กระต่าย


วิธีเลี้ยงกระต่าย สายพันธุ์ที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาเลี้ยง พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงกระต่าย ที่คนคิดจะเลี้ยงกระต่ายควรรู้ไว้ ก่อนจะนำเจ้าตัวน้อยมาเลี้ยง



เสน่ห์ของกระต่ายอยู่ที่ขนนุ่มนิ่มและตากลมแบ๊วนี่แหละ เลยทำให้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าหมาหรือแมวเลย แถมยังดูน่ารัก เรียบร้อย ไม่ส่งเสียงรบกวน แต่เห็นน่ารัก กินง่าย อยู่ง่ายแบบนี้ ใช่ว่าจะซื้อแล้วนำมาใส่กรงเลี้ยงได้เลย ก่อนการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดไหนก็ตามจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลการอยู่ การกิน รวมถึงพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกระต่ายและวิธีเลี้ยงกระต่ายมาฝากกัน ใครคิดจะเลี้ยงกระต่ายควรจะศึกษาไว้ก่อนเลย



นิสัยของกระต่าย



1. การกินมูลตัวเอง (Coprophagy)



กระต่ายจะมีการถ่ายมูลพวงองุ่นที่อ่อนนุ่มในยามเช้าตรู่ แล้วกินกลับเข้าไปใหม่เพื่อปรับลำไส้ให้เป็นปกติ โดยในมูลพวงองุ่นก็จะมีทั้งวิตามินบี โปรตีน และแบคทีเรียที่ดี เมื่อกระต่ายกินมูลกลับเข้าไปก็จะได้รับสารอาหารและแบคทีเรียที่ดีกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง



2. การกัดแทะสิ่งของ



กระต่ายเป็นสัตว์ฟันแทะและจะแทะเพื่อลับฟัน ไม่ให้ฟันงอกยาวจนเกินไป เพราะหากฟันยาวอาจจะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้อีกมากมาย ฉะนั้นผู้เลี้ยงจึงควรหากิ่งไม้ ท่อนไม้แห้งเล็ก ๆ แข็ง ๆ หรือไม้แทะแบบสำเร็จรูปทิ้งไว้ให้แทะเล่น แต่ก็ต้องดูว่าไม้นั้น ๆ ต้องไม่เป็นอันตรายต่อกระต่ายด้วย



3. การนอน

ที่จริงแล้วกระต่ายเป็นสัตว์หากินกลางคืน จะตื่นตอนกลางคืนเพื่อหากินและจะหลับในเวลากลางวัน กระต่ายบางตัวจะนั่งนิ่ง ๆ สักพักโดยไม่หลับตาและนั่นคือการนอนของพวกมัน เพราะกระต่ายมีสัญชาตญาณในการระวังตัวสูง มักตกอยู่ในสถานะผู้ถูกล่าเสมอ จึงระวังตัวตลอดเวลา



4. การเคาะเท้า



กระต่ายอาจจะเคาะหรือกระโดดขึ้น-ลงให้เกิดเสียง เพื่อเป็นการเตือนภัย พวกมันจะเคาะเท้าเมื่อเกิดภาวะเครียดและตื่นกลัว เช่น มีสัตว์อื่นเข้ามาใกล้บริเวณที่อยู่หรือไม่คุ้นเคยเวลามีคนจะเข้าไปอุ้ม



5. ความก้าวร้าว



อาการก้าวร้าวอาจเกิดจากการตามใจจนติดเป็นนิสัย การถูกรังแก หรือความต้องการเป็นเจ้าของอาณาเขต จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนิสัยของกระต่าย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการตามใจและการถูกรังแกจนฝังใจมากกว่า ซึ่งจะแสดงออกโดยการกัดเวลายื่นมือเข้าไปหรือกัดเวลาได้ของไม่ถูกใจ



วิธีเลี้ยงกระต่าย


สายพันธุ์กระต่ายที่นิยมเลี้ยง



1. กระต่ายไทย (Thai Rabbit)



เป็นกระต่ายพื้นบ้านของประเทศไทย มีขนสั้น ตัวใหญ่ ว่องไวปราดเปรียว หูยาว หน้าค่อนข้างแหลม มีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง สามารถกระโดดได้สูง ทนต่อสภาพอากาศได้ดีและมีหลากหลายสี



2. ไลอ้อนเฮด (Lionhead Rabbit)

มีขนาดตัวไม่ใหญ่มาก มีขนเป็นแผงคอลักษณะคล้ายสิงโต ตัวอ้วน สั้นและกลม หูสั้น ตั้ง มีขนปกคลุม มีหลากหลายสี ทั้งสีขาว น้ำตาล ส้ม และสีผสม ขนาดเมื่อโตเต็มที่หนักประมาณ 2 กิโลกรัม



3. โปลิช (Polish Rabbit)



นับได้ว่าเป็นกระต่ายพันธุ์ที่เล็กที่สุดเลยก็ว่าได้ น้ำหนักโตเต็มที่ประมาณ 8 ขีด ขนเป็นสีดำ เทา แทน ขาว เป็นสีเดียวกันทั้งลำตัวหรือมีจุดสีแซมเล็กน้อย ดวงตาเล็กเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ ไม่ชอบอากาศร้อน



4. มินิลอป (Mini Lop)

กระต่ายอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างมากในปัจจุบันนี้ มีลักษณะหูตก กะโหลกใหญ่ ขนสั้น แน่น เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักอยู่ประมาณ 1.8 กิโลกรัม



5. เจอร์รี่วูดดี้ (Jerry Woody)



อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ขนยาวน่ารัก มีลักษณะคล้ายกับเท็ดดี้แบร์ แต่จะมีโครงสร้างที่ใหญ่กว่า น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 2-3 กิโลกรัม



6. ฮอลแลนด์ลอป (holland Lop)



พันธุ์กระต่ายที่มีลักษณะตัวป้อมหัวกลม ขนสั้นหนา นุ่มลื่น ใบหูทั้งสองข้างแนบสนิทกับแก้ม กินเก่ง มีสีมากมายหลากหลายสี ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มสีต่าง ๆ ได้มากถึง 7 กลุ่มสี โตเต็มที่จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 1.5 กิโลกรัม



พื้นที่สำหรับเลี้ยงกระต่าย



- เลี้ยงในบ้าน



ถ้าจะเลี้ยงกระต่ายในบ้าน กรงต้องใหญ่กว่าขนาดตัวของกระต่ายอย่างน้อย 4 เท่า ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ยิ่งดี ส่วนพื้นของกรงควรเป็นพื้นไม้เรียบ แบบลวดตาข่ายอาจจะทำให้เท้ากระต่ายมีบาดแผลได้ ห้ามใช้ตู้กระจกเด็ดขาด เพราะมีอากาศไม่เพียงพอ และอย่าลืมวางกระบะถ่ายไว้มุมกรงด้วย



- เลี้ยงนอกบ้าน



กระท่อมหรือกรงสำหรับการเลี้ยงกระต่ายนอกบ้านต้องกันแดดกันฝนได้ ควรสูงอย่างน้อย 1 ฟุตและมีขนาด 30x36x20 นิ้วเป็นอย่างต่ำ ยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไรยิ่งดี เพราะจะได้มีพื้นที่วิ่งเล่นมากขึ้นและไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด หลังคาควรจะเป็นแบบเปิดปิดได้ พื้นควรเป็นพื้นไม้มีฟางหรือหญ้าแห้งรองไว้สำหรับนอนด้วย



วิธีจับกระต่าย



ไม่ควรจับกระต่ายโดยการหิ้วหู เพราะจะทำให้กระต่ายเจ็บและอาจเป็นสาเหตุทำให้กระต่ายหูตกได้ การจับกระต่ายที่ถูกวิธีมีดังนี้



- ลูกกระต่าย : ใช้มือที่ถนัดจับหนังบริเวณสะโพกให้มั่นคงแล้วยกขึ้นตรง ๆ



- กระต่ายขนาดกลาง : ใช้มือขวาหรือมือที่ถนัดจับหนังเหนือไหล่ให้มั่นคง อาจรวบหูมาด้วยก็ได้ มือซ้ายรองใต้ก้น ให้ด้านหน้าของกระต่ายหันออกนอกตัวผู้จับ



- กระต่ายใหญ่ : ใช้มือขวาจับเหมือนการจับกระต่ายขนาดกลาง แล้วยกอ้อมขึ้นมาทางซ้ายมือ ใช้แขนซ้ายหนีบให้แนบชิดลำตัว โดยใช้มือซ้ายช่วยประคองก้น ให้หน้ากระต่ายหันไปทางหลังของผู้จับ และขากระต่ายชี้ออกนอกตัวผู้จับ



วิธีเลี้ยงกระต่าย


วิธีฝึกกระต่าย



1. ฝึกให้ยืน



นำอาหารล่อไว้เหนือหัวของกระต่าย ใช้เสียงสั่ง เมื่อกระต่ายยืนขึ้นดมอาหารที่นำมาล่อ ให้เอาอาหารให้กิน หัดฝึกบ่อย ๆ วันละหลาย ๆ รอบ



2. ฝึกให้คุ้นเคย

เมื่อนำกระต่ายมาบ้านควรปล่อยให้กระต่ายอยู่ปรับตัวก่อน ไม่รบกวน หรือเอาออกมาอุ้มเล่น เมื่อกระต่ายมีท่าทางปกติแล้วให้วางผ้านุ่มหน้ากรงแล้วใช้อาหารล่อ เมื่อกระต่ายมาหาคุณให้วางอาหารไว้ใกล้ ๆ กับคุณ อยู่นิ่ง ๆ ปล่อยให้กระต่ายดมกลิ่นสำรวจสักพัก จากนั้นค่อย ๆ ลูบระหว่างหูทั้งสองข้าง ฝึกวันละหลายรอบ



3. ฝึกให้กลับเข้ากรง



วางอาหารเป็นทางเข้าในกรง แล้วเรียกหรือส่งเสียงเพื่อเรียกความสนใจ แต่ห้ามเสียงดังหรือใช้น้ำเสียงกร้าว เมื่อกระต่ายตามกินอาหารจนเข้าไปในกรงให้อาหารเป็นรางวัลอีกครั้ง ฝึกวันละ 1–2 รอบหรือทุกครั้งที่ให้อาหาร



โรคที่ต้องระวัง



1. โรคฝี



โรคฝีเกิดจากภาวการณ์ติดเชื้อใต้ผิวหนัง ทำให้เป็นหนองซึ่งมีเปลือกหุ้ม เมื่อฝีสุกเปลือกฝีส่วนหนึ่งจะบางลงและแตกออกมีหนองไหลออกมา เมื่อใช้มือลูบตามลำตัวจะพบเป็นก้อนแข็ง การรักษาต้องรอให้ฝีสุกและเจาะเอาหนองออก ขูดเปลือกฝีด้านในให้สะอาดแล้วทาด้วยทิงเจอร์และไอโอดีน



2. ฮีทสโตรก

กระต่ายจะไวต่อโรคฮีทสโตรกมาก เนื่องจากกระต่ายระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านหูเพียงทางเดียว เมื่อเกิดภาวะฮีทสโตรกกระต่ายจะหายใจหนัก อ่อนเพลีย อยู่นิ่งกับที่ อุณหภูมิร่างกายสูง หากเป็นเช่นนี้ให้นำกระต่ายออกจากกรงและนำไปไว้ในที่เย็นหรือจุ่มลำตัวลงน้ำเย็น



3. เห็บหมัด



เช่นเดียวกับสุนัขและแมว ลำตัวของกระต่ายที่มีขนปกคลุมมักจะมีเห็บหมัดและแมลงตัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ ผิวหนังจะแห้ง เป็นรังแค เกาตามตัว และสั่นศีรษะ การรักษาควรพาไปหาหมอเพื่อจำกัดและรับยารักษา



4. โรคจากแบคทีเรียพาสทูเรลลา



พาสทูเรลลา (Pasteurella) เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายกระต่ายแต่จะไม่แสดงอาการเด่นชัด สามารถติดต่อไปยังกระต่ายตัวอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเป็นโรคจะมีน้ำมูก ตาแฉะ หายใจลำบาก ผิวหนังบวม ซึมเศร้า



5. ฉี่เป็นเลือด



อาการฉี่เป็นเลือดในกระต่ายส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเม็ดสีที่เรียกว่าพอร์ไฟริน (Porphyrin) อาการนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ และจะหายไปเองภายใน 2 วัน

คำสำคัญ (Tags): #kmpprep
หมายเลขบันทึก: 615635เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2016 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2016 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท