การใช้คำถามพัฒนาการคิดเพื่อส่งเสริมการอ่าน


เทคนิคการสอนอ่านเพื่อความเข้าใจ

“การใช้คำถามพัฒนาการคิด”


เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.




เทคนิคที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนอ่านหนังสือได้ดีขึ้นคือเทคนิคการใช้คำถาม คำถามคือข้อความประโยคสอบถามในลักษณะต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นให้นักเรียนกลับมาพิจารณาข้อความที่อ่าน และคิดทบทวนความรู้และประสบการณ์ของตนเองในการที่จะตอบคำถามนั้น มีผลการศึกษาพบว่า นักเรียนที่ประสบปัญหาในการอ่าน มักไม่สามารถที่จะตั้งคำถามจากสิ่งที่อ่านได้ เพราะไม่สามารถที่จะเข้าใจประเด็น จุดเน้น
หรือทราบรายละเอียดต่าง ๆ ของสิ่งที่อ่านอย่างชัดเจน โดยประโยชน์ที่สำคัญยิ่งของการตั้งคำถามก็คือ การทำให้นักเรียนเกิดจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะอ่านเพื่อตอบคำถามอะไร ซึ่งเมื่อสามารถกำหนดจุดประสงค์ได้ นักเรียนก็จะเชื่อมโยงและเลือกประสบการณ์ที่สอดคล้องกับคำถามเพื่อที่จะมาแก้ไขปัญหาและตอบคำถามนั้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่อ่านมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เราจึงสามารถเรียกการอ่านที่ให้นักเรียนตั้ง
และตอบคำถามในช่วงต่าง ๆ ของการอ่านว่า “การอ่านอย่างกระตือรือร้น” (active reading)

ครูผู้สอนควรสนับสนุนให้นักเรียนตั้งคำถามจากสิ่งที่อ่าน โดยการสาธิตลักษณะคำถามในหลายระดับ ซึ่งนักเรียนสามารถนำไปใช้กำหนดคำถามจากบทอ่านได้ ซึ่งปกติลักษณะของข้อคำถาม ที่มุ่งส่งเสริมการคิด
จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ คำถามระดับต่ำและคำถามระดับสูง ดังนี้

1. คำถามระดับต่ำ (lower cognitive questions) เป็นคำถามที่มุ่งสอบถามข้อมูลที่ปรากฏในบทอ่านอย่างตรงไปตรงมา มีจุดประสงค์เพื่อที่จะใช้ทบทวน หรือให้จดจำประเด็นสำคัญ ๆ ในข้อความ เกี่ยวกับข้อเท็จจริง หลักการ จำนวน ชนิด ประเภท หรือรายละเอียดต่าง ๆ ที่ปรากฏ ข้อคำถามระดับนี้ มักใช้คำแสดงคำถามว่า ใคร, อะไร เมื่อไร, ที่ใด, เวลาใด

ตัวอย่าง 1. ส่วนประกอบของเซลล์มีอะไรบ้าง

2. พันธะเคมีมีกี่ประเภท

3. การจำแนกสารมีเกณฑ์การจำแนกกี่เกณฑ์ อะไรบ้าง

4. ใครเป็นผู้ค้นพบอะตอม และค้นพบเมื่อใด

2. คำถามระดับสูง (higher cognitive questions) เป็นคำถามที่มุ่งให้นักเรียนคิดขยายความจากสิ่งที่อ่านเพิ่มเติมในระดับที่ลุ่มลึก และต้องอาศัยกระบวนการคิดมากกว่าการทบทวนความจำ คำถามในลักษณะนี้ มักเป็นคำถามแบบปลายเปิด ที่ให้นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองเพิ่มเติมโดย
การค้นคว้าความรู้อื่น ๆ มาประกอบได้ นอกจากนี้ ยังมีลักษณะเป็นคำถามที่เน้นให้นักเรียนตีความ
สรุปอ้างอิงไปสู่ประเด็นอื่น ๆ หรือสังเคราะห์ความคิดใหม่ขึ้น ข้อคำถามระดับนี้ มักใช้คำแสดงคำถามว่า อย่างไร, เพราะเหตุใด, ถ้า...แล้ว...จะอย่างไร, จะเกิดอะไรขึ้นถ้า...., สิ่งนี้.......ทำให้เกิดผลต่อไปอย่างไร, นำไปใช้อย่างไร, นำไปสู่เรื่องใด ฯลฯ

ตัวอย่าง 1. ผลของการไม่รักษาทรัพยากรธรรมชาติจะส่งผลอย่างไร

2. ถ้าจะลดปัญหาอัตราการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

3. ถ้าระบบทางเดินอาหารมีปัญหา จะส่งผลต่อร่างกายต่อไปอย่างไร

4. การตรวจสอบสารเนื้อผสม หากไม่ใช่วิธีการในหนังสือจะมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ อย่างไร

การสอนอ่านโดยใช้คำถามในระยะแรก จำเป็นจะต้องอาศัยครูเป็นผู้แสดงตัวอย่างของคำถามและสาธิตการตั้งคำถามจากบทอ่าน จากนั้นจึงค่อย ๆ สนับสนุนให้นักเรียนอ่านและฝึกตั้งคำถาม ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการอ่าน จากนั้น ครูสามารถนำคำถามต่าง ๆ ที่นักเรียนตั้งขึ้น มาให้นักเรียนทั้งชั้นพิจารณา และค้นหาคำตอบร่วมกัน ซึ่งก็จะช่วยให้นักเรียนได้คิดและพิจารณาสิ่งที่อ่านได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลโดยตรงต่อระดับความสามารถในการอ่าน การสอนการอ่านให้ประสบความสำเร็จจึงจำเป็นจะต้องอาศัยการสังเกตรอบรู้ และการตั้งคำถาม อันจะนำไปสู่การสืบสอบ (inquiry) ที่จะสร้างแรงจูงใจในการอ่าน การค้นคว้าและการคิดอย่างเป็นระบบของนักเรียน

________________________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 616079เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2016 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2016 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท