การพัฒนาวิชาชีพครูภาษาไทยในศตวรรษที่ ๒๑


การพัฒนาวิชาชีพครูภาษาไทยในศตวรรษที่ ๒๑

เฉลิมลาภ ทองอาจ, Ph.D.

<p “=””> สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้เป็นกระบวนการหลักทางสังคมที่ทำให้การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม จากการที่เน้นการส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณลักษณะของผู้จดจำความรู้ของผู้อื่น มาเป็นผู้แสวงหาและสร้างความรู้ของตนเอง จากผู้รับฟัง มาเป็นผู้บุกเบิกแก้ปัญหา และจากผู้คิดตามมาเป็นผู้คิดนำ คิดสังเคราะห์ และสร้างสรรค์แนวทางใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ซึ่งผู้ที่เข้ามามีบทบาทมากในกระบวนการพัฒนาดังกล่าวนี้ ก็คือครูภาษาไทย ในฐานะผู้จัดการเรียนรู้ที่พัฒนาทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร อันเป็นทักษะสำคัญที่สุดของทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

นักวิชาการด้านภาษาไทยเคยมีวาทกรรมว่า ภาษาไทยเป็นวิชาที่ถูกลืม ซึ่งในปัจจุบันสภาพการณ์อันเป็นปัญหาดังกล่าวมีความคลี่คลายไปในทางบวกมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญต่อการพัฒนาครูผู้สอนภาษาไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มิได้จบการศึกษาในสาขาวิชาเอกภาษาไทยมาโดยตรง ให้มีความรู้ความเข้าใจในสาระการเรียนรู้ และกระบวนการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับชั้นต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดการฝึกอบรมในหลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ หลายรูปแบบอย่างไรก็ตาม ครูผู้สอนที่เข้ามาทำหน้าที่สอนภาษาไทย ควรจะต้องมีบทบาทในเชิงรุก กล่าวคือ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาตนเอง ให้มีศักยภาพในฐานะผู้สอนภาษาแม่ และแสวงหาแนวทางหรือวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ตนเองสามารถที่จะจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร รวมถึงเป้าประสงค์อันเป็นอุดมคติของตนเองควบคู่ไปด้วย สำหรับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาตนเอง สามารถดำเนินการได้ใน ๓ ด้าน คือ ด้านความรู้ด้านทักษะ และด้านคุณลักษณะ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
</p>

ครูภาษาไทยควรแสวงหาความรู้ด้านภาษาไทยอย่างครบถ้วน ทั้งในเรื่องสัทศาสตร์ หรือเรื่องเสียงในภาษาด้านอรรถศาสตร์ หรือเรื่องคำและความหมาย ด้านวากยสัมพันธ์ หรือเรื่องการสัมพันธ์ของคำ กลุ่มคำ ประโยคและย่อหน้า และด้านวจนปฏิบัติศาสตร์ หรือเรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารในกลุ่มหรือระดับต่าง ๆ ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ มีพัฒนาการและขยายขอบเขตอยู่ตลอดเวลา ครูภาษาไทยจึงต้องหมั่นศึกษาจากวารสารหรือเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรที่จะยึดถือตำราใดตำราหนึ่ง ซึ่งเป็นแต่เพียงความคิดของผู้เขียนคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวทั้งนี้ก็เพื่อให้ตนเองรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด

ด้านทักษะการใช้ภาษา ครูภาษาไทยจะต้องฝึกหัดตนเอง ให้ใช้ทักษะทางภาษาด้านต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเพิ่มพูนทักษะการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด ซึ่งการได้กระทำและฝึกทักษะเหล่านี้ จะช่วยให้ครูภาษาไทยมีความชำนาญ และสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือหรือแนะนำนักเรียนให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ครูควรที่จะเขียนงานในลักษณะต่าง ๆ เช่น บทความ เรียงความ ความเรียง อย่างสม่ำเสมอ ควรที่จะหาโอกาสที่จะฝึกฝนการอ่านออกเสียง เช่น การเป็นผู้ประการ การเป็นพิธีกร การเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน เพื่อให้ตนเองได้รับประสบการณ์อย่างหลากหลายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสอนภาษาไทยในชั้นเรียนทั้งนี้ ครูจะต้องคัดสรรด้วยว่า ทักษะการสื่อสารที่มีความต้องการและจำเป็นต่อการดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันและอนาคตควรมีรูปแบบใด เช่น การสอนพูด ควรเน้นไปที่การพูดเพื่อจุดประสงค์ใด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีในการเข้ามาส่งเสริมและพัฒนาทักษะ เพราะการใช้ภาษาในปัจจุบัน มิได้ถูกจำกัดไว้แต่การเขียนในกระดาษ หรือการพูดเฉพาะต่อหน้าบุคคลเพียงเท่านั้นครูและนักเรียนจำเป็นจะต้องใช้ระบบเทคโนโลยี เครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมถึงแอพพลิเคชันต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านทักษะภาษาในมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้นเพราะเมื่อนักเรียนได้ฝึกปฏิบัติในโรงเรียนแล้ว พวกเขาก็จะสามารถปรับทักษะการสื่อสารของตนเองที่มีอยู่แล้วเข้าสู่การทำงานจริงโดยไม่ยากนัก

<p “=””> การมีแต่เฉพาะความรู้และทักษะด้านภาษาอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนานักเรียนในศตวรรษใหม่ ครูภาษาไทยจำเป็นที่จะต้องสร้างคุณลักษณะ ด้วยการกล่อมเกลาจิตใจของตนเอง ให้เห็นคุณค่าของภาษาไทยในฐานะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชนชาติ เห็นประโยชน์ของการเรียนการสอน เพื่อที่จะทำให้ตนเองเป็นผู้ที่รักและศรัทธาในภาษาไทยและวัฒนธรรมทางภาษาที่เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พัฒนาตนเองให้รู้จักสุนทรียะของภาษา การอ่านออกเสียงเป็นท่วงทำนอง การแต่งคำประพันธ์ การใช้ภาษาสร้างความงดงาม หรือการทำให้ตนเองเป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องในทุกโอกาส คุณลักษณะเหล่านี้ จะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถเผชิญต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะถาโถมเข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี </p>

เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แม้จะสามารถทำนายได้ว่า จะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยยังคงใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างกัน แต่ก็คงจะต้องมีลักษณะบางประการเปลี่ยนแปลงไปในหลายส่วน ครูภาษาไทยจำเป็นจะต้องรู้เท่าทัน และพัฒนาตนเองให้มีความรู้ในด้านภาษาที่เป็นปัจจุบัน สามารถที่จะคัดสรรสาระหรือเนื้อหาที่จะนำมาสอนนักเรียนได้อย่างเหมาะสมกับระดับชั้น และความต้องการจำเป็นที่แท้จริง สามารถแสดงทักษะการใช้ภาษาเพื่อเป็นตัวอย่างแก่นักเรียน และช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดทักษะผ่านการฝึกหัด และการให้คำแนะนำในฐานะที่ครูเป็นผู้มีประสบการณ์ และมีคุณลักษณะของความเป็นครูภาษาไทย ที่จะช่วยธำรงและสร้างจิตสำนึกของนักเรียนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ให้เห็นคุณค่าของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะสร้างสรรค์ภาษาในรูปแบบใหม่ ที่เป็นการต่อยอดมิให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษาที่ตายแล้ว
หรือปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้อีกเมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษหน้า

______________________________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 612452เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2016 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2016 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท