เมรุผ้าขาว


เรื่อง เมรุผ้าขาว

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (5 กันยายน 2559)

กว่าจะมาเป็นเมรุเผาศพในปัจจุบันผ่านพัฒนาการมายาวนาน การสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุและเมรุเผาศพนั่นมีกติกาว่า หากเป็นพระเจ้าแผ่นดินจะใช้เมรุทองเครื่องยอดหน้าพรหม ชั้นเจ้าฟ้าใช้พระเมรุแบบเครื่องยอดดาดสี สมเด็จพระสังฆราชใช้เมรุผ้าขาว เจ้านายใช้เมรุผ้าขาว ขุนนางใช้เมรุผ้าขาว พอถึงต้นรัตนโกสินทร์จึงเริ่มมีการสร้างเมรุปูนเพื่อปลงพระศพเจ้านาย เช่นที่วัดสุวรรณาราม วัดอรุณราชวราราม ไม่นานมานี้จึงอนุญาตให้ใช้ปลงศพประชาชนได้ ปัจจุบันนี้เมรุหลวงสำหรับปลงศพเจ้านาย พระสงฆ์ชั้นสูง และบุคคลที่ได้รับพระบรมราชานุญาตอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

เมรุผ้าขาวนั้นจะนำผ้าขาวมาขึงตึงเป็นรูปอาคารแบบง่าย แทนการใช้ไม้หรือการก่ออิฐถือปูน

แต่เดิมผู้คนทั่วไปจะเผาศพบนกองฟืนที่ตั้งขึ้นเรียกว่า ร้านม้า ฐานเผา ตาราง หรือเรียกเพราะ ๆ ว่า "จิตกาธาน" สถานที่เผาก็ไม่ได้เผาในวัด จะเผากันในบริเวณพื้นที่ท้ายหมู่บ้านเรียกว่า "ป่าช้า" หรือ"ฌาปนสถาน" ก็เรียก เวลาจะเผาก็เอาศพนอนคว่ำหน้าลงแล้วเอาฝืนทับอีกทีกันศพไม่ให้งอตัวอันจะทำให้คนตกใจดูไม่งาม ต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างโรงเผาศพเรียกว่า "โรงทึม" เป็นเพียงอาคารเปิดโร่งมีเสาสีต้นหรือมากกว่ารองรับหลังคา ต่อมาก็มีกางผ้าขาวล้อมรอบเพื่อบังตาผู้คนไม่เห็นระหว่างเผา ในชั้นหลังจึงสามารถเผาบนเมรุปูนได้

ในสมัยเมื่อผมมีอายุราว 20 ปี มีโอกาสได้ไปทำงานสร้างเมรุชั้วคราวที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี (ซึ่งจำชื่อวัดไม่ได้แล้ว) สำหรับเผาศพพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีคนนับถือมาก อาจารย์ที่พาไปทำ (จำชื่อไม่ได้เช่นกัน) เป็นช่างสิบหมู่จากกรมศิลปากร ชักชวนให้ผมไปจัดดอกไม้แห้งตกแต่งรอบภูมิทัศน์ เมรุที่ทำนั้นสร้างด้วยโครงสร้างไม้ประกอบด้วยการแทงหยวกกล้วยเป็นลายไทยวิจิตรงดงามแทรกด้วยกระดาษสี ผมยังมีโอกาสประกอบหยวกกล้วยในครั้งนั้น เมื่อสร้างเสร็จจะประกอบเป็นปราสาททรงบุษยกหลังคาซ้อนชั้น เว้นตรงกลางไว้สำหรับตั้งกองฟืนสำหรับวางศพ จากนั้นนั่งร้อยโคมอัดด้วยดอกรักปลอมแควนตามมุมของปราสาทและเสาตามมุมของเมรุ ขึงผ้าขาวล้อมรอบ แล้วจัดดอกไม้ประดับภูมิทัศน์ เวลาเผาก็เผาตัวเมรุไปด้วย เผาโคมอัดด้วย ผ้าขาวมีหน้าที่บังตาผู้คนภายนอกขณะเผาศพกันอุจาดตา

นั่นคือประสบการณ์การสร้างเมรุด้วยหยวกกล้วยครั้งแรกและครั้งเดียวของผมที่ใช้เวลาทำมากกว่า 30 ชั่วโมงแบบไม่ได้หลับไม่ได้นอน และเป็นครั้งแรกที่รู้จักกับเมรุผ้าขาว

จิตรกรรมพระอุโบสถวัดโสมนัสราชวรวิหาร ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4 มีเรื่องการเผาศพชาวบ้าน ภาพหนึ่งเป็นการทำพิธีศพในเขตวัด มีพระระเบียงล้อมรอบ แสดงภาพศพที่เกือบเหลือแต่โครงกระดูกมีผ้าบังสุกุลวางทับ และพระสงฆ์กำลังสวดบังสุกุล ถัดออกมาเป็นผ้าขาวขึงล้อมรอบ เรียกว่าเมรุผ้าขาว มีพระสงฆ์อีกสองรูปยืนอยู่ด้านนอกผ้า และมีคนนั่งสำรวมนุ่งขาวห่มขาวโกนหัวแสดงความไว้ทุกข์และเคารพศพ นับเป็นงานจิตรกรรมที่แสดงถึงการเผาศพประชาชนแบบโบราณก่อนที่จะมีการเผาศพบนเมรุปูนในปัจจุบัน

ภาพประกอบจาก วัดโสมนัสราชวรวิหาร http://www.watsomanas.com/painting/ubosatha/maru/i... ค้นเมื่อ 5 กันยายน 2559.

หนังสือประกอบการเขียน

สมคิด จิระทัศนกุล.(2554). รู้เรื่องวัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : มิเซียมเพลส.

สมภพ ภิรมย์.(2528). พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์.

หมายเลขบันทึก: 613617เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2016 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2016 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท