ผลเสียของการนอนดึก


1. อารมณ์ไม่ดี อารมณ์แปรปรวน

จากผลการวิจัย เผยว่า คนที่มีค่าเฉลี่ยการนอนหลับเพียง 4.5 ชั่วโมงต่อคืน เป็นเวลาต่อเนื่อง 1 สัปดาห์นั้น มีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวน มากกว่าคนที่มีเวลานอนประมาณ 7 ชั่วโมงต่อคืน ทั้งนี้สภาพอารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้น เหล่านั้นจะหมายความรวมถึงอารมณ์ และความรู้สึกเครียด เศร้า โมโห หงุดหงิด ท้อแท้ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นเรื่องปกติที่คนธรรมดาทุกคน อย่างเราต้องเผชิญอยู่ทุกวี่วัน ก็มีแน้วโน้มว่า คนนอนน้อย นอนไม่พอ จะควบคุมอารมณ์ได้น้อยความคนที่นอนอย่างเพียงพอนั่นเอง

2. สมองไม่รับรู้ เรียนรู้อะไรได้ช้าลง

การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถส่งผลให้สมองของเรา มีการรับรู้และเรียนรู้ช้าลงได้จริง จากผลสำรวจในโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้มีการทดลองเลื่อนเวลาเข้าเรียนจาก 7.30 น. เป็น 8.30 น. พบว่า ผลคะแนนของวิชาเลข และวิชาการอ่านของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ตามลำดับ และนี่จึงเป็นการอธิบายได้ว่า ถ้าเราเพิ่มระยะเวลาในการนอนหลับ ก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ในการเรียนรู้และจดจำของสมองให้มากขึ้นได้

3. มีอาการปวดหัวไม่สบาย

อย่างที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินกัน ว่าการนอนน้อย นอนไม่พอนั้น จะทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุของอาการปวดหัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคนที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคปวดไมเกรนนั้น ยิ่งมีโอกาสที่อาการจะกำเริบมากกว่าคนที่ไม่เป็นด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมีคนส่วนใหญ่ที่นอนน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีอาการปวดหัวในตอนเช้า ในขณะที่อีกร้อยละ 36-58 มีอาการนอนไม่หลับในช่วงตอนกลางคืน พอตื่นเช้าขึ้นมา ก็มีอาการปวดหัวเล็กน้อย

4. อ้วน น้ำหนักขึ้น

คนที่นอนไม่พอ มีแนวโน้มว่าจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ง่ายกว่าคนที่นอนหลับอย่างเพียงพอ เนื่องจากการที่ร่างกายของเรา หลังจากที่ไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะเกิดอาการอยากอาหาร หรือว่าหิวง่ายขึ้น หลังจากนั้นสมองก็จะเริ่มสั่งการให้เรามีความรู้สึกอยากกินอาหารแคลอรี่สูง และนี่เองคือสาเหตุสำคัญของการที่น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น คนที่ไม่อยากอ้วน ต้องนอนให้เต็มอิ่มจะได้ไม่เกิดปัญหาที่ว่านี้

5. โรคหัวใจ

จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร ที่ไม่มีการนอนพักผ่อนเลยเป็นเวลา 88 ชั่วโมง ผลที่ได้ก็คือ พวกเขาเหล่านั้นมีระดับความดันเลือดที่สูงมาก ในขณะเดียวกันเมื่อเปลี่ยนมาให้กลุ่มอาสาสมัครได้นอนเป็นเวลานาน 4 ชั่วโมงใน 1 คืน ผลปรากฎว่า อัตราการเต้นของหัวใจกลับอยู่ในระดับซึ่งมีความใกล้เคียงกับคนที่นอนเป็นระยะเวลานานปกติ และอีกหนึ่งสิ่งที่ส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจก็คือ สารโปรตีน ที่มาสะสมตัวมากขึ้นในช่วงที่เราตื่น และจะถูกขับออกจากร่างกายโดยธรรมชาติเมื่อเราหลับ เพราะฉะนั้นเวลาที่นอนไม่พอ หรือนอนน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จึงมีความเสี่ยง ที่จะเป็นโรคหัวใจได้

6. ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง

เมื่อเรานอนน้อยจะทำให้กระบวนการต่างๆ ในร่างกาย ทำงานอย่างไม่มีทำให้การฟื้นฟูและซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ที่สึกหรอผิดแปลกไปจากปกติ ผลที่เกิดขึ้นคือ แผลหายช้า รวมถึงร่างกายจะติดเชื้อง่ายขึ้น

7. รู้สึกช้า เฉื่อยชา

สำหรับการพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้นักวิจัย ได้ทำการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน โดยจัดให้กลุ่มหนึ่งห้ามนอน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้นอนตามปกติ จากนั้นให้อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มทำแบบทดสอบทั้งหมด 2 ครั้ง ผลที่ได้ปรากฏว่า กลุ่มอาสาสมัครฝั่งที่ได้นอนพักผ่อน อย่างเพียงพอนั้นมีการตอบโต้ และทำการตัดสินใจได้รวดเร็วมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้นอนหลับพักผ่อน ด้วยเหตุนี้จึงสามารถสรุปได้ว่า การนอนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายมีการตอบสนองได้ช้าลง และทำให้มีอาการเฉื่อยชา

8. สายตาพร่ามัวหนังตากระตุก

นอนน้อยทำให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพแย่ลง การนอนไม่พอมีผลทำให้สายตาของเราพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด ที่เข้าใจว่าหลายคนน่าจะเคยมีอาการแบบนี้กันบ้าง และถ้าหากนอนไม่พอติดต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลาหลายคืน ก็อาจมีอาการเห็นภาพหลอนร่วมด้วย มีคนที่นอนน้อยก็อาจจะเกิดอาการกล้ามเนื้อตากระตุก หรือตาเขม่น หรือที่หลายคนชอบพูดว่าหนังตากระตุก ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า หนังตากระตุกขวาร้าย ซ้ายดี ทั้งที่ความจริงแล้ว อาการกล้ามเนื้อตากระตุก หนังตาเขม่น มองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเป็นภาพซ้อน เบลอ มองไม่ชัด ก็มาจากที่เซลล์กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมตัวเองอย่างสมบูรณ์เพราะนอนน้อยนั่นเอง

9. ปัสสาวะบ่อย

ผู้ใหญ่ที่มีอาการฉี่รดที่นอน และชอบตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำในช่วงตอนกลางคืนบ่อยๆ ก็เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง ว่าร่างกายของเรากำลังได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากระบบขับปัสสาวะภายในร่างกายของเราจะทำงานตามนาฬิกาชีวิตเหมือนทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนของกล้ามเนื้อหูรูดในท่อปัสสาวะจะไม่ทำงานในตอนกลางคืน อีกทั้งมีนยังมีความแข็งแรงมากพอที่จะกลั้นปัสสาวะของเรา ไม่ให้เกิดอาการฉี่รดที่นอนในขณะที่เราหลับ เมื่อคนเรานอนไม่พอติดต่อกันเป็นประจำนั้น ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในท่อปัสสาวะอ่อนแอลงได้ จนกลายเป็นปัญหาฉี่รดที่นอนในผู้ใหญ่

10. ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด

เพราะอะไร คืนก่อนวันสำคัญ ควรเข้านอนแต่เช้า? ถ้าเป็นสาวๆ ก็น่าจะห่วงในเรื่องของความสวยความงาม นอนไม่พอหน้าโทรม ดูไม่สดชื่น ซึ่งในความเป้นจริงมีเหตุผลมากกว่านั้นซ่อนอยู่ คือ การนอนไม่พอนั้น จะส่งผลทำให้สมองประมวลความคิดช้าลง และก่อให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดได้

หมายเลขบันทึก: 615710เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2016 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2016 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท