การเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง



ปลาหางนกยูง มีชื่อสามัญว่าGuppy or Millions Fish or Live-bearing Tooth-carpเป็นปลาสวยงามน้ำจืดชนิดหนึ่งที่จัดว่าเป็นปลาติดตลาด เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วถึงแม้ว่าจะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่มีความสวยงามและว่ายน้ำอยู่เสมอ ทำให้เป็นที่ต้องตาของผู้เลี้ยงโดยทั่วไป จึงมักจำหน่ายได้ง่ายและจำหน่ายได้ดีตลอดปี ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันมากในตู้กระจกภาชนะหรือบ่อเลี้ยงปลาภายนอกอาคาร ซึ่งถ้าเป็นบ่อเลี้ยงปลาภายนอกอาคารมักเลี้ยงร่วมกับการเลี้ยงพรรณไม้น้ำเช่น ในกระถางบัว อ่างเลี้ยงสาหร่าย

การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง

ถึงแม้ว่าปลาหางนกยูงจะแพร่พันธุ์ง่าย และมีลูกปลาเกิดขึ้นได้ในบ่อเลี้ยงอยู่เสมอ แต่ถ้าปล่อยให้แม่ปลาคลอดลูกเองภายในบ่อเลี้ยง ในช่วงแรกลูกปลาอาจมีอัตรารอดสูง แต่เมื่อมีจำนวนปลามากขึ้น ลูกปลาในครอกต่อๆไปก็จะมีโอกาสรอดน้อยมาก เพราะจะถูกปลาตัวอื่นๆไล่จับกิน จากการทดลองพบว่าหากไม่มีการใส่พันธุ์ไม้น้ำ หรือให้ที่หลบซ่อนสำหรับลูกปลาที่จะคลอดออกมา ในบ่อเลี้ยงปลาหางนกยูงที่มีพ่อแม่ปลาอยู่หลายคู่ ลูกปลาจะมีโอกาสรอดน้อยมาก ยิ่งถ้านำมาเลี้ยงในบ่อขนาดเล็กหรือภาชนะแคบๆ ลูกปลาจะถูกไล่กินจนหมดถ้าเป็นบ่อขนาดใหญ่ลูกปลาจึงจะมีโอกาสรอดได้บ้าง โดยจะเหลือรอดครอกละประมาณ 10 - 20 ตัว ขึ้นกับจำนวนปลาที่มีอยู่ในบ่อ ดังนั้นผู้ที่ต้องการดำเนินการเพาะปลาหางนกยูงเพื่อจำหน่ายอย่างจริงจัง จำเป็นต้องมีการจัดการการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงที่ดี ซึ่งดำเนินการได้หลายวิธีการ ดังนี้

แยกเพาะในบ่อเพาะขนาดเล็ก ใช้บ่อหรือภาชนะขนาดเล็กพื้นที่ประมาณ 1 ตารางฟุต แยกเลี้ยงปลาบ่อละ 1 คู่ ไม่ควรเลี้ยงปลาเกิน 1 คู่ เพราะปลาเพศเมียจะค่อนข้างมีความดุร้าย ในการไล่ล่าลูกปลาที่พึ่งคลอดจากแม่ปลาตัวอื่น ใส่พันธุ์ไม้น้ำพวกสาหร่ายหรือจอกที่มีรากยาวๆลงในบ่อเพาะ เพื่อเป็นที่หลบซ่อนของลูกปลา เพราะเมื่อลูกปลาคลอดออกมาก็จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ตามสาหร่ายหรือรากของจอก ช่วยให้รอดพ้นจากการถูกแม่ปลาจับกินได้ เป็นวิธีการเพาะที่ใช้ได้ผลดี และจะสามารถคัดปลาหางนกยูงทั้งเพศผู้และเพศเมียที่มีลักษณะดีตามที่ต้องการมาผสมกันได้ จากนั้นคอยหมั่นแยกลูกปลาที่ได้ออกไปอนุบาล ข้อเสียของวิธีนี้ คือ ต้องใช้พื้นที่มาก และค่อนข้างใช้เวลาในการดูแล

แยกเฉพาะแม่ปลาที่ท้องแก่ใกล้คลอดมาจากบ่อเลี้ยง เป็นวิธีการที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงจำนวนมากไว้ในบ่อเลี้ยง แล้วหมั่นสังเกตหาปลาที่มีท้องแก่ จากนั้นจึงแยกเฉพาะแม่ปลาที่มีท้องแก่ คือมีท้องขยายใหญ่มากออกมาเพียงตัวเดียว นำไปใส่ในภาชนะเล็กๆที่มีช่องตาให้ลูกปลาลอดออกไปได้ คล้ายกับเป็นห้องรอคลอดซึ่งมีผลิตออกมาจำหน่ายโดยเฉพาะ แต่ค่อนข้างจะมีราคาแพง ซึ่งอาจใช้ภาชนะอื่นทดแทนได้ เช่น ใช้ตะกร้าแขวนสำหรับใส่แปรงสีฟันในห้องน้ำ โดยมักจะแขวนภาชนะนั้นจำนวนหลายอัน ไว้ในตู้กระจกหรือในกะละมังใบเดียวกัน แม่ปลาที่ถูกคัดออกมามักจะคลอดลูกภายใน 1 - 3 วัน ยิ่งเมื่อดำเนินการไปนานๆ แม่ปลาจะมีความเคยชิน ก็มักจะคลอดลูกภายใน 1 วัน หลังจากที่แยกมาปล่อยลงในที่สำหรับคลอด ลูกปลาจะลอดช่องตาของภาชนะออกไปรวมกันในตู้หรือกะละมัง แยกลูกปลาไปอนุบาลแล้วนำแม่ปลาไปเลี้ยงพักฟื้น 3 วันจึงปล่อยกลับลงบ่อเลี้ยง จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีการที่ให้ผลดีที่สุด เพราะลูกปลามีอัตราการรอดมากที่สุดและทำได้ค่อนข้างสะดวก แต่อาจไม่เหมาะสมที่จะใช้กับฟาร์มผลิตขนาดใหญ่

.แยกเลี้ยงในภาชนะที่มีช่องตาขนาดที่ลูกปลาจะรอดออกไปได้ เป็นวิธีการที่คัดแยกพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงจำนวนมาก มาเลี้ยงในภาชนะที่มีช่องตาขนาดที่ลูกปลาจะรอดออกไปได้ แต่พ่อแม่ปลาจะไม่สามารถรอดออกไปได้ เป็นภาชนะขนาดปานกลาง เช่น กระชัง ตะกร้า หรือกระจาด ซึ่งจะนำไปกางหรือวางในภาชนะหรือบ่ออีกทีหนึ่ง กระชัง ตะกร้า หรือกระจาดนี้จะใช้เลี้ยงปลาได้ใบละ 5 - 7 คู่ ไปจนถึง 50 คู่ เมื่อแม่ปลาคลอด ลูกปลาจะสามารถว่ายหนีผ่านช่องตะกร้าออกไปสู่ภายนอก เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน ปลาที่เลี้ยงอยู่ในตะกร้าแต่ละใบจะให้ลูกสัปดาห์ละ 1 ครอกเป็นอย่างน้อย ก็แยกลูกปลาออกไปอนุบาลได้ เป็นวิธีที่นิยมกระทำกันมากในฟาร์มที่ผลิตลูกปลาหางนกยูงเพื่อจำหน่าย โดยใช้ตะแกรงพลาสติกทำเป็นกระชังขนาดประมาณ 0.5 - 1 ตารางเมตรวางในบ่อซิเมนต์ ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงลงในกระชัง 20 - 30 คู่ ลูกปลาที่คลอดออกมาจะว่ายหนีออกจากกระชังได้ดี ทำให้สามารถผลิลูกปลาได้ค่อนข้างมาก ข้อเสียของวิธีนี้ คือ เศษอาหารมักจะลงไปตกค้างอยู่ก้นภาชนะมาก ทำให้ปลาติดเชื้อได้ง่าย ต้องหมั่นทำความสะอาด


คำสำคัญ (Tags): #kmpprep
หมายเลขบันทึก: 615357เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2016 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2016 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

good article, easy to understand and very interesting to read. I also found an article with a similar discussion. you can visit the link below http://news.unair.ac.id/2021/06/09/peringkat-naik-melesat-unair-masuk-465-kampus-terbaik-dunia/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท