ความรู้เพื่อชีวิต : ผลการทำนาแบบ KM


ไม่ไถนา ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ใช้ยาฆ่าหอย ปู วางแผนใช้พืชตระกูลถั่วอายุสั้น กลาง และยาว เพื่อทดแทนปุ๋ยไนโตรเจน โดยการปลูกพืชตระกูลถั่วทุกชนิดที่หาได้บนคันนา
ชีวิตสมัยเด็กของผมนั้นไม่ชอบการทำนาเลย เพราะทั้งร้อน ทั้งเหนือย และทรมานร่างกายสารพัด มีวันหนึ่งเมื่อผมอายุประมาณ ๘ ขวบ (ตอนนั้นผมหนักประมาณไม่เกิน ๒๐ กก) แม่ผมให้ช่วยหาบข้าวเบา (ข้าวที่เกี่ยวได้เร็ว) โดยใช้ไม้คันหลาว (ที่ทำด้วยต้นหมากผ่าซีก เสี้ยมปลายให้แหลม) เพียงข้างละ ๒ ฟ่อนเดินข้ามทุ่งไปกองไว้ที่บ้านรอการนวดเป็นเมล็ด เป็นวันที่ผมรู้สึกทรมานที่สุด และจำได้ดีว่าผมเดินบ่นตลอดทางว่า "ข้าวเบาอะไรไม่เห็นเบาเลย" และตั้งใจว่าจะพยายามหนีการทำนาให้ได้ ผมก็พยายามเรียนจนหนีการทำนาได้สำเร็จ เมื่อผมมาทำงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เห็นความทุกข์ยากของเกษตรกร และผมได้ตั้งใจว่าจะพยายามทำงานหาวิธีแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ ผมได้มองลู่ทางตลอดเวลาว่าผมทำงานใดจึงจะมีโอกาสช่วยชาวบ้านได้บ้าง และได้มองเห้นว่าโครงการวิจัยระบบปลูกพืช โครงการวิจัยระบบการทำฟาร์ม จนมาถึงโครงการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรดิน น้ำ พืช และโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และงานด้านการสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านต่างๆ จนกระทั่งมาตกผลึกทางความคิดว่า เกษตรอินทรีย์น่าจะเป็นคำตอบที่สำคัญ ในระบบเกษตรอินทรีย์เป็การปรับกระบวนจัดการเรียนรู้แบบ KM ที่สมบูรณ์แบบ ผมก็ได้เริ่มการทำนาแบบ KM ครั้งแรกที่ศูนย์เรียนรู้แดงหม้อ จังหวัดอุบลราชธานี แต่ก็มีปัญหาว่าคนที่ช่วยงานในภาคสนามไม่ค่อยทำตามที่ผมวางแนวปฏิบัติไว้ ทำให้ไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่ แต่ก็ได้บทเรียนนมาพอสมควร ปีนี้ ผมได้ตัดสินใจประมวลความรู้ทั้งหมดทำเองให้เห็นดำเห็นแดงไปเลย ได้รวบรวมความรู้จากทุกเครือข่าย และทุกตัวอย่างที่มีมาผสมผสานให้เหมาะที่สุดกับพื้นที่นาที่มี และมีผู้ช่วยที่ไม่เคยปฏิเสธแผนการทำงานของผม ผมก็ลงลุยช่วยในช่วงแรกๆ ตื่นตี๕ไปนา เย็น ๕โมงเย็นก็ไปนา กลับประมาณ ๔-๕ ทุ่มเป็นเวลาประมาณ ๓ เดื่อนก็เริ่มวางมือได้ มีการปลูกพืชบนคันนา ปุ๋ยพืชสดในนา บนคันนา ในน้ำ ทำทุกรูปแบบเท่าที่คิดออก เพื่อการสร้างความรู้ ทำให้ผมเข้าใจปัญหาและขีดจำกัดในการทำนา โดยเฉพาะต้นทุนการทำนา ที่ผมพยายามหาทางลด เช่น ไม่ไถนา เพื่อลดค่าใช้จ่าย และไม่ทำลายระบบดิน เพียงหว่านเมล็ดข้าวลงในนาเฉยๆ ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า แต่ใช้ฟางคลุม และปลูกพืชปุ๋ยสด ไม่ใช้ยาฆ่าหอย ปู แต่ใช้ระบบกับดักไปทำอาหารและปุ๋ยหมักน้ำ วางแผนใช้พืชตระกูลถั่วอายุสั้น กลาง และยาว เพื่อทดแทนปุ๋ยไนโตรเจน โดยการปลูกพืชตระกูลถั่วทุกชนิดที่หาได้บนคันนา ใช้แกลบและฟาง มดแทนปุ๋ยโปแตสเซียม ใช้ขี้ค้างคาว และปุ๋ยคอกทดแทนปุ๋ยฟอสฟอรัส ใส่ใบไม้ เศษพืชทุกชนิดที่หาได้จากข้างทางจากที่ทำงานไปบ้าน และจากบ้านไปนา เลี้ยงปลาทุกชนิด (กว่า ๒๐ ชนิด เท่าที่หาได้) ในนาข้าว จากการประเมินโดยเครือข่ายมาช่วยงานกันที่แปลงนา เมื่อวาน (๑๙ พย) พบว่าได้ผลผลิตเบื้องต้น ไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ กก ต่อไร่ มีต้นสูงประมาณ ๒ เมตรกว่า ปีหน้าไม่ต้องหาฟางจากที่อื่น ข้าว ๑ เมล็ดจะได้ประมาณ ๑๕ (๑๐-๒๕)รวงๆละ ประมาณ ๓๐๐ (๒๕๐-๔๐๐)เมล็ด และเมื่อแอบไปดูแปลงข้างๆ พบว่า หว่านสำรวยจะมีการแตกกอเพียง ๖ รวงต่อกอ หว่านน้ำตม ประมาณ ๗ รวง และรวงเล็กกว่า ส่วนการปักดำนั้นจะได้ผลผลิตพอๆกัน การประเมินผลผลิตจริงจะทำหลังการนับและเก็บข้อมูลในรายละเอียดแล้ว สำหรับปลาในนานั้น จะมีกรประเมินในระยะต่อๆไป ผลการทำนาแบบ KM นี้จะเผยแพร่และขยายผลในทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้ ทั้งในและนอกเครือข่าย เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนของทุกคนในเครือข่าย ขอขอบพระคุณครูบาสุทธินันท์ และคณะ และ ดร. สมพิศ ไม้เรียง (พี่จุ๋ม) ที่มาช่วยการเก็บเกี่ยวในครั้งนี้ ทำให้ผมมีคนช่วยยึนยันความถูกต้องมากขึ้น
หมายเลขบันทึก: 61359เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อ่านแล้วคิดถึงความสนุกสนานความเหนื่อยในวัยเด็กนะครับ แต่ก็ดีใจที่ผมเคยมีโอกาสได้ทำอย่างนั้น
  • ถึงตอนนี้ห่างหายไปหลายสิบปี แต่ยังคิดถึงช่วงอารมณ์ของความเหนื่อยและจิตสำนึกของการเป็นลูกชาวนา
  • เช่นเดียวกับอาจารย์สักวันเราน่าจะช่วยให้เขาเหนื่อยน้อยลงและคุ้มค่ากับแรงงานที่ทำลงไป ไม่ให้ใครเอาเปรียบได้(มาก)

ไว้ ปลูกมะนาวรอด แล้ว จะมาปรึกษา อาจารย์เรื่องการทำนาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท