระบบคุณภาพของโรงพยาบาล แล้วไปขอคำปรึกษาจากรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายยานพาหนะ เพื่อขอให้ท่านเป็น “คุณเอื้อ” ส่วนดิฉันจะทำหน้าที่ “คุณอำนวย” และจัดหา “คุณกิจ” ให้ตามความเหมาะสม

‘เรา’ หมายถึงดิฉัน สำนักคุณภาพ และผู้บริหาร คาดหวังว่าจะได้เฉลิมฉลองผลงานการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (Continuous Quality Improvement: CQI) ผลงานชิ้นแรกของฝ่ายยานพาหนะ ในปีงบประมาณ 2560 นี้

.. ซวดๆ ด้วยกันนะคะ

หมายเลขบันทึก: 616877เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2016 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2019 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หวัดดีจ้ะคุณดารณี

มาทักทายด้วยความระลึกถึงจ้ะ

มีจำปาดะทอด มาฝากจ้ะ



รู้แล้วๆ ทำไมทานข้าวเย็นได้น้อย เจ้าจำปาดะจานนี้นี่เอง (ฮา) ขอบคุณนะคะคุณมะเดื่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท