เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่๑๔. การหย่าร้างมีผลร้ายต่อเด็กหรือไม่


บันทึกชุด เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ นี้ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๑๔ การหย่าร้างมีผลร้ายต่อเด็กหรือไม่ ตีความจากบทความชื่อ Is Divorce Bad for Children? โดย Hal Arkowitz (รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยอะริโซนา) & Scott O. Lilienfeld (ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเอ็มมอรี) คำตอบคือ มีแต่ไม่มากส่วนใหญ่เด็กปรับตัวได้ดี

ผมอ่านบทนี้แล้วบอกตัวเองว่า บริบททางสังคมอเมริกันกับสังคมไทยแตกต่างกันมาก เด็กไทยมีบริบทของการไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ในสัดส่วนที่สูงมาก อาจจะมีความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องหย่าร้าง

ผู้เขียนซึ่งเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งคู่ บอกว่าคนอเมริกันกังวลกันมากว่าการหย่าร้างจะก่อบาดแผลทางใจให้แก่ลูก จนมีหลายคู่ที่แม้อยู่ด้วยกันอย่างไร้ความสงบสุขมีความขัดแย้งกันรุนแรง ก็ยอมทนอยู่ด้วยกันเพื่อลูกและทำให้ผมคิดต่อว่า คู่ที่ขัดแย้งกันรุนแรงเวลาทะเลาะกันน่าจะก่อบาดแผลทางใจแก่ลูกด้วย น่าจะมีการวิจัยเด็กจากครอบครัวที่มีความขัดแย้งสูงเปรียบเทียบเด็กที่พ่อแม่หย่ากัน กับเด็กที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันและทะเลาะกันเรื่อยไป ว่าเติบโตขึ้นมามีปัญหาทางจิตใจและทางสังคม แตกต่างกันหรือไม่ และเมื่อเทียบกับเด็กในครอบครัวที่อบอุ่นปรองดองกันดี แตกต่างกันอย่างไร

ผู้เขียนสรุปง่ายๆ ว่าเด็กจากครอบครัวหย่าร้างได้รับผลร้ายในช่วงแรกๆ ได้แก่วิตกกังวล โกรธ ช็อกและไม่เชื่อ แต่ส่วนใหญ่ปรับตัวได้ดีไม่มีปัญหามากอย่างที่มักจะเป็นห่วงกันโดยการปรับตัวเข้าที่เข้าทาง ในปลายปีที่สองหลังการหย่าร้างมีเพียงส่วนน้อยที่ผลร้ายเกิดขึ้นต่อเนื่อง

มีการรวบรวมและวิเคราะห์ผลการวิจัยในระยะยาว เปรียบเทียบเด็กที่พ่อแม่หย่าร้างในช่วงอายุต่างๆ กับเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่อยู่ร่วมกัน ติดตามไปจนถึงช่วงวัยรุ่นเปรียบเทียบผลการเรียน ปัญหาทางอารมณ์ และพฤติกรรมการเป็นเด็กเกเรการมีหลักการส่วนตัวและความสัมพันธ์ทางสังคมได้ผลว่า มีความแตกต่างน้อยมากบ่งชี้ว่า เด็กปรับตัวกับสภาพการหย่าร้างของพ่อแม่ได้ดี

แต่ในรายละเอียดมีผลการวิจัยที่ไม่ตรงกัน มีผลงานวิจัยบอกว่า ความขัดแย้งของพ่อแม่ทั้งก่อนและหลังการหย่าร้าง สัมพันธ์กับความด้อยความสามารถในการปรับตัวในเด็ก และมีรายงานว่าเด็กที่รับรู้ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างพ่อแม่ก่อนหย่า ปรับตัวได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับรู้ ตีความว่าเด็กที่ไม่ได้รับรู้ ความขัดแย้งของพ่อแม่ไม่ได้มีโอกาสเตรียมตัวนอกจากนั้น เด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกันรุนแรง อาจมองการหย่าร้างเป็นการสิ้นสุดความขัดแย้งที่รุนแรง

การหย่าร้างอาจตามมาด้วยคุณภาพของการทำหน้าที่พ่อแม่ตกต่ำพ่อหรือแม่หรือทั้งสองฝ่าย อาจมีภาวะซึมเศร้าวิตกกังวลหรือติดยาเสพติด ทำให้สามารถแสดงความรักความห่วงใยเด็กได้ไม่ดี



ข้อมูลไม่ตรงกัน

ในปี ค.ศ. 2000 มีการตีพิมพ์หนังสือ The Unexpected Legacy of Divorce : A 25 Year Landmark Study เสนอกรณีศึกษาบ่งชี้ว่าผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กในครอบครัวหย่าร้างมีชีวิตที่มีปัญหารุนแรงเช่น ภาวะซึมเศร้าและปัญหาความสัมพันธ์

แต่ผลของการวิจัยไม่สนับสนุนข้อสรุปข้างต้นและพบว่าเด็กจากครอบครัวหย่าร้าง ส่วนใหญ่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ปรับตัวได้ดีดังตัวอย่างหนังสือ For Better or For Worse : Divorce Reconsidered ตีพิมพ์ในปี 2002 เสนอข้อมูลจากการติดตามเด็กเป็นเวลา ๒๕ ปี อัตราการเกิดปัญหาร้ายแรงด้านสังคม อารมณ์ หรือจิตใจ ในคนที่มีพ่อแม่หย้าร้าง เท่ากับร้อยละ ๒๕ในขณะที่ในคนที่พ่อแม่อยู่ด้วยกัน อัตราดังกล่าว เท่ากับร้อยละ ๑๐เขาสรุปว่าความแตกต่างกันร้อยละ ๑๕ ถือว่าน้อยมากและไม่ทราบว่าเป็นผลของ การหย่าร้าง หรือเป็นผลของการเลี้ยงดูที่ไม่ดี

มีรายงานผลของการรวบรวมผลการวิจัยและสังเคราะห์ ตีพิมพ์ในปี 2003 สรุปว่า ผู้ใหญ่ที่สมัยเด็กครอบครัวหย่าร้าง มีความสัมพันธ์ที่มีปัญหามากกว่าผู้ใหญ่ที่มาจากครอบครัวที่มั่นคงแต่ความแตกต่างนั้นไม่มาก

อย่างไรก็ตาม เด็กจะเติบโตอย่างสมดุล หากหลังการหย่าร้างพ่อแม่ยุติความขัดแย้งได้หรือหาทางไม่ให้เด็กเข้าไปรับรู้เรื่องความขัดแย้งและเด็กที่อยู่ในปกครองของพ่อหรือแม่ ที่มั่นคงจะมีโอกาสมีชีวิตที่ดีในวัยผู้ใหญ่

ปัจจัยที่สำคัญต่อเด็กอีกอย่างหนึ่งคือ สถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงหลังการหย่าร้างและได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่ดีจากเพื่อน และจากผู้ใหญ่เช่นครู

ข่าวดีคือ แม้การหย่าร้างจะมีผลร้ายต่อเด็กในช่วงแรกแต่เด็กส่วนใหญ่ปรับตัวได้ดี



วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ค. ๒๕๕๙

ห้องรับรองของการบินไทยสนามบินสุวรรณภูมิ


หมายเลขบันทึก: 613584เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2016 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2016 07:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ ทะเลาะกันรุนแรง อาจมองการหย่าร้างเป็นการสิ้นสุดความขัดแย้งที่รุนแรง ...


เป็นผลงานวิจัยที่ดีมากๆค่ะ ขอบคุณ ท่านอจ. ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท