สรุปข้อเท็จจริงกรณีนางรัชนี แซ่เอี๊ยบหรือคุรแม่ติ๋ม:อดีตคนไร้รัฐเพราะไร้รากเหง้า


สรุปข้อเท็จจริงกรณีนางรัชนี แซ่เอี๊ยบหรือคุณติ๋ม : อดีตคุณแม่ผู้ไร้รัฐ เพราะไร้รากเหง้า

สรุปโดย นางสาวปภาวดี สลักเพชร[๑] เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

ภายใต้โครงการพื้นที่เรียนรู้เพื่อสันติสุขของประชาชนอาเซียน[๒]

---------------------------------------------------------------------------------

.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนางรัชนี แซ่เอี๊ยบ[๓]

นางรัชนี แซ่เอี๊ยบ เล่าว่าตั้งแต่เด็กจนโตเธอไม่ทราบว่าตนเองเกิดที่ไหน เกิดอย่างไร และบิดามารดาคือใคร แต่จำได้เพียงว่าเธออาศัยอยู่กับยายซึ่งเป็นคนนำเธอมาเลี้ยงชื่อว่านางดี สุวรรณศรีหรือยายดี ตั้งแต่เล็ดจนโต ณ จังหวัดเชียงใหม่ และเธอยังเล่าอีกว่าแม้ยายดีจะเก็บเธอมาเลี้ยง แต่ก็ไม่ได้มีชีวิตที่ดี เพราะเธอต้องทำงานอย่างหนัก ไม่มีเวลาได้ออกไปเล่นเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ บางวันข้าวก็แทบจะไม่ได้ทาน เวลาได้ทานก็จะเป็นข้าวคลุกเกลือ คลุกพริกป่น อีกทั้งไม่ได้ไปเรียนหนังสือ เป็นเหตุให้คุณรัชนีไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้เลย

คุณรัชนีเองก็ไม่ทราบว่า บุพการีผู้ให้กำเนิดเธอนั้นเป็นใคร ชื่ออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ความทรงจำเดียวที่มี คือ มีผู้หญิงคนหนึ่งเคยป้อนข้าวซึ่งเธอก็เข้าใจว่าเป็นมารดา แต่อย่างไรก็ตามในตอนนั้นเธอเล่าว่ายังเด็กมากทำให้ไม่สามารถจดจำอะไรได้มากนัก และเธอก็ไม่ว่าวัน เดือน ปีเกิดของตนเช่นเดียวกัน เพราะยายดีก็ไม่เคยบอกว่าเธอเกิดเมื่อใด แต่ก็มีเพื่อนบ้านเคยประมาณให้ว่าน่าจะเกิดประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๒

ตั้งแต่เล็กจนโต เธอก็ไม่เคยมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกและไม่มีเอกประจำตัวบุคคลใดๆเลย เพราะยายดีก็ไม่เคยบอกหรือนำเอกสารใดๆมาให้เก็บไว้เลย

นอกจากนี้ คุณรัชนีเล่าว่าเธออาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่จำความได้ซึ่งก็อายุประมาณ ๖-๗ ปี จนกระทั่งอายุได้ประมาณ ๑๕-๑๖ ปี โดยอาศัยอยู่กับนางดี สุวรรณศรี และนายศรีเมือง สุวรรณศรี ณ เลขที่ ๒๕ ซอย ๙ ถนนมูลเมือง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ศรี (ปรากฏตามภาพถ่ายของคุณรัชนี คุณศรีเมือง และคุณสายทองเอกสารแนบท้ายหมายเลข๑) และช่วงที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีผู้รู้จักคุ้นเคยและเป็นพยานการปรากฏตัวในประเทศไทยของเธอได้ คือ นางสายทอง ศิริสาน (มีชีวิตอยู่) ซึ่งเธอเล่าว่าทั้งคู่เสมือนเป็นพี่น้องกัน และเห็นกันมาตั้งแต่เด็ก


(ภาพถ่ายคุณรัชนี (ซ้าย) คุณศรีเมือง(กลาง) และคุณสานทอง(ขวา) ณ จังหวัดเชียงใหม่)

ในเวลาต่อมาช่วงที่เธออายุได้ประมาณ ๑๕-๑๖ ปี หรือประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๑๖ เธอเล่าว่าเธอเดินทางมาทำงานที่กรุงเทพมหานคร โดยทำงานร้านอาหารข้าวแกงที่สำโรง จนกระทั่งร้านปิดตัวลง ประมาณปี ๒๕๑๙ เธอจึงต้องย้ายไปทำงานที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งตอนนั้นเธออายุได้ประมาณ ๑๙ ปี โดยเธอเล่าว่าเธอเริ่มต้นจากการทำงานที่ร้านอาหารในจังหวัดราบุรีเช่นกัน จนกระทั่งได้พบรักกับนายประวิทย์ แซ่เอี๊ยบ ถือบัตรประจำตัวประชาชน มีเลข ๑๓ หลัก คือ ๔-xxxx-xxxxx-xx-x ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ออกโดยสำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ (ปรากฏตาม บัตรประจำตัวของคุณประวิทย์ แซ่เอี๊ยบ เอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๒) ซึ่งเป็นลูกค้าในร้านอาหารที่เธอทำงานอยู่ และในที่สุดทั้งสองคนก็ตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยอยู่กินกันฉันท์สามี ภรรยา และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ นางสาวอติณัท แซ่เอี๊ยบ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ปัจจุบันถือบัตรประจำตัวประชาชน ๔-xxxx-xxxxx-xx-x ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ ออกโดยสำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพ ดัง(ปรากฎตาม สูติบัตรเลขที่ ๕๔๓๒ ออกโดย สำนักทะเบียนท้องถิ่น เทศบาลเมืองราชบุรี ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๖ และบัตรประจำตัวประชาชนของคุณอติณัท แซ่เอี๊ยบเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๓ และ ๔ ตามลำดับ)

เธอและครอบครัวอยู่ที่จังหวัดราชบุรีจนกระทั่งปี ๒๕๓๐ ทั้งสามคนจึงได้ย้ายที่อยู่มาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ในช่วงที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดราชบุรี มีพยานรู้เห็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของทั้งสองคน คือ นายสุชาญ จิตร์วิวัฒน์และนางสุมาลี จิตร์วิวัฒน์ ซึ่งเป็นญาติของคุณประวิทย์ แซ่เอี๊ยบ (ปรากฏตามบันทึกการสอบปากคำพยานของนายสุชาญและนางสุมาลี จิตร์วิวัฒน์ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๙ ณ จังหวัดราชบุรี เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๕ และ ๖ ตามลำดับ)

ประมาณปี ๒๕๓๐ คุณรัชนีเล่าว่าเธอน่าจะอายุประมาณ ๓๐ ปี เธอและครอบครัว ได้แก่ คุณประวิทย์และคุณอติณัท แซ่เอี๊ยบ (อายุ ๔ ปี) ได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เริ่มจากอาศัยอยู่ที่ซอยโลตัสปิ่นเกล้า(ซอยกุ้งหลวงเก่า) ซึ่งเป็นบ้านเช่าและขณะนั้นก็ประกอบอาชีพค้าขาย และทั้งสามคนอาศัยอยู่ที่นั่นประมาณ ๒ ปีกว่า

จากนั้นประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๓ ทั้งสามคนย้ายมาอยู่ที่ บ้านเลขที่ ๑๔๗/๔๒ ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และอาศัยอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งเจ้าของบ้านได้ขายบ้านหลังดังกล่าวไปในปี พ.ศ.๒๕๕๑

ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ คุณรัชนีและครอบครัวจึงต้องย้ายมาอาศัยอยู่บ้านใกล้ๆกัน คือ บ้านเลขที่ ๑๔๗/๓๗ ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และอาศัยอยู่ที่นี่เรื่อยมาจนปัจจุบัน (ปรากฏตามภาพถ่ายบริเวณบ้านที่อาศัยของครอบครัวแซ่เอี๊ยบ เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๗)โดยมีพยานรู้เห็นการอาศัยอยู่ของครอบครัวแซ่เอี๊ยบ คือ นางสาวศรวณีย์ พิชิตพันธ์พงศ์ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเก่าแก่ที่รู้จักกันมานานและเป็นบุคคลที่รู้เห็นการอยู่อาศัยตลอด ๒๘ ปีที่ผ่านมา(ปรากฏตามบันทึกการสอบปากคำพยานนางสาวศรวณีย์ พิชิตพันธ์พงศ์ ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๙ เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๘

(ภาพภ่ายบริเวณบ้านเลขที่ ๑๔๗/๓๗ ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน)

สำหรับชีวิตในปัจจุบันของเธอก็ถือว่ามีความสุขในระดับหนึ่งแต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาบางประการดังจะกล่าวต่อไป

.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาที่ประสบของคุณรัชนี แซ่เอี๊ยบ

.๑ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

คุณรัชนี ไม่เคยได้รับการบันทึกชื่อลงในทะเบียนราษฎรของรัฐใดๆเลยบนโลก จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๘ ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภท ทร.๓๘ ก. และถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนมีเลข ๑๓ หลัก คือ ๐-xxxx-๐๐xxx-xx-x ซึ่งออกโดย สำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตบางกอกน้อย ออกเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๙ (ปรากฏตามบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของคุณรัชนี แซ่เอี๊ยบ เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๙) ซึ่งทำให้เธอไม่ตกเป็นคนไร้รัฐอีกต่อไป


(บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของคุณรัชนี แซ่เอี๊ยบ)

แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันแม้เธอจะไม่ไร้รัฐ แต่ก็ยังคงไร้สัญชาติ ตลอดจนยังคงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่

.๒ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

.๒.๑ สิทธิในการสาธารณสุข

คุณรัชนีและคุณอติณัทเล่าว่า ผลจากการตรวจสุขภาพที่คลินิกธงชัย ซึ่งเป็นคลินิกที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านที่เธอและครอบครัวอาศัยอยู่ ปรากฏว่าเป็นโรคความดันต่ำและเบื่ออาหาร นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่แขน ไม่สามารถยกแขนได้ เพราะหากยกจะรู้สึกเจ็บปวดมาก ซึ่งเธอเลือกช่องทางการรักษาด้วยการไปนวดแทนการไปโรงพยาบาล (ปรากฏตาม บัตรสถาบันพรหมวชิรญาณคลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ สาขายานนาวา เอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๑๐)


(บัตรคลินิกการแพทย์แผนไทยของคุณรัชนี แซ่เอี๊ยบ)

แต่อย่างไรก็ตามบุตรสาวของเธอประสงค์ที่จะให้คุณรัชนีได้รับการรักษาโดยเครื่องมือแพทย์ที่ดีที่สุด จึงต้องการให้มารดาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแทนคลินิกแต่ก็ต้องประสบปัญหาเพราะทุกครั้งที่พาไปเธอมักจะถูกโรงพยาบาลปฏิเสธ เพราะไม่มีเลข ๑๓ หลัก แต่อย่างไรก็ตามแม้จะปรากฏว่าเธอมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักแล้วก็ตามก็ยังมีปัญหาเรื่องการซื้อหลักประกันสุขภาพที่เธอยังไม่สามารถซื้อได้ เพราะโรงพยาบาลอ้างว่าไม่มีกฎเกณฑ์ให้คนต่างด้าวกรณีเช่นคุณรัชนี ซื้อหลักประกันสุขภาพได้ (รายละเอียดปรากฎตามบันทึกสถานการณ์การเข้าไม่ถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพ : กรณีคุณรัชนี แซ่เอี๊ยบ https://goo.gl/QF8qNh )

.๒.๒ สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว

คุณรัชนีและคุณประวิทย์ แซ่เอี๊ยบ อยู่กินกันฉันท์สามี ภริยาจนมีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน ซึ่งก็รวมเป็นระยะเวลากว่ามากว่า ๓๓ ปี แต่ในวันนี้คุณรัชนี และคุณประวิทย์ มีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันได้มีการสอบปากคำพยานที่รู้เห็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของทั้งสองคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว(ปรากฏตามบันทึกการสอบปากคำพยานของนายสุชาญและนางสุมาลี จิตร์วิวัฒน์และนางสาวศรวณีย์ พิชิตพันธ์พงศ์ เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๕-๗) ทั้งนี้เพื่อเตรียมดำเนินการเพื่อจดทะเบียนสมรสให้แก่ทั้งสองคนต่อไป

.๒.๓ สิทธิในการเคลื่อนไหว

คุณรัชนี เล่าว่า แม้เธอจะไม่ทราบว่าตนเองเกิดที่ไหน แต่เท่าที่จำความได้ก็อาศัยอยู่ในประเทศไทยตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศไทยเลยแม้แต่ครั้งเดียว และแม้จะปรากฏว่าเธอไม่ไร้รัฐแล้ว แต่เธอก็ยังถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ ดังนั้นทำให้การใช้สิทธิเดินทางของเธอยังต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขและถูกจำกัดอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุม

.๓ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในคุณภาพชีวิต

๒.๓.๑ สิทธิในการทำงาน

จากข้อเท็จจริงข้างต้นแม้จะปรากฏว่าคุณรัชนี เคยทำงานรับจ้างในร้านอาหาร ซึ่งการทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตทำงาน แต่ก็ยังไม่เคยปรากฏปัญหาที่ทำให้คุณรัชนีไม่สามารถทำงานได้ แต่ปัจจุบัน คุณรัชนี มิได้ทำงานอะไร แต่ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านที่คอยดูแลสามีและบุตร

๒.๓.๒ สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน

จากข้อเท็จจริงทรัพย์สินปัจจุบันของครอบครัวแซ่เอี๊ยบ จะเป็นชื่อของคุณประวิทย์และคุณอติณัท แซ่เอี๊ยบ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคุณรัชนีมีปัญหาเรื่องการถือครองทรัพย์สินแต่ประการใด

.๔ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในการมีส่วนร่วม

คุณรัชนี แซ่เอี๊ยบ ยังไม่เคยมีโอกาสได้ลงคะแนนเสียงเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลที่จะมาเป็นตัวแทนราษฎรในการบริหารประเทศแม้แต่ครั้งเดียว แต่คุณรัชนีก็เล่าว่าเธอเองก็มีความประสงค์ที่จะใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งบุคคลที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศด้วยเช่นกัน

.๕ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าคุณรัชนี เคยเขียนคำร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ความคุ้มครองและติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือคุณรัชนี แซ่เอี๊ยบ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๙ คำร้องเลขที่ ๓๒/๒๕๕๙ ประกอบกับหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้คุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพและติดตามการดำเนินในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของคุณรัชนี แซ่เอี๊ยบ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๙ ซึ่งออกโดยคณะทำงานโครงการบางกอกคลินิก (ปรากฏตามแบบบันทึกคำร้องเรียนถึงคณะกรรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเอกสารแนบท้ายหมายเลข๑๑ และ ๑๒ ตามลำดับ)



(ภาพการเปิดพื้นที่เรียนรู้กับคุณรัชนี แซ่เอี๊ยบและครอบครัว ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)



[๑] นักกฎหมายประจำโครงการบางกอกคลินิกและนักศึกษาปริญญาโทสาขากฎหมายอาญาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ผู้ช่วยทางวิชาการ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ สายุสนทร

[๒] ภายใต้ความร่วมมือของโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิฮันส์ ไซ เดล (ประจำประเทศไทย)

[๓] ข้อมูลจากเอกสารสรุปข้อเท็จจริงโดยคุณอติณัท แซ่เอี๊ยบ บุตรสาวของคุณรัชนี แซ่เลี๊ยบ ซึ่งส่งมาทางห้องสนทนาของโปรแกรมFacebook เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๑.๒๖ น.

หมายเลขบันทึก: 616620เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท