หลักธรรมกับการสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน


สังคมสงเคราะห์กลุ่มชน

การสังคมสงเคราะห์กลุ่มชนเป็นวิธีการสังคมสงเคราะห์ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือบุคคลที่มีความสนใจ มีความต้องการ และมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ให้มาเข้ากลุ่มกัน เพื่อให้มีการติดต่อปะทะสังสรรค์ภายในกลุ่ม โดยใช้กิจกรรมเป็นสื่อกลาง

หลักธรรมกับกลุ่มชน

ทิศ 6

บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัวจัดเป็น 6 ทิศ ดังนี้

1. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา

2. ทักขิณทิส ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์

3. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามีภรรยา

4. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้ายได้แก่ มิตรสหาย

5. อุปริมทิส ทิศเบื้องบนได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์

6. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง

หลักธรรมของผู้ครองเรือน หรือ ฆราวาสธรรม 4 ประกอบด้วย

1.สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์

2.ทมะ คือ การฝึกตน

3.ขันติ คือ ความอดทน

4.จาคะ คือ ความเสียสละ

กล่าวคือทั้งสามีและภรรยา จะต้องมีความซื่อสัตย์ ฝึกตน อดทน และเสียสละ ที่เท่าเทียมกัน จึงจะทำให้การครองเรือนมีความสุข อยู่ด้วยกันได้นาน

สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในภายหน้า 4 อย่าง

1. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

2. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือ รักษากาย วาจา เรียบร้อยดีไม่มีโทษ

3. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น

4. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์

สาราณียธรรม 6

หมายถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ถือว่าเป็นธรรมที่เป็นพลังในการสร้างความสามัคคี มีอยู่ 6 ข้อ คือ

1. กายกรรม อันประกอบด้วยเมตตา คือ การกระทำทางกายที่ประกอบด้วยเมตตา เช่นการให้การอนุเคราะห์ช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ไม่รังแกทำร้ายผู้อื่น

2. วจีกรรม อันประกอบด้วยเมตตา คือ การมีวาจาที่ดี สุภาพ อ่อนหวาน พูดมีเหตุผล ไม่พูดให้ร้ายผู้อื่นทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

3. มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา คือ ความคิดที่ประกอบด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นการคิดดีต่อกันไม่คิดอิจฉาริษยาหรือไม่คิดมุ่งร้ายพยาบาท หากทุกคนคิดแล้วปฏิบัติเหมือนกันความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นในสังคม

4. สาธารณโภคี คือ การรู้จักแบ่งสิ่งของให้กันและกันตามโอกาสอันควร เพื่อแสดงความรักความหวังดีของผู้ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน

5. สีลสามัญญตา คือ ความรักใคร่สามัคคี รักษาศีลอย่างเคร่งครัดเหมาะสมตามสถานะของตนมีความประพฤติสุจริตปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหมู่คณะ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

6. ทิฏฐิสามัญญตา คือ การมีความเห็นร่วมกัน ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบ

ธรรม 6 ประการ ที่ผู้ใดได้ประพฤติจะเกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกื้อกูลกันไม่ทะเลาะวิวาทกัน อันจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีกันตลอดไป

สังคหวัตถุ 4

หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1. ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้

2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์

3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย

พรหมวิหาร 4

แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่

1.เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข

2.กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

3.มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

4.อุเบกขา การรู้จักวางเฉย

อิทธิบาท 4

แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น 4 คือ

1. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

2. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

3. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

4. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

วุฒิธรรม4

แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องเจริญ หรือธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม เป็นหลักธรรมที่เกื้อกูลต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาให้เจริญขึ้น วุฒิธรรมประกอบด้วยธรรม 4 ประการ คือ

1. สัปปุริสสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) หมายถึง “หาครูดีให้พบ”การเลือกครูดีนั้น ต้องพิจารณา 2 เรื่องใหญ่เป็นสำคัญ คือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริงและการมีนิสัยดีจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านจะสามารถสอนได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพราะครูคือต้นแบบ และต้นแบบเป็นสิ่งสำคัญ

2. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) หมายถึง “ฟังคำครูให้ชัด”เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว สิ่งสำคัญอันดับที่สองก็คือ ต้องฟังคำครูให้เข้าใจ อย่าให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพี้ยนความหมาย ฟังแล้วต้องได้ “คำจำกัดความ” ของเรื่องนั้นๆ ออกมาอย่างชัดเจนการให้คำจำกัดความ คือ การกำหนดความหมายที่ถูกต้องและชัดเจน ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ เพื่อให้ครูและนักเรียน เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน วิธีการหาคำจำกัดความแบบง่ายๆ ก็คือ การตั้งคำถามในเรื่องที่เรียนด้วยคำว่า “อะไร”

3. โยนิโสมนสิการะ (ตริตรองธรรม) หมายถึง “ตรองคำครูให้ลึก”เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนแล้ว แต่จะเข้าใจความรู้ของครูได้ลึกซึ้งมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่การนำความรู้กลับมาไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง การตรองคำครูให้ลึก คือ การไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงวัตถุประสงค์ของธรรมะในเรื่องนั้นๆ วิธีการหาวัตถุประสงค์ก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไม”

4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม) หมายถึง “ทำตามครูให้ครบ”เมื่อเราหาครูดีพบแล้ว ฟังคำครูชัดเจนแล้ว ตรองคำครูอย่างลึกซึ้งแล้ว สิ่งที่ต้องทำให้ได้ก็คือ ต้องปฏิบัติจริงให้ได้เหมือนครู คนที่ได้ครูดีแล้วเอาดีไม่ได้ก็เป็นเพราะ “ทำตามคำครูไม่ครบ” เพราะถ้าทำครบ ผลงานก็ต้องออกมาดีเหมือนที่ครูทำ วิธีการที่จะทำตามคำครูได้ครบนั้น มีทางเดียว ก็คือ ต้องรับเอานิสัยที่ดีของครูมาเป็นนิสัยของตนให้ได้ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการเรียนธรรมะด้วยแล้ว ต้องเอานิสัยทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดีตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จักร 4

หลักธรรม 4 ประการที่นำบุคคลไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย

1. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม

2. สัปปุริสูปสังเสวะ หมายถึง การคบสัตบุรุษ การเข้าไปคบกับคนดี ผู้มีสัปปุริสธรรม7

3. อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งอยู่ในสุจริต 3 ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต

4. ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน

พละ 5

คือ กำลัง ห้า ประการ ได้แก่

1.ศรัทธาพละ ความเชื่อ กำลังการควบคุมความสงสัย

2.วิริยะพละ ความเพียร กำลังการควบคุมความเกียจคร้าน

3.สติพละ ความระลึกได้ กำลังการควบคุมความประมาท การไม่ใส่ใจ ใจลอย ไร้สติ

4.สมาธิพละ ความตั้งใจมั่น กำลังการควบคุมการวอกแวกเขวไขว่ ฟุ้งซ่าน

5.ปัญญาพละ ความรอบรู้ กำลังการควบคุมเพิกเฉยไม่สนใจ หลงงมงาย

หมายเลขบันทึก: 615839เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2016 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2016 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท