เมื่อต้องก้าวด้วย "Wheelchair"


วันนี้(8/9/2559)ได้รับมอบหมายให้จับคู่กับเพื่อน แสดงบทบาทสมมติเป็นผู้ป่วยนั่งรถเข็น และ เป็นนักกิจกรรมบำบัดคอยให้ความดูแลอยู่ห่างๆ โดยต้องเดินทางจากคณะกายภาพบำบัด ไปยังหอสมุดมหาวิทยาลัย เพื่อไปยืมหนังสือ โดยให้ผู้ป่วยเป็นคนเข็นรถเข็นด้วยตัวเอง ก่อนอื่นเราต้องตรวจสอบสภาพรถเข็น ว่ามีความแข็งแรง และปลอดภัยในการใช้งานหรือไม่ขาไปเพื่อนแสดงบทบาทเป็นผู้ป่วยมีแผลไฟไหม้ที่ขาข้างหนึ่งส่งผลให้งอเข่าไม่ได้ และฉันแสดงบทบาทเป็นนักกิจกรรมบำบัด เราเริ่มออกจากคณะกายภาพบำบัด อุปสรรคที่พบขณะที่เพื่อนเข็นรถเข็นลงทางลาดหน้าคณะ คือ ผนังด้านข้างที่ขรุขระ เนื่องจากเพื่อนยังไม่มีประสบการณ์การเข็นรถเข็นด้วยตัวเอง ยังบังคับทิศทางและความเร็วรถเข็นได้ไม่ค่อยดี แขนจึงไปขูดกับผนัง เป็นรอยเล็กน้อยไม่มีบาดแผล เราจึงเดินทางกันต่อ โดยมีความตั้งใจว่า จะไปถึงหอสมุดให้ทันในเวลาที่อาจารย์กำหนด เราได้ปรึกษากันว่าจะไปทางไหนที่จะสะดวกและไปถึงเร็วที่สุด ระหว่างทางที่ไปหอสมุด เป็นทางราบ(ทางจักรยาน)สะดวกต่อการเข็นรถเข็น แต่ยังมีอุปสรรคคือ บางช่วงเป็นทางที่ต้องเข็นรถเข็นบนถนนที่มีรถวิ่ง จึงต้องช่วยเพื่อนเข็นรถเข็นเพื่อหลบทาง และคอยระวังความปลอดภัย คอยถามเพื่อนเป็นระยะๆ ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ด้วยระยะทางที่ไกลพอสมควรในการเข็นรถเข็นด้วยตัวเอง จึงช่วยเพื่อนเข็นบ้างเป็นบางครั้ง มีการเข็นไปถ่ายรูปเล่นไปเพื่อน ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน ลืมความเหนื่อยล้าไปได้บ้าง เมื่อไปถึงหน้าหอสมุด เราก็เจอทางลาดซึ่งเป็นทางสำหรับรถเข็นผู้พิการ และพบอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือ มีรถยนต์จอดอยู่ตรงที่จอดรถสำหรับผู้พิการ ขวางทางขึ้นทางลาด แต่โชคดีที่ยังมีช่องว่างกว้างพอสำหรับเข็นรถเข็นเข้าไปได้ ฉันจึงช่วยเพื่อนเข็นรถเข็นเข้าไปถึงทางลาด และลองให้เพื่อนเข็นรถเข็นขึ้นไปเอง ทางลาดหน้าห้องสมุดเป็นทางชันและโค้งเล็กน้อย เมื่อเพื่อนเข็นไปได้ครึ่งทางก็รู้สึกเมื่อยล้าแขน จึงหยุดพักครู่หนึ่งแล้วเข็นต่อ เมื่อไปถึงทางเข้าหอสมุด ประตูด้านหน้าเป็นแบบผลักเข้า-ออก มีเจ้าหน้าที่ห้องสมุดออกมาเปิดให้ สามารถเข็นรถเข็นไปยังหน้าเคาท์เตอร์ ความสูงเคาท์เตอร์มีระดับที่พอดีสำหรับเอื้อมมือหยิบหนังสือด้วยตัวเองได้

ขากลับฉันจึงสลับบทบาทกับเพื่อนเป็นผู้ป่วยเข็นรถเข็นด้วยตัวเอง ความรู้สึกแรกที่ได้ลองเข็น รู้สึกว่าควบคุมทิศทางยังไม่คล่อง และต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อแขนและไหล่ที่ค่อนข้างมากหากต้องขึ้นทางชัน และรู้สึกว่าความสามารถในการทำสิ่งต่างๆลดลง หากเป็นผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพจริงๆ การเข็นรถเข็นไปไหนมาไหนด้วยตัวเองคงเป็นเรื่องที่ลำบากไม่น้อย และควรจะมีคนคอยดูแลให้ความช่วยเหลือ เมื่อกลับมาถึงคณะก็สลับให้เพื่อนมานั่งรถเข็นอีกครั้ง โดยให้เพื่อนเข็นรถเข็นแบบเอาหน้าขึ้น และโน้มตัวมาด้านหน้า เพื่อให้ได้แรงมากๆ ง่ายต่อการเข็นมากขึ้น

จากการที่ได้ออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเองครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจถึงความรู้สึกแค่เพียงบางส่วนของผู้รับบริการเท่านั้น แต่ก็ได้เรียนรู้หลายๆปัจจัยที่มีผลต่อการทำกิจกรรมของผู้รับบริการมากขึ้น จากบทบาทนักศึกษาที่สามารถเดิน สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้ป่วยนั่งรถเข็น ความสามารถลดลง ทำให้รู้สึกลำบาก เกิดความท้อถอย ดังนั้นฉันคิดว่า นักกิจกรรมบำบัดจะต้องรู้และเข้าใจถึงความสามารถของผู้รับบริการ เข้าใจในมุมมองของผู้รับบริการเป็นหลัก คอยส่งเสริมให้กำลังใจ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการได้ตระหนักเห็นถึงคุณค่าในความสามารถของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขกับตัวเองและสิ่งรอบข้างมากที่สุด

น.ส.อุมาพร โรจน์จินทะเวส 5723029 นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่3

PTOT333 ADL&Rehabilitation

คำสำคัญ (Tags): #กิจกรรมบำบัด
หมายเลขบันทึก: 613851เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2016 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2016 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท