หลักธรรมกับการสังคมสงเคราะห์ทางการเมือง


  • การเมืองตามแนวพุทธศาสนา ไม่ได้กำหนดว่าการปกครองระบอบไหนที่ดีที่สุด แต่การเมืองการปกครองจะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้นำ คือนักการเมือง ทุกท่านที่มาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง บริหารบ้านเมืองว่าจะมีคุณธรรมหรือไม่ ถ้าผู้นำมีคุณธรรม การเมืองไม่ว่าจะปกครองระบอบไหนก็ดีเหมือนกัน การปกครองโดยธรรม เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทำให้ประชาชนพอใจ แต่ถ้าผู้ปกครองที่ขาดคุณธรรมไม่ว่าจะใช้รูปแบบการปกครองแบบใด ก็จะทำให้บ้านเมืองนั้นไม่ดีไปด้วย

พลเมืองต้องมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง รู้จักระบอบการเมืองการพัฒนาประชาชน มีความรู้ มีคุณธรรมให้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

หลักธรรมสำหรับผู้นำ

ทศพิธราชธรรม10 ประการ

  • คุณธรรมของนักปกครองหรือหัวหน้าเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยทั่วไปหัวหน้ามักจะมีสิทธิและอำนาจที่จะสั่งการและดำเนินกิจกรรมของหมู่คณะ หากหัวหน้าหรือนักปกครองปราศจากคุณธรรมแล้ว สมาชิกของหมู่คณะก็จะอยู่ด้วยกันอย่างปราศจากความสงบสุข หมู่คณะเองก็จะไม่เจริญก้าวหน้า ในหมู่คณะใดหมู่คณะหนึ่ง หากมีสมาชิกคนหนึ่งไร้คุณธรรม ผลร้ายที่เกิดขึ้นอาจตกอยู่กับคนใกล้เคียงไม่กี่คน แต่หากนักปกครองขาดคุณธรรม ผลร้ายจะเกิดกับคนทั้งหมด

พระพุทธศาสนา ได้สอนไว้ว่า นักปกครองที่ดีนั้นควรมีคุณธรรม 10 ประการ เรียกว่า ทศพิธราชธรรม ดังต่อไปนี้

1. การให้ (ทาน) คือ การสละทรัพย์ สิ่งของเพื่อช่วยเหลือสมาชิกของหมู่คณะที่ด้อยและอ่อนแอกว่าผู้อื่น ในระดับประเทศก็คือ การบำรุงเลี้ยงและช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนในสังคมแทบทุกแห่ง จะมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งช่วยตัวเองได้น้อย หรือไม่ได้เลย เช่น คนชรา คนพิการ เป็นต้น คนเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลจากหัวหน้า หรือนักปกครองแล้วคงดำรงชีวิตอยู่ได้ยาก

2. การตั้งอยู่ในศีล (ศีล) คือ มีความประพฤติที่ดีงาม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไปได้ ในหมู่คณะใดสังคมใดก็ตาม ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในศีล มีแต่ทุจริตเบียดเบียนกัน สังคมนั้นจะอยู่ไม่ได้ จะต้องถึงความหายนะในที่สุด นักปกครองนั้นอยู่บนที่สูง ใคร ๆ ก็เห็นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นด้านดีด้านชั่ว ถ้านักปกครอง ทำดีคนก็จะถือเป็นแบบอย่าง ถ้าทำชั่วคนก็จะใช้เป็นข้อแก้ตัวว่า แม้แต่หัวหน้ายังทำได้ เราก็น่าจะทำได้ด้วย ศีลจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งสำหรับ นักปกครอง

3. การบริจาค (ปริจาคะ) คือ การเสียสละ ความสุขสำราญของตนเพื่อประโยชน์สุข ของหมู่คณะ ผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้ปกครองย่อมมีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบมาก ต้องดูแลทุกข์สุขของคนทั่วไป ต้องพยายามประสานงานภายในหมู่คณะ ต้องพยายามหาทางทำให้หมู่คณะหรือประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง จึงจำเป็นที่ผู้เป็นนักปกครองจะต้องอุทิศกำลังกาย กำลังใจและกำลังความคิดให้แก่ส่วนรวม นักปกครองที่ดีจะต้องใช้เวลากับงานใหน้าที่ของตน ต้องหมั่นสอบถาม ความทุกข์ความสุขของคนในดูแล ต้องปรึกษาการงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ติดตามผลที่ได้สั่งให้คนอื่นปฏิบัติ และทำหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย นักปกครอง จึงต้องเสียสละความสุขสบายของตน จะทำตัวเป็นคนเจ้าสำราญไม่ได้ เพราะคนอื่นจะเอาอย่าง สังคมหรือหมู่คณะจะเจริญได้ยาก

4. ความซื่อตรง (อาชชวะ) คือ ผู้ทรงสัตย์ ปฏิบัติการงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่หลอกลวงประชาชนหรือสมาชิกของหมู่คณะ มีความจริงใจ ปากกับใจตรงกัน ไม่ทำตนเป็นคนเจ้าเล่ห์กับประชาชน ไม่กลับกลอก ไม่พูดลับหลังอย่างหนึ่งต่อหน้าอย่างหนึ่ง คุณธรรมข้อนี้สำคัญมาก สำหรับนักปกครอง ถ้าคนในสังคมหรือหมู่คณะนั้นจะไม่สงบสุข ก็ยังไม่สู้กระไร แต่ถ้านักปกครองหรือหัวหน้าหมู่คณะไม่ซื่อตรงแล้ว สังคมและหมู่คณะนั้นจะระส่ำระสาย และปั่นป่วนอย่างที่สุด เพราะสังคมและหมู่คณะขาดที่พึ่ง ขาดหลักที่จะยึดถือ หากคนทั่วไปไม่มีศรัทธาในตัวนักปกครองหรือหัวหน้าแล้วความสงบสุขจะมีไม่ได้

5. ความอ่อนโยน (มัททวะ) คือ มีกิริยาสุภาพ มีวาจาอ่อนหวาน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หยาบคาย มีความนุ่มนวล ผู้คนได้พบได้เห็นก็มีแต่ความสบายใจ แต่ความอ่อนโยนมิได้หมายความว่าอ่อนแอ ความอ่อนโยนนั้นแฝงไว้ด้วยความสง่างามได้ นักปกครองที่ดีจะต้องมีทั้งความอ่อนโยนและเข้มแข็งในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะความเข้มแข็งมิใช่ความแข็งกระด้าง ความอ่อนโยนเป็นลักษณะที่สำคัญของนักปกครอง เพราะช่วยให้ผู้คนเกิดความรัก ความชื่นชมยินดี ที่จะให้ความร่วมมือในกิจการต่าง ๆ นักปกครองที่หยาบกระด้างพูดจากดูถูกเหยียดหยามคน แม้จะมีความสามารถและตั้งใจทำงาน แต่ก็ไม่อาจโน้มน้าวใจให้คนอื่น ร่วมมือได้มากเท่าที่ควร

6. ความมีตบะ (ตปะ) คือ การเพียรพยายามขจัดความมัวเมามิให้เข้ามาครอบงำจิตใจ สามารถบังคับตนเองมิให้ลุ่มหลงหมกมุ่นกับความสุขสำราญ จนเป็นเหตุให้เสียการงาน เป็นคนที่มีชีวิตเรียบง่าย ไม่มัวเมากับอบายมุขและสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย นักปกครองที่ดีจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าตนมีหน้าที่อะไร มีความรับผิดชอบ ต่อประชาชนอย่างไร ต้องมุ่งมั่นต่อหน้าที่ มิใช่มุ่งมั่นต่อความสำราญ ปุถุชนโดยทั่วไปนั้นบางครั้งอาจต่อสู้กับสิ่งเย้ายวนได้แล้ว สังคมจะขาดหลักยึดเหนี่ยว และไม่อาจก้าวหน้าไปสู่ความเจริญได้ ถ้านักปกครองทำตนให้คนอื่นเห็นเป็นตัวอย่างได้ว่า หน้าที่สำคัญกว่าความสุขสำราญ สังคมก็จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แม้มีอุปสรรคก้จะฟันฝ่าได้ไม่ยาก

7. ความไม่โกรธ (อักโกธะ) คือ มีจิตใจมั่นคง ไม่ฉุนเฉียว มีความสุขุม เยือกเย็น สามารถอดกลั้นความไม่พอใจไว้ได้ นักปกครองที่ดีจะต้องรับฟังคำ วิพากษ์วิจารณ์ ได้อย่างใจเย็น เมื่อคนพูดเสียดสีก็ข่มใจไว้ไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบด้วยอารมณ์ แต่ใช้เหตุใช้ผลพูดจากัน นักปกครองที่ใจเย็นไม่โกรธง่ายจะก่อให้เกิด ความรู้สึกเกรงขาม คนจะเคารพเลื่อมใส นักปกครองที่เจ้าอารมณ์ โกรธง่าย อาจทำให้การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ไม่ยุติธรรมได้ อาจทำให้การงานเกิดความเสียหายได้

8. ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ ไม่กดขี่ห่มเหงคนอื่น ไม่หลงระเริงในอำนาจ ทำอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินผู้อื่นตามอำเภอใจ การเบียดเบียน รวมไปถึงการลงโทษแก่คนทำผิดเกินสมควรแก่เหตุ การเกณฑ์แรงงานโดยไม่ให้ค่าตอบแทนตามควร การออกกฎหมายหรือระเบียบบังคับไม่ให้คนมีอิสระเท่าที่ควร สังคมใดก็ตาม ที่มีนักปกครองหรือหัวหน้าชอบเบียดเบียนผู้อื่นดังกล่าว จะมีแต่ความยุ่งเหยิง ระส่ำระสาย ผู้คนอาจทนไม่ได้และรวมตัวกันใช้ความรุนแรงโต้ตอบ การที่สมาชิกของสังคมเบียดเบียนกันเองนั้น สังคมก็ไม่เป็นปกติสุขอยู่แล้วยิ่ง ถ้าหัวหน้าหรือนักปกครองเป็นผู้กดขี่ห่มเหงเสียเอง ความเดือดร้อนก็ยิ่งจะกระจายไปทุกแห่ง เนื่องจากมีอำนาจในมือ จึงข่มเหงคนได้ในวงกว้าง อำนาจของหัวหน้าหรือนักปกครองนั้นมีไว้เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของคนอื่น ควรใช้อำนาจนั้นด้วยความเมตตากรุณา สังคมจึงจะสงบสุข

9. ความอดทน (ขันติ) คือ ความสามารถทนต่องานหนักได้ สามารถเผชิญกับความยากลำบากได้อย่างเข็มแข็ง เมื่อพบอุปสรรคในการทำงาน ก็ยิ่งเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวไม่ท้อแท้ ความอดทนยังหมายถึง ทนต่อคำเสียดสีถากถางได้ ไม่กล่าวคำรุนแรงตอบ ไม่บ่นจุกจิกให้เป็นที่รำคาญของคนใกล้เคียง อดกลั้น ที่จะไม่พูดเปิดเผยความลับของผู้อื่น หัวหน้าหรือนักปกครองที่มีความอดทนนั้นย่อมมีสง่าราศี น่าเกรงขาม ผู้คนเกรงใจ ใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้และร่วมงานด้วย เพราะก่อให้เกิดความอบอุ่นใจในการร่วมงานกัน นักปกครองที่วู่วาม อ่อนแอขี้บ่น และทนลำบากไม่ได้นั้น จะไม่ได้รับความไว้วางใจและความเลื่อมใสจากผู้ ที่ยู่ในความดูแล จะได้รับแต่ความเหยียดหยาม ดูหมิ่น ไม่อาจเป็นสัญลักษณ์ที่จะรวมพลังของหมู่คณะได้ แต่นักปกครองที่อดทนเข้มแข็งจะสามารถเป็นศูนย์รวมน้ำใจ ของประชาชนได้ ปัญหาที่หนักก็จะกลายเป็นเบา กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง นักปกครองที่เข้มแข็ง สามารถก่อให้เกิดกำลังใจในหมู่ชนได้

10. ความไม่คลาดธรรม (อวิโรธนะ) คือ ความตั้งมั่นในธรรม ไม่หวั่นไหวในเรื่องดี เรื่องร้าย ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความดีงาม ไม่ประพฤติผิด ทำนองคลองธรรม พระราชวรมุณี (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้อธิบายไว้ว่า "อวิโรธนะ คือ การวางตนเป็นหลักแน่นในธรรมคงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใด ๆ สถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรมคือ ระเบียบแบบแผน หลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้คลาดเคลื่อนวิบัติไป

นักปกครองที่มีลักษณะเหล่านี้ จะได้รับความเคารพนับถือและความไว้วางใจจากประชาชน พวกเขาจะมีความรู้สึกว่านักปกครองมีคุณธรรมสูง สมควรที่จะยกเป็นหัวหน้า ให้ความเคารพนับถือและปฏิบัติตาม เมื่อเป็น เช่นนี้สังคมนั้นก็จะมีแต่ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หน้าที่พลเมืองตามแนวทางพุทธศาสนา ควรประกอบด้วยคุณธรรม ๓ ประการ คือ

1. คารวธรรม หมายถึง การมีความเคารพซึ่งกันและกัน การประพฤติตนเป็นผู้มีคารวธรรม ปฏิบัติได้ ดังนี้

1) เคารพบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด เคารพญาติผู้ใหญ่ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย และผู้สูงอายุ เคารพครูอาจารย์ และเพื่อน ๆ โดยแสดงความ

เคารพและกล่าวคำทักทายด้วยคำสุภาพ

2) เคารพกฎระเบียบทางสังคม เช่น ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ

3) เคารพสิทธิของผู้อื่น เช่น ไม่ทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนา ไม่เอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นต้น

4) เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เช่น ควรฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความตั้งใจและไตร่ตรองก่อนตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ และไม่ควรยึดถือความคิดเห็นของตนว่าถูกเสมอไป

5) เคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันที่สำคัญสูงสุดของประเทศ

2. สามัคคีธรรม หมายถึง การร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม การประพฤติตนเป็นผู้มีสามัคคีธรรม ปฏิบัติได้ ดังนี้

1) ร่วมกันคิด ช่วยกันวางแผน และร่วมกันทำงานด้วยความเต็มใจ

2) ร่วมกันรับผิดชอบ ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ

3) ร่วมกันติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

4) ร่วมกันปรับปรุง มีการแก้ไข พัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ

5) ร่วมกันทำงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก

3. ปัญญาธรรม หมายถึง การใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต การประพฤติตนเป็นผู้มีปัญญาธรรม ปฏิบัติได้ ดังนี้

1) มีความคิดกว้างไกล โดยรับฟังข่าวสารและความคิดเห็นของผู้อื่น

2) ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไม่นำอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวมาใช้ตัดสินปัญหา

3) แสดงความคิดเห็น โดยปราศจากอคติ

4) รู้จักการคิด มีการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์อย่างมีเหตุผล

5) รู้จักโต้แย้งด้วยเหตุผล ถ้ามีการโต้แย้งในหมู่คณะให้ใช้เหตุผล และสติปัญญาเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับฟัง ไม่ใช้อารมณ์มาเป็นตัวตัดสินปัญหา

ความสำคัญของคุณธรรม และจริยธรรมที่กล่าวมานี้ ประเด็นที่สำคัญก็คือ สามารถลดปัญหา และขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคล สังคม และประเทศชาติได้ เมื่อทุกคน

ประพฤติปฏิบัติตนดีแล้ว อุปสรรค ศัตรู ภัยอันตราย ก็จะหมดสิ้นไป ผู้คนมีแต่ความรักต่อกัน สังคมมีแต่ความสงบ และประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง

หมายเลขบันทึก: 615999เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2016 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2016 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท