เก็บตกวิทยากร (26) : เครื่องมือในการจัดการเรียนรู้คู่บริการบนฐานวัฒนธรรมชุมชน


“เครื่องมือ : เรียนรู้คู่บริการบนฐานวัฒนธรรมชุมชน” เป็นผลพวงความรู้จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผมเป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งค้นพบว่ากิจกรรมนอกหลักสูตรที่ดี เมื่อต้องขับเคลื่อนในมิติเรียนรู้คู่บริการร่วมกับชุมชนนั้น จำต้องหยัดยืนอยู่บนฐานวัฒนธรรมชุมชนเป็นหัวใจหลัก กล่าวคือ บูรณาการไปกับ ฮีต 12 คอง14 หรือฮีต 12 คองสังคม อันเป็นจารีตประเพณี หรือกิจกรรมที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ มิใช่ขับเคลื่อนแบบไม่ดูกาละความพร้อมหรือสายธารอดีตและปัจจุบันของชุมชน

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแกนนำนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้จิตอาสาพัฒนาชุมชน” ระหว่างเวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม 2 อาคารพัฒนานิสิต เกี่ยวกับประเด็น “การใช้เครื่องมือในการจัดการเรียนรู้คู่บริการบนฐานวัฒนธรรมชุมชน”

โครงการดังกล่าวเป็นการนำนิสิตในสังกัดโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งที่เป็นชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2-4 ลงไป “ฝังตัว” ในชุมชนเพื่อเรียนรู้ชุมชนและจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนภายใต้หลักคิด “เรียนรู้คู่บริการ” ในระหว่างวันที่ 22-29 กรกฎาคม 2559 ณ บ้านศาลา ต.โนนแดง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

โครงการดังกล่าวบูรณาการการเรียนรู้ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญๆ คือบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะแก่นิสิต เพื่อให้นิสิตตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่มีต่อการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมอย่างสร้างสรรค์ มีความรู้และทักษะในการเรียนรู้ชุมชนและสังคม ตลอดจนการสานสัมพันธ์อันดีงามของนิสิตรุ่นพี่กับรุ่นน้อง รวมถึงการบริการสังคม หรือบริการวิชาการแก่สังคม ฯลฯ







รู้ตัวตนโครงการ : “รู้ตัวเรา” เพื่อแบ่งเบาภาระคนอื่น

ประเด็นเบื้องต้นที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ การนำหลักคิดจาก “9 ข้อคิดการเรียนรู้ชุมชน” มาสื่อสารกับนิสิต ซึ่งแนวคิดที่ว่านั้นคือองค์ความรู้ที่ผมใช้ในรายวิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ รวมถึงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผมรับผิดหลักในประเด็นการจัดการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชุมชนบนฐานวัฒนธรรมชุมชนขามเรียงฯ

หลักๆ คือการย้ำเน้นให้นิสิตได้ทำความเข้าใจกับองค์ประกอบของโครงการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้จิตอาสาพัฒนาชุมชน” โดยเริ่มต้นจากการชวนให้นิสิตได้ถอดความหมายของคำต่างๆ ในชื่อโครงการที่ประกอบด้วย “แลกเปลี่ยน/เรียนรู้/จิตอาสา/พัฒนา/ชุมชน

ใช่ครับ—ถอดความหมาย เพื่อให้รู้ความหมาย และวิธีการที่เกี่ยวโยงเพื่อให้บรรลุซึ่ง “ความหมาย” เหล่านั้น






นอกจากนั้นยังย้ำเน้นให้นิสิตได้ทบทวนถึงกรอบแนวคิดสำคัญๆ ของโครงการภายใต้ประเด็นง่ายๆ คือ

  • ใครทำอะไร
  • ใครทำที่ไหน
  • ใครทำอย่างไร
  • ใครทำเพื่ออะไร

    เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ “ตัวเอง” จะได้เข้าใจว่าตนเองมีหมุดหมายการเรียนรู้อะไร และจำทำอะไรเพื่อใคร และทำอย่างไรบ้าง

โดยส่วนตัวผมมองว่าประเด็นเหล่านี้สำคัญมากมายก่ายกองเลยทีเดียว เพราะหากเราไม่เข้าใจว่าเรากำลังจะไปทำอะไ ร และไม่รู้ว่าตัวเองมีอะไรที่จะไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยน หรือสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน รวมถึงหากไม่รู้และไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้ ย่อมก่อเกิดปัญหาต่อการขับเคลื่อนทั้งปวง กลายเป็นภาระให้ใครอื่นต้องมาแบกหาม กลายกลับทำให้งานล่าช้า หรือกระทั่งชะงักและล่มสลายในบางกระบวนการของกิจกรรมบางกิจกรรมก็เป็นได้





นอกจากนี้แล้วผมยังชวนให้นิสิตได้ร่วมแชร์ความคิดเกี่ยวกับวาทกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้นิสิตได้ “รู้ตัวตน” หรือ “รู้ตัวเรา” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแก่นสารความคิด หรือองค์ความรู้ที่นิสิตจะต้องตระหนักในการขับเคลื่อนกิจกรรมในครั้งนี้ เช่น

  • เรียนรู้คู่บริการ
  • นิสิตและชุมชนคือศูนย์กลาง
  • ชุมชนคือห้องเรียน
  • เรียนรู้ผ่านกิจกรรม
  • Soft skills และทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
  • บวร (บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ)
  • การจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม
  • กิจกรรมนอกหลักสูตร / กิจกรรมเสริมหลักสูตร / กิจกรรมในหลักสูตร


หรือแม้แต่การบอกย้ำให้นิสิตได้รู้หมุดหมายการเรียนรู้ของตนเอง หรือการคิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมที่กำลังจะจัดขึ้นกับปลายทางการเรียนรู้เชิงนโยบายของมหาวิทยาลัยมหาสารคามสู่การผลิตบัณฑิตผ่านวาทกรรมสำคัญๆ เช่น การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม ปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) เอกลักษณ์ (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)

ประเด็นเหล่านี้ผมก็ไม่อาจละเลยที่จะบอกกล่าว --





ทดสอบ : จุดอ่อนจุดแข็งของชุมชน

เพราะได้รับรู้มาล่วงหน้าแล้วว่ามีนิสิตบางกลุ่มได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการมาบ้างแล้ว ซึ่งหมายถึงการสำรวจชุมชนและการเตรียมพื้นที่รองรับการออกค่าย ดังนั้นผมจึงสร้างสถานการณ์แบบไม่นัดหมายด้วยการ “ทดสอบ” โดยให้นิสิตสะท้อน “จุดแข็งและจุดอ่อน” ของชุมชนเป็นประเด็นๆ

แน่นอนครับ ผมมีเจตนาชัดเจนว่าเมื่อนิสิตสะท้อนข้อมูลมายังผมแล้ว ผมก็จะผูกโยงเข้ากับกิจกรรมที่กำลังจะเดินทางไปขับเคลื่อนว่ากิจกรรมอะไรสัมพันธ์กับจุดอ่อนจุดแข็ง หรือบริบทชุมชนอย่างไร เพราะในแก่นคิดแล้วกิจกรรมย่อมมีสองลักษณะ คือ

  • กิจกรรมที่จัดขึ้นบนฐานของปัญหา เพื่อแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน
  • กิจกรรมที่จัดขึ้นบนจุดแข็งของชุมขน เพื่อต่อยอด หรือพัฒนาต่อยอดร่วมกับชุมชน







กรณีดังกล่าวนี้ปรากฏในกิจกรรมหลักๆ เช่น ปรับปรุงระบบไฟฟ้า+ติดตั้งพัดลม ต่อเติมลานปูนอเนกประสงค์ บริการวิชาการรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม (ศิลปะ - แกะสลัก - รำวงมาตรฐาน - พานบายศรี) พัฒนาหมู่บ้าน (ทำความสะอาด) มอบไม้กวาดทางมะพร้าวให้ชุมชน ฯลฯ ซึ่งย้ำชัดเจนว่านิสิตควรต้องวิเคราะห์สังเคราะห์ให้ชัดว่ากิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้นสัมพันธ์กับจุดอ่อนหรือจุดแข็งของชุมชนอย่างไรบ้าง

และทั้งปวงนั้น ผมจึงสรุปอีกครั้งอย่างหนักแน่นว่า นี่คือการพัฒนาโจทย์บนบริบทของชุมชน หรือเรียกเป็นภาษานักกิจกรรมง่ายๆ ว่า “จัดกิจกรรมบนความต้องการของชุมชน” นั่นเอง

กรณีดังกล่าวนี้ ถึงแม้นิสิตจะยังไม่ตกผลึกมากนัก จนไม่สามารถสะท้อนข้อมูลอย่างชัดแจ้งได้ เพราะไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาโจทย์อย่างจริงจัง แต่อย่างน้อยก็ได้สะกิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่และแกนนำค่ายได้ทบทวนเรื่องนี้อีกรอบ และนำประเด็นเหล่านี้ไป “ปฐมนิเทศค่าย” ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้เริ่มต้นจากการ “รู้เขา-รู้เรา” ไปพร้อมๆ กัน





เครื่องมือ : เรียนรู้คู่บริการบนฐานวัฒนธรรมชุมชน

ประเด็นว่าด้วยเรื่อง “เครื่องมือ : เรียนรู้คู่บริการบนฐานวัฒนธรรมชุมชน” เป็นผลพวงความรู้จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผมเป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งค้นพบว่ากิจกรรมนอกหลักสูตรที่ดี เมื่อต้องขับเคลื่อนในมิติเรียนรู้คู่บริการร่วมกับชุมชนนั้น จำต้องหยัดยืนอยู่บนฐานวัฒนธรรมชุมชนเป็นหัวใจหลัก กล่าวคือ บูรณาการไปกับ ฮีต 12 คอง14 หรือฮีต 12 คองสังคม อันเป็นจารีตประเพณี หรือกิจกรรมที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ มิใช่ขับเคลื่อนแบบไม่ดูกาละความพร้อมหรือสายธารอดีตและปัจจุบันของชุมชน

ในทำนองเดียวกันนั้น ผมย้ำให้นิสิตได้ตระหนักว่า การเรียนรู้ชุมชนต้องมีเครื่องมือนำพาไปสู่การเรียนรู้ กิจกรรมจะจ้องสัมพันธ์กับบริบทชุมชน ไม่เช่นนั้นจะเหมือน “เกาไม่ถูกที่คัน” ด้วยเหตุนี้การใช้เครื่องมือที่เหมาะสมจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพลังในที่สุด เช่น

  • ประวัติศาสตร์ชุมชน : ผมอธิบายถึงความสำคัญ เพราะประเด็นประวัติศาสตร์ชุมชนจะช่วยให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของชุมชนในแต่ละยุคสมัย เข้าใจ “รากเหง้า” และพลวัตชุมชนผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ของชุมชนในแต่ละยุคสมัยที่ยึดโยงหลากมิติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ประเพณี ผู้นำ ฯลฯ

  • ปฏิทินชุมชน : ผมอธิบายถึงความสำคัญ และเชื่อมโยงถึงประเพณีหลักของสังคมอีสาน (ฮีต 12) เพื่อให้นิสิตได้เข้าใจว่าแต่ละเดือนมีประเพณีหลักอะไรบ้าง และชวนให้นิสิตร่วมคิด่านอกจากประเพณีหลักอันเป็น “ฮีตฮอย” แล้วยังมีกิจกรรมสำคัญในชุมชนอะไรอีกบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
    ... ฮีตเดือน 6 คือบุญบั้งไฟ ในหลายชุมชนก็อาจมีการเลี้ยงปู่ตา
    ... ฮีตเดือน 8 คือบุญเข้าพรรษา ก็มีกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ เกี่ยวโยง เช่น วันแม่ ฯลฯ

    ทั้งนี้ผมไม่ลืมที่จะบอกว่าปฏิทินชุมชนจะทำให้นิสิตมองทะลุไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจในชุมชนที่สัมพันธ์กับอาชีพและภูมินิเวศต่างๆ รวมถึงการพลัดบ้านไปทำงานต่างจังหวัดในแต่ละเดือนแต่ละเดือน หรือการหวนกลับมายังบ้านเกิดในวาระต่างๆ ทั้งเพื่อการเพาะปลูก หรือเข้าร่วมประเพณีนิยม รวมถึงจะได้รู้ว่าช่วงไหนที่เหมาะต่อการไปจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการร่วมกับชุมชน ฯลฯ

  • ประวัติบุคคลสำคัญ : ผมแนะนำให้นิสิตสำรวจข้อมูลจัดทำฐานประวัติบุคคลสำคัญในชุมชน โดยอาจแยกเป็นหมวดหมู่คล้ายปราชญ์ชาวบ้านในด้านต่างๆ และให้คิดเชื่อมโยงว่าบุคคลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อชุมชน และสืบเค้าคืนกลับที่มาที่ไปอันเป็นองค์ความรู้ของแต่ละคนว่าเรียนรู้มาจากแหล่งใด เป็นการเรียนรู้ผ่านการศึกษาในระบบ หรือการเรียนรู้ผ่านวิถีวัฒนธรรมในครัวเรือน หรืออื่นๆ ตลอดจนสถานะขององค์ความรู้ของบุคคลเหล่านั้นว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร เช่น มั่นคง-มีคนสืบสาน หรือไม่มีคนสืบสาน รอวันแตกดับสูญสลายไปตามยุคสมัย ฯลฯ








ใช่ครับ-เครื่องมือเหล่านี้ผมบูรณาการมาจากชุดความรู้ของคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์และคณะ รวมถึงองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จาก สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

นอกจากนั้นยังเสนอแนะให้นิสิตลองศึกษาเรื่อง “เศรษฐกิจชุมชน” ด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ความมั่นคงในชุมชนและทะลุถึงฐานคิดเชิงวัฒนธรรมและอื่นๆ อีกจิปาถะ รวมถึงการท้าทายให้นิสิตนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือข้างต้นผูกโยงไปสู่เครื่องมืออื่นๆ ด้วยตนเอง เช่น แผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ ระบบสุขภาพชุมชน เพราะทุกๆ ส่วนล้วนเชื่อมร้อยทะลุถึงกัน

เช่นเดียวกับการย้ำเน้นถึงวิธีการ หรือเครื่องมืออื่นๆ เช่น ศิลปะในการสัมภาษณ์ การเข้าสังเกตการณ์เป็นหนึ่งเดียวในกิจกรรมของชุมชน การจัดการความรู้ผ่านภาพถ่าย หรือกระทั่งการเรียนรู้และเก็บข้อมูลชุมชนผ่านกิจกรรม “พ่อฮักฮัก” อย่างจริงจังและจริงใจ มิใช่มีพ่อฮักฮักไว้เพียงเพื่อช่วยงานช่าง สนับสนุนอาหารการกิน หรืออำนวยความสะดวกเรื่องที่นอนห้องน้ำห้องท่า ฯลฯ






ท้ายที่สุด : การสร้างบรรยากาศของ “คนค่าย”


ท้ายที่สุดผมไม่ลืมฝากประเด็นกับนิสิตไปว่า “เราเป็นเพียงผู้เรียนรู้ มิใช่นักเสกสร้าง” ดังนั้นการงานจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเรายึดมั่นในหลักคิดของการทำค่ายแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” อันหมายถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน ต่างฝ่ายต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับไปพร้อมๆ กัน

รวมถึงการให้ความสำคัญกับสถานที่สำคัญๆ ในชุมชน เพราะสถานที่เหล่านั้นจะทำหน้าที่บางอย่างในสังคม ซึ่งนิสิตจะต้องเรียนรู้ที่จะถอดรหัสทางวัฒนธรรมออกมาให้ได้มากที่สุด มิใช่ตอบได้แค่ว่าสถานที่ตรงนั้นคืออะไร เรียกชื่อย่างไร ตั้งอยู่จุดไหนของชุมชน แต่ตอบไม่ได้ว่าสถานที่ตรงนั้นทำหน้าที่ใด ผู้คนให้ความสำคัญเพราะอะไร ...


เฉกเช่นกับการเสริมสร้างบรรยากาศในค่ายให้มีชีวิตผ่านกิจกรรมอื่นๆ เช่น การจัดกิจกรรมในแบบบันเทิงเริงปัญญา ที่หมายถึงให้ได้ทั้งความรู้และความสนุก ผ่านการนันทนาการ ผ่านการ AAR ประจำวัน การทำจดหมายข่าวชาวค่าย การเขียนจดหมายถึงกันและกัน การสร้างกฏค่ายแบบมีส่วนร่วมเพื่อฝึกวินัย คุณธรรมจริยธรรมต่อตนเองและการอยู่ร่วมกัน การทำสมุดบันทึกค่ายของส่วนกลางเพื่อให้แต่ละคน รวมถึงชาวบ้านและผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนได้บันทึกเรื่องราวการตรวจเยี่ยมและข้อเสนอแนะต่างๆ เสมอเหมือนการสะท้อนงาน หรือการเสนอแนะต่องานค่ายไปในตัว


หรือแม้แต่การจัดแบ่งเวรยามในการ “ไปวัด” หรือ “ไปจังหัน” และ “ไปเพล” เพราะนี่ก็คืออีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ชุมชนที่สำคัญมากๆ ----





ภาพ อติรุจ อัคมูล / สุริยะ สอนสุระ / จันเพ็ญ ศรีดาว /อัมพล นุกิจ

....
ในวันที่ฝนตั้งเค้าจะมาแล้วไม่มา
16 สิงหาคม 2559
มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 612417เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2016 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2016 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
นายใจเพชร สุปัญบุตร

จากได้เข้าอบรมก่อนลงชุมชนของค่ายพัฒนาชุมชนบ้านศาลา บรบือ ได้นำเทคนิคการเก็บข้อมูล โดยใช้ เทคนิคการลงพื้นที่รอบหมู่บ้าน เทคนิคการสัมภาษณ์ เทคนิคการจดบันทึก โดยมีหัวข้อหลักอยู่ 4 เรื่องในการเก็บข้อมูลของบ้านศาลา คือ ประวัติศาตร์ความเป็นมาของหมู่บ้าน ประเพณีฮีต 12 ของหมู่บ้านศาลา บุคคลสำคัญของหมู่บ้าน และเศรษฐกิจของหมู่บ้าน การทำงานแบ่งเป็นกลุ่มๆ 4 กลุ่ม กลุ่ม ประวัติศาสตร์ ประเพณีฮีต 12 บุคคลสำคัญ เศรษฐกิจ ในกระบวนการทำงานแบ่งกลุ่มสลับกันในหัวข้อต่างๆมาร่วมเป็นหนึ่งแยกย้ายกันลงพื้นที่ เทคนิคที่สำคัญคือการสัมภาษณ์การสัมภาษณ์พยายามกระชับให้น้องสัมภาษณ์ในเชิงพูดคุยมากกว่าการถามตรงๆ เทคนิคต่างๆมีความสำคัญสามรถได้ความรู้ข้อมูลที่ต้องการแต่อาจจะใช้เวลาและเนื่องจากข้อมูลบางอย่างไม่แน่นอข้อมูลที่ตรงกันจึงเนื่องจากบางข้อมูลบ้างอย่างอาจมีระยะเวลาที่ยาวนานมากทำให้น้อยคนในปัจจุบันที่รู้

ได้ภาพบริบทของการทำงานของนิสิตร่วมกับชุมชน

ได้เห็นการทำงานที่บริการสังคมอย่างแท้จริง

ของแท้เลยครับ

สวัสดีครับ คุณใจเพชร สุปัญบุตร

  • ก่อนอื่นต้องชื่นชมนะครับที่นำเอาความรู้ในห้วงสั้นๆ ที่ผมแชร์ไปสู่การปฏิบัติการจริง โดยใช้ชุมชนเป็นฐานและเรียนรู้ผ่าน "หน้างาน" หรือสถานการณ์จริง เพราะนี่คือการเรียนรู้จริงบนความจริงของชีวิตและสังคมที่ท้าทาย ครับ
  • การเก็บข้อมูลชุมชนผ่านการพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ แท้จริงก็คือการทำวงานบนฮีต หรือวิถีชุมชนนั่นแหละครับ ไม่จำเป็นต้องจัดเวทีโสเหล่าสอบถามอย่างเป็นทางการ เก็บข้อมูลแบบนี้เป็นกันเอง ไม่ฝืนกิจวัตรประจำวันของชาวบ้าน จากนั้นค่อยนำข้อมูลทั้งหมดมารวม มาสังเคราะห์อีกที และจัดเวทีอีกครั้ง ครับ
  • เป็นธรรมดาครับข้อมูลได้มาอาจมีหลายสายธาร เพราะการส่งต่อข้อมูลในแต่ละยุคมีข้อจำกัดต่างกัน และนั่นยังหมายถึงการจัดเก็บข้อมูลในอดีตอย่างไม่มีระบบระเบียบ ครั้งนี้จึงกลายเปแ็นความท้าทายและสำคัญของนิสิตที่จะช่วยชำระข้อมูลเหล่านี้ และจัดเก็บให้เป็นระบบ
  • ....
  • สู้ๆ ครับ

สวัสดีครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

กิจกรรมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรล้วนๆ เลยครับ เป็นค่ายอาสาพัฒนาบนฐานคิดเรียนรู้คู่บริการ เลยจำต้องทดลองติดอาวุธทางความคิดว่าด้วยเครื่องมือการศึกษาชุมชมลงไปผ่านแกนนำค่ายที่เป็นนิสิตรุ่นพี่ -- เพื่อให้นิสิตรุ่นพี่ได้ออกแบบการเรียนรู้และพาน้องใหม่ลงสู่ชุมชน

เท่าที่ประเมินจากนิสิตบางกลุ่ม ก็ตอบรับด้วยดี ชื่นชอบกับการจัดการเรียนรู้เช่นนี้ แถมยังเป็นการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ไปในตัว

นายจักรกฤษ พรมมา สาขาการจัดการโรงแรม

จากที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมในค่าย ที่ชุมชนบ้านศาลา ตำบลโนนแดง อำเภอบรบือนั้น ผมก็ได้เห็นถึงสิ่งต่างๆภายในชุมชนมากมายหลายอย่าง ได้ช่วยศึกษาข้อมูลต่างๆของชมชุน ทั้งประวัติ เศรษฐกิจ ประเพณี หรือแม้แต่กระทั่งปฏิทิน ตามฮีตต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนบ้านศาลาให้มีบริบทที่ดียิ่งขึ้น ได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสามัคคี ของคนในชุมชนบ้านศาลา และพวกเราเอง ได้แลกเปลี่ยนประสบการที่ตนเองมีอยู่ ถ่ายทอดให้กับน้องๆ รวมถึงคนในชุมชน ได้รู้ถึงวิธีการแก้ไขงานต่างๆที่ตนเองได้พบเจอมาและปรับแรุงแก้ไขให้ได้สมบูรณ์ รวมถึงการมีมนุษสัมพันธ์กับคนอื่น ในการปฏิบัติงานร่วมกัน หรือแม้แต่การสัมภาษณ์บุคคลในชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลมี่ถูกต้อง และสิางที่ได้รุ้ประเด็นหลักๆของการมาค่ายในครั้งนี้คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์+การเรียนรู้+กาาอาสาช่วยเหลือ+การพัฒนาชุมชน นั่นเอง จากระยะเวลา 8 วันสำหรับการอยู่ในค่าย ทำให้ได้รุ้ถึงความรัก ความผูกพัน จากทุกๆคน ทั้งเพื่อนๆพี่ๆในค่าย รวมถึงคนในชุมชน

สวัสดีครับ คุณนายจักรกฤษ พรมมา

  • ดีใจมากเลยครับที่ได้รู้ว่านำความรู้เรื่องเครื่องมือชุมชนไปใช้จริง
  • รวมถึงการเห็นบทสะท้อนว่าเข้าร่วมกิจกรรมนี้แล้ว ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละวัน เพราะนี่คือระบบการทำงาน PDCA และการจัดการความรู้ร่วมกัน
  • ในประเด็นปัญหาละครับ มีอะไรบ้างไหมครับ หรือมีข้อเสนอแนะเพื่อการทำงานครั้งถัดไปอย่างไรบ้างไหมครับ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาบอกเล่าถึงคำนิยามของ"ไผ่"ครับ

-สำหรับตัวผมเองแล้วหากเปรียบคนได้ดังต้นไผ่..

-มีคนเคยบอกกับผมว่าหากคบกับคนให้ดูดังต้นไผ่กอหนึ่ง..

-ไผ่ทุกช่วงวัยมีคุณประโยชน์กับเราเสมอ...ครับ

-ดังนั้นผมจึงมีความสุขทุกครั้งที่ได้อยู่กับ"ไผ่"กอนั้น ครับ

-ขอบคุณครับ


นายเนติพงษ์ พงอุดทา

สิ่งที่ได้จากการอบรมแล้วนำไปใช้ในค่าย

การรู้จักพื้นที่

กิจกรรมที่จะทำให้ผู้เข้ากิจกรรมทุกคนรู้จักพื้นที่คือกิจกรรม “การย่างเลาะบ้านให้รู้จักเปิงบ้าน” นี่คือกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สอบถามได้พูดคุยกับคนในหมู่บ้านในเรื่องต่างๆเช่น ประวัติหมู่บ้าน เศรษฐกิจและสังคม ทำเนียบผู้นำของชุมชน ประเพณีและวัฒนธรรม กิจกรรมนี้จึงทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ถึงฐานข้อมูลของหมู่บ้านได้ดี

เรียนรู้คู่บริการ

การที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พูดคุยสอบถามในเรื่องต่างๆของชุมชนและได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก็ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆจากชุมชนว่าชุมชนนั้นขาดอะไร และมีอะไรที่ดีอยู่แล้วเช่น บ้าน วัด โรงเรียน จะมีแค่โรงเรียนที่ยังมีความต้องการปรับแต่งพื้นที่สนามอเนกประสงค์ เพราะฉะนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ได้ปรึกษากันว่าจะเพิ่มเติมลานอเนกประสงค์และทาสีห้องเรียนใหม่ นี่คือหัวใจหลักของค่าย เรียนรู้คู่บริการ

นายเนติพงษ์ พงอุดทา

ชื่นชมการเลือกใช้เครื่องมือในการศึกษาชุมชน และมีนิสิตมาสะท้อนว่าได้เรียนรู้อย่างไรบ้าง

ไม่มากก็น้อยที่นิสิตได้ติดตัวไป พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเข้าใจที่มาที่ไปของสังคมที่ตนไปอาศัยอยู่ทำงานมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อตนเองและงานในอนาคตแน่นอนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท