รูปบ้านนามเมือง: ประวัติศาสตร์ของความโค้งเว้าฉบับบ้านแตกสาแหรกขาด


ความเป็นมาของรูปบ้านและนามเมือง

ภาพจินตนาการบ้านเก่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บ้านหนองแช่เสา ราชบุรี ที่มา: silpa-mag.com

ในอดีตครั้งบรรพกาลบนแผ่นดินที่ราบลุ่มผืนกว้าง แม่น้ำใหญ่สายหลักไหลกวัดแกว่งอย่างอ้อยอิ่ง ก่อนปะทะกับแนวปากอ่าวชะวากทะเลและหมู่เกาะเบื้องหน้าไม่นานเกินรอ ปรากฏนามเรียกขานคำต้นเรื่องของ “ความโค้งเว้าและโอบล้อมรอบ” ด้วยเสียง ล-ลิง ว่า “lung - ลุง” เป็นคำต้นรากที่ใช้ขับขานร่วมสัมผัสกับคำอื่น ให้ก่อเกิดคำความหมายใหม่เจริญงอกงามแตกสาแหรกออกไปมากมาย

“ความโค้งเว้าและโอบล้อมรอบ” ต้นสาแหรก ดำเนินวิถีการเจริญเติบโตไปตามเส้นทางแห่งความโค้งเว้า เช่น คำว่า “kelung - เกอลุง” (แปลว่าส่วนโค้งที่อยู่ภายใน) หรือคำว่า “gulung - กูลุง” (แปลว่าการม้วน การขดเป็นวง) ขยับขยายขึ้นมาเป็นชั้นรูปธรรมเชิงวัตถุ เช่นในคำว่า “kalung - กาลุง” (แปลว่าวงสร้อยคอ) หรือคำว่า “palung - ปาลุง” ( แปลว่าแผ่นดินที่เป็นแอ่งโค้งต่ำตรงกลาง)

ณ ช่วงเวลาหนึ่ง “ความโค้งเว้าและโอบล้อมรอบ” ในแบบของ “lung – ลุง” ได้เดินทางมาถึงสามแยกใหญ่ กับการปรากฏตัวดักรอด้วยเสียงกระดกลิ้นรัวๆ ของ ร-เรือ ว่าขอแบ่งปันความโค้งเว้าให้กันบ้าง จึงเกิดคำใหม่ว่า “rung – รุง” และเคลื่อนตัวเข้าไปยังใจกลางการเรียกนามบ้านอยู่อาศัยยุคแรกเริ่มของผู้คนและสัตว์ปีกจำพวกนกว่า “sarung – ซารุง” (แปลแบบตรงตัวว่ารังของตัวข้า) และ “sarang – ซารัง” (แปลว่ารังของตัวนก) ตามลำดับ

รวมถึงระบุชนิดของนกโดยตรงว่า “burung – บุรุง” (แปลว่าบางสิ่งผุดโผล่หัวออกมาจากรัง) เป็นรังซึ่งถูกตีความว่าเริ่มจากรังของนก “burung – บุรุง” ก่อนถ่ายทอดลงมาเป็นรังของผู้คน ขึ้นเสาวางรูปคานยกพื้นใต้ถุนสูง สร้างสรรค์ด้วยความโค้งเว้าและโอบล้อมรอบตามความหมายของ “lung – ลุง” คำต้นราก และ “rung – รุง” คำแตกสาแหรก

เป็นรูปแบบของบ้านอยู่อาศัยต้นเค้าที่สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่นเรือนยกพื้นเสาสูงดึกดำบรรพ์ที่บ้านหนองแช่เสา เมืองราชบุรี ซึ่งพบร่องรอยการสร้างบนเสาหกต้นกับจินตภาพของตัวบ้านถึงหลังคาแบบโค้งกลมรีและโอบล้อมโดยรอบ ทั้งยังถูกตีความว่าอาจเป็นต้นแบบของเรือนเสาสูงแห่งอุษาคเนย์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, มติชน 2559)

ความโค้งเว้าและโอบล้อมรอบของรังโดดเดี่ยวแบบเดิม ได้ขยับขยายเป็นความต่อเนื่องของหลายๆ รัง เรียกรวมกันในชื่อว่า “ruang – รุอัง” ซึ่งเข้าใจว่าปรับแต่งจากคำเก่าร่วมสมัย “luang – ลุอัง” (แปลว่าหลวง โล่ง ของสาธารณะของส่วนรวม ไม่มีการครอบครอง) ผู้ถือกำเนิดพร้อมคำเพื่อนพ้องว่า “lu – ลุ” (แปลว่าการเดินทางจากจุดเริ่มต้นถึงยังปลายทางโดยเรียบร้อย)

เมื่อบ้านอยู่อาศัยแบบยกพื้นเสาสูง รูปร่างโค้งมนและโอบล้อมโดยรอบ เจริญมาถึงความเป็นแถวในรูปของ “ruang – รุอัง” เกิดปรากฎการณ์น้ำแยกสายไผ่แตกกออีกครั้ง โดยสายหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ “ไท-กะได” รวมไท-ไตไว้ทั้งหมด ได้แตกแขนงแยกสาแหรกออกไป และถ้อยคำดั้งเดิมผู้พลัดพรากทั้งเติบโตผ่านกาลเวลา ถูกแปรเปลี่ยนควบรวมหดสั้นลง เป็นคำว่า “รัง” (แปลว่าที่อยู่อาศัยของสัตว์) และ “รวง” (แปลว่าช่อ เช่นช่อดอกช่อข้าว) ตามลำดับ และยังพัฒนาต่อยอดรูปคำและความหมายอย่างเป็นอิสระเรื่อยมาจนถึงคำว่า “โรง” (แปลว่าสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่) และ “เรือน” (ที่อยู่อาศัยของคน) ในบั้นปลายสุด

ในขณะที่สายเก่าพวก “ออสโตรนีเซียน” รวมชวา-อินโดนีเซียเข้าไว้ด้วย ได้หยุดการพัฒนาคำเรียกบ้านอยู่อาศัยแบบโค้งเว้าไว้ที่ “ruang – รุอัง” เว้นกิ่งเล็กกิ่งน้อยที่แตกตัวให้เห็นบ้างบนก้านใหญ่ เช่น คำว่า “sarung – ซารุง” ในความหมายปัจจุบันว่าผ้าโสร่ง และคำว่า “ruang – รุอัง” ในความหมายว่าห้องโถงเปิดโล่ง

นอกจากนั้นคำว่า “rung – รุง” ในลักษณะของที่อาศัย ยังแตกกิ่งก้านสาขาไปอีกหลายคำ เช่น คำว่า “kerung - เกอรุง” (แปลว่าโพรงเว้าภายใน) หรือคำว่า “karung - การุง” (แปลว่าถุงใส่ของ กระสอบ) ซึ่งพวกไท-กะไดผู้พลัดพรากได้นำคำและความหมายในลักษณะนี้ ไปขยายใช้กับความหมายของแสงและสว่างในชื่อ “รุ่ง” (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ 2009) บนความเข้าใจพื้นฐานว่าหมายถึง ความโค้งเว้าและโอบล้อมโดยรอบด้วยขอบของแสงอรุณยามเช้าตรู่

และอีกคำที่มีความสำคัญ แสดงการเป็นส่วนที่อยู่ในวงล้อม ในสภาพแวดล้อม คือคำว่า “kurung - กูรุง” ซึ่งตีความว่าภายหลังได้ขยายความหมายขึ้นมาเป็นรูปธรรมหลากหลาย ทั้งห้องเล็กๆ กระท่อม กรงขัง หรือในปัจจุบันยังหมายถึงเครื่องหมายวงเล็บ เป็นต้น

จนถึงต้นยุคพระนครหลวงแห่งเมืองเขมร คำว่า “kurung – กูรุง” ซึ่งเข้าใจว่าความหมายของกรงขังนั้นปรากฏอย่างชัดเจนมานานแล้ว ได้ถูกตอนกิ่งติดตัวพระเจ้าชยวรรมันที่ 2 เดินทางจากเมืองชวาเพื่อไป “กุรุง ณ นครอินทรปุระ” ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวเนื้อหาหลักที่ตามมาอย่างมากมาย เพราะความหมายรากเดิมอันต่ำต้อยในฐานะ “เจ้าชายเชลย” ได้ถูกละทิ้งเกือบทั้งหมด เมื่อพระเจ้าชยวรรมันที่ 2 เป็นอิสระจากเมืองชวา และสถาปนาอาณาจักรพระนครหลวงอันยิ่งใหญ่ พร้อมยกฐานะตัวเองขึ้นเป็นพระจักรพรรดิ

กิ่งพันธุ์ “kurung – กูรุง” ซึ่งตอนมาจากเมืองชวา ได้แตกรากแขนงทดแทนรากแก้วอย่างรวดเร็ว ภายใต้ผืนดินที่ชุ่มชื้นและสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุของจักรวรรดิเขมรผู้กำลังแผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวาง เกิดความหมายใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังอำนาจของการรวมศูนย์อย่างแรงกล้าว่า เมืองหลวง กษัตริย์ และเป็นกษัตริย์ (จิตร ภูมิศักดิ์, ฐานข้อมูลจารึกฯ 2555) เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแผ่ไพศาลไปทั่วทิศ สืบทอดเจตนารมณ์ของผู้สถาปนา พระเจ้าชยวรรมันที่ 2 กษัตริย์เชลยผู้กล้าหาญ เป็นเวลายืนยาวถึง 5 ศตวรรษกว่าจะถูกพายุลูกยักษ์พัดหักโค่นลง

หากกิ่งพันธุ์ชั้นดีได้ถูกตัดตอนขึ้นก่อนการโค่นล้มของต้นแม่จักรวรรดิเขมร แล้วนำไปปลูกยังผืนดินเกิดใหม่ บนเกาะหนองโสน กลางทุ่งน้ำลุ่มเจ้าพระยา ในการสถาปนาราชธานีของอาณาจักรของพวกสยาม-ทวารวดีว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์” การนำคำว่า “กรุง” มาเป็นคำขึ้นต้นชื่อเมืองหลวงจึงมีความสำคัญมากถึงมากที่สุด เช่นเดียวกับคำขึ้นต้นของบทสวดมนต์ว่า “นะโม” ซึ่งแปลว่าธาตุน้ำและธาตุดิน เป็นเครื่องแสดงเจตนาที่ชัดเจนตั้งแต่แรกของการขับขานชื่อเรียก ให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรรวมศูนย์อำนาจในแบบเดียวกับทางต้นฉบับคือ อาณาจักรพระนครหลวงอันเกรียงไกร

เป็นความต่อเนื่องของการสืบสายพันธุ์ชั้นยอดจาก “kurung – กูรุง” มาเป็น “กุรุง” และ “กรุง” อีกกว่า 4 ศตวรรษของอาณาจักรอันเรืองรองอยุธยายศยิ่งฟ้า และสืบทอดคำและความหมายในแบบยิ่งใหญ่นี้ลงมายังการสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร และกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ อย่างเป็นลำดับขั้น

และเป็นเส้นทางเดินอันแสนยาวนานของ “ความโค้งเว้าและโอบล้อมรอบ” ผ่านการพลัดพรากแตกแยกและขรุขระวกวน จากรูปบ้านธรรมดาอันแสนสามัญผ่านความเจริญงอกงามและเติบใหญ่ถึงนามเมืองอันลือชื่อ ก็ไม่เคยหนีห่างจากสาแหรกต้นตระกูลนามว่า “ออสโตร-ไท” ผู้เป็นเจ้าของผืนดินผืนน้ำดั้งเดิมแห่งอุษาคเนย์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 9 กันยายน 2559

หมายเลขบันทึก: 613713เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2016 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2016 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท