การปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย (ตอนที่ ๑๐)


การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมหาวิทยาลัย จึงเป็นการปฏิรูปทั้งมหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาและการพัฒนาคนไทย ระบบการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและระบบเศรษฐกิจพร้อมๆ กัน

มหาวิทยาลัยกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

ผมได้ติดตามเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย และคิดว่ารัฐบาลกำลังตั้งต้นได้อย่างถูกทาง จึงขอเชียร์และเอาใจช่วย เรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมหาวิทยาลัย ซึ่งจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจพร้อมกับโครงสร้างการวิจัยและพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปคนและการศึกษา ผ่านบทบาทของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม

แต่มีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้สำเร็จหรือล้มเหลว (key success or failure factors) หลายอย่าง ได้แก่

1. เรื่องนี้จะต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องและใช้เวลาที่ยาวนาน เพราะจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ โครงสร้าง และวัฒนธรรม ทั้งภายในมหาวิทยาลัย และภาคเศรษฐกิจ การผลิต/อุตสาหกรรม หากใช้เวลาสั้นเกินไปหรือขาดความต่อเนื่องก็จะล้มเหลว อาจจะต้องใช้เวลาปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง 10-20 ปี หน่วยงานของรัฐบาลที่จะรับผิดชอบดูแลในเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ก็จะต้องทำงานอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องระยะยาวด้วย

2. จะต้องใช้เงินทุนหรืองบประมาณในการดำเนินการที่ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นและถือเป็นการลงทุนของประเทศ แต่ระบบการใช้เงินทุนหรืองบประมาณในด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม จะต้องเป็นระบบที่ต่อเนื่องและมีความคล่องตัว การใช้ระบบงบประมาณรายปี การใช้วิธีการใช้จ่ายเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง และการติดตามตรวจสอบแบบราชการ ซึ่งเต็มไปด้วยกฎระเบียบที่ไม่ได้ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถจะใช้ได้และเป็นอุปสรรคปัญหาต่อการทำงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม จึงจำเป็นจะต้องใช้ระบบให้ทุนและใช้งบประมาณที่ไม่ใช่แบบราชการ เพื่อให้มีความสะดวกและประสิทธิภาพในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (accountability) ความโปร่งใส มีการติดตามและประเมินผล (mornitoring & evaluation) ที่มีประสิทธิภาพ ระบบเช่นนี้สามารถจะดูตัวอย่างจากต่างประเทศ รูปแบบหนึ่งคือการจัดตั้งกองทุนขึ้น ซึ่งสามารถจะให้ทุนหรืองบประมาณได้อย่างต่อเนื่องระยะยาวและมีความคล่องตัว โดยมีงบประมาณประจำปีเข้ามาทดแทนรายจ่ายของเงินกองทุน การใช้ระบบงบประมาณแบบราชการจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความล้มเหลวได้

3. บทบาทหลักของมหาวิทยาลัย คือ การสร้างคนพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง การสร้างผลิตภัณฑ์ การทำธุรกิจ การค้าขาย และการทำอุตสาหกรรม ไม่ใช่บทบาทหลักของมหาวิทยาลัย แต่เป็นบทบาทหน้าที่ของภาคเอกชน ในระบบห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมีบทบาทที่ต้นน้ำและกลางน้ำ ส่วนภาคธุรกิจเอกชนมีบทบาทที่ปลายน้ำ ดังนั้นจะต้องแบ่งบทบาทหน้าที่กันให้ดีๆ การให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทต้นน้ำและกลางน้ำ คือ การสร้างรากแก้ว แต่การให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทแต่กลางน้ำหรือปลายน้ำ คือ การสร้างรากแขนง ซึ่งจะเป็นความล้มเหลวอย่างที่ผ่านมาแล้ว ในเรื่องการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของประเทศไทย

5. จุดอ่อนของประเทศไทยที่ผ่านมา คือ (1) การขาดหรือยังมีไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ได้แก่ หน่วย/ศูนย์/สถาบัน เพื่อที่จะเป็นสถานที่ทำงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย (2) การขาดหรือยังมีบุคลากรนักวิจัยไม่เพียงพอที่จะทำงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม จึงยังไม่เกิดมวลวิกฤตที่จะทำให้เห็นผลอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม แต่การที่ประเทศไทยเพิ่มการผลิตบุคลากรนักวิจัยโดยไม่สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะเกิดปัญหาบุคลากรนักวิจัยตกงาน ทั้งๆ ที่มีบุคลากรนักวิจัยไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันกำลังเกิดขึ้นแล้ว (3) การขาดการลงทุนทางด้านเครื่องมือและครุภัณฑ์ด้านการวิจัยที่ก้าวหน้าและทันสมัยอย่างเพียงพอ และการขาดเงินทุนในการทำวิจัยโดยตรง ซึ่งจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้น หากการลงทุนและใช้งบประมาณในด้านการวิจัยที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ได้นำมาใช้ใน 3 ด้านนี้ ก็จะเป็นปัจจัยของความล้มเหลวได้

6. การสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือ (linkage & collaboration) ระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกับกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ให้มากขึ้นและเข้มแข็ง เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น การทำให้เกิดประชารัฐวิจัย ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัย กระทรวงและหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่จะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน มีผลงานและผลสำเร็จจริง และยั่งยืนระยะยาว ทางหนึ่งที่ควรทำ คือ ผลักดันด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (หน่วย/ศูนย์/สถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม) ภายในมหาวิทยาลัย หรือของตนเอง รวมทั้งร่วมลงทุนสนับสนุนการผลิตบุคลากรวิจัยร่วมกับภาครัฐด้วย ซึ่งสามารถจะใช้กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 อย่างที่รัฐบาลกำหนด เป็นโจทย์และกิจกรรมของการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของประชารัฐวิจัย และการลงทุนร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและร่วมมือของมหาวิทยาลัย กระทรวงและหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ในการสร้างผลิตภัณฑ์ สินค้าและอุตสาหกรรมที่เกิดจากนวัตกรรมซึ่งมีมูลค่าสูง (innovative & high-valued products)

7. มหาวิทยาลัยจะต้องมีการปฏิรูปปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ระบบและวัฒนธรรมภายใน ทั้งมหาวิทยาลัยกลุ่มเก่า 27 แห่ง มหาวิทยาลัยเฉพาะทางคือกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและมหาวิทยาลัยราชมงคล ประมาณ 10 แห่ง และมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่และมหาวิทยาลัยราชภัฎประมาณ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยทุกกลุ่มยังมีการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมค่อนข้างน้อย หากคิดเป็นสัดส่วนของอาจารย์ที่ทำวิจัยในแต่ละกลุ่มยังไม่ถึง 40% โดยเฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ยิ่งมีสัดส่วนที่น้อย แม้แต่ในกลุ่มที่รวมตัวเป็น Research University Network (RUN) ก็ยังมีอาจารย์ที่ทำวิจัยไม่ถึง 40% ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยทั้งหมดยังเป็น Teaching University การจะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยจะต้องมีอาจารย์ส่วนใหญ่ทำวิจัย (เช่น 60-80%) ไม่ใช่ส่วนน้อยอย่างในปัจจุบัน จะต้องมีสัดส่วนของบัณฑิตศึกษาเพิ่มขึ้นอีกมาก ในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งด้านงานวิจัย จะมีสัดส่วนของนักศึกษาบัณฑิตศึกษาจะมากกว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีอีก จะต้องมีระบบนักวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral fellows) และมีนักวิจัยเต็มเวลา (Full-time research fellows) จำนวนมากและเข้มแข็ง ซึ่งประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่มี หรือยังมีจำนวนน้อย การปรับเปลี่ยนแค่นี้ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่และใช้เวลา

8. ประเทศไทยยังต้องการและขาดแคลนบุคลากรในสายวิชาชีพด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี เพื่อทำงานและผลิตสินค้านวัตกรรม ทั้งระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี โทและเอก อีกเป็นจำนวนมาก จึงควรมีการขยายตัวและเพิ่มจำนวนนักศึกษาและสถาบันการศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชมงคล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และควรลดการผลิตบุคลากรและบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ซึ่งล้นเกินและขาดคุณภาพลง ดังนั้นจึงจะต้องปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง และวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎ ครั้งใหญ่ ให้เปลี่ยนแนวทางการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีในสายที่ขาดแคลนอย่างมีคุณภาพ มีบทบาทหน้าที่ด้านงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในเชิงพื้นที่และท้องถิ่น โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้พื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่นทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มากขึ้น มหาวิทยาลัยในกลุ่มใหม่ยังต้องการพัฒนาให้เข้มแข็งและจะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณอีกมาก การสร้างเครือข่ายและร่วมกันทำงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปของรัฐบาล ระหว่างมหาวิทยาลัยกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ จะเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่พัฒนาได้เร็วขึ้น

9. การจะให้มหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรทั้งในระดับปริญาตรี และระดับสูงกว่าปริญญาตรี คือ ระดับปริญญาโท เอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มีคุณภาพ และทำงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพด้วยนั้น การศึกษาในระดับพื้นฐานตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาก็จะต้องมีคุณภาพด้วย มหาวิทยาลัยเอง ก็จะต้องเปลี่ยนระบบและวิธีการคัดเลือกคนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวกำหนดการศึกษาในระดับล่างทั้งหมด และในปัจจุบันยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะยังเน้นการท่องจำมาทำข้อสอบเพื่อแข่งขันกัน ทำให้เด็กเครียดจากการแข่งขันและจะต้องไปเรียนกวดวิชากันมาก ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยยังผิดพลาดที่เน้นการท่องจำเพื่อสอบ ทำให้เด็กไทยส่วนใหญ่คิดไม่เป็น ทำไม่เป็น ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีระเบียบวินัย ขาดความรับผิดชอบ ขาดคุณธรรมจริยธรรม ขาดความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 ระบบการศึกษาไทยจึงด้อยพัฒนาและล้าหลังมานาน และต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อผลิตคนที่มีคุณภาพก่อนจะเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย หากไม่มีการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย มหาวิทยาลัยก็คงจะไม่สามารถผลิตคนที่มีคุณภาพและยากที่ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ให้มีประสิทธิภาพและสำเร็จได้

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมหาวิทยาลัย จึงเป็นการปฏิรูปทั้งมหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาและการพัฒนาคนไทย ระบบการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและระบบเศรษฐกิจพร้อมๆ กัน ทั้งหมดนี้เป็นที่เรื่องใหญ่มาก ผมจึงขอเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้รัฐบาลและคณะทำงานในเรื่องนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 612513เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2016 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2016 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท