การสร้างชุมชนการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียน


การสร้างชุมชนการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียน


เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.




สาระการเรียนรู้ภาษาไทยมิได้มีแต่เฉพาะสาระการเรียนรู้ที่เป็นข้อมูลความรู้ มโนทัศน์ กฎ ไวยากรณ์ หรือหลักการเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยทักษะด้านการสื่อสารต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาลงไปที่กระบวนการสื่อสารในทางภาษาก็จะพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ และการได้รับผลป้อนกลับ ที่ทำให้บุคคลสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารของตนเองได้ ครูภาษาไทยจึงควรนำแนวคิดการสร้างชุมชนการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียน หรือ “Student Learning Community” มาใช้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผลการเรียนรู้ด้านทักษะ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับการสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะทางสังคม

สาระสำคัญของแนวคิดชุมชนเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนคือ การให้นักเรียนเข้ากลุ่มเพื่อที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการที่จะพัฒนาทักษะการสื่อสารของตนเองและเพื่อนที่อยู่ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาการอ่าน การฟัง การเขียน การพูด โดยครูจะมีบทบาทในการจัดกลุ่ม และจัดอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนการสอนที่สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มในการสื่อสาร รวมถึงการให้โอกาส เวลา สถานที่ ทั้งในและนอกห้องเรียนสำหรับการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ที่นักเรียนที่เป็นสมาชิกกลุ่มทุกคนจะมีหน้าที่และบทบาทในการพัฒนาทักษะทางภาษาของสมาชิกคนอื่น ๆ

กิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคิดการสร้างชุมชนการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียน มีลักษณะเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนเข้ากลุ่มแล้วพัฒนาทักษะทางภาษาด้วยกัน เช่น การส่งเสริมทักษะการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม นักเรียนเข้ากลุ่มแล้วแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ จากการอ่าน แล้วสะท้อนความคิดของตนเองด้วยการพูดหรือเขียน จากนั้นนักเรียนแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นของเพื่อน ซึ่งจะนำไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน อันจะเป็นการขยายประสบการณ์และช่วยสร้างความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น หรือตัวอย่างในการสอนเขียน นักเรียนก็สามารถเข้ากลุ่มกัน เพื่อช่วยกันคิดประเด็นการเขียนของตนเอง หรือวิพากษ์งานเขียนของเพื่อน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของงานเขียน ทำให้นักเรียนที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ได้ปรับปรุงและพัฒนาลีลา น้ำเสียง เนื้อหา และรูปแบบของงานเขียนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เป้าหมายของชุมชนการเรียนรู้ภาษาไทยคือ การให้นักเรียนแต่ละคนมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเรียนรู้ของเพื่อน โดยใช้ประสบการณ์และความคิดของตนเองในการสนับสนุนเพื่อนในหลาย ๆ ลักษณะ โดยมีครูเป็นผู้ประสานและให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการ และการประคับประคองให้นักเรียนแต่ละกลุ่มไปสู่เป้าหมายที่นักเรียนทุกคนมีความต้องการร่วมกัน

ใช่ว่าแต่ครูจะรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาวิชาชีพร่วมกัน ในทางตรงกันข้ามกลับมีคำถามที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้นักเรียนสร้างกลุ่มหรือชุมชน ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองในด้านภาษาไทยให้ไปสู่ความสำเร็จให้จงได้ เพื่อสร้างชุมชนของนักเรียนในลักษณะดังกล่าว ครูผู้สอนจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันของนักเรียน และให้พื้นที่และโอกาสสำหรับการทำงานในลักษณะของการแก้ปัญหา หรือการสร้างผลงานในลักษณะต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของการฟัง พูด อ่าน เขียนร่วมกัน และนักเรียนเห็นว่า ตนเองก็มีส่วนสำคัญที่จะพัฒนาเพื่อนของตนเองได้ด้วยเช่นกัน

_____________________________________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 615958เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2016 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2016 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท