การพัฒนาสำนักงานเกษตรอำเภอ Smart Office


1. ความเป็นมา

ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายที่จะพัฒนาสำนักงานเกษตรอำเภอ ให้เป็นช่องทางการเข้าถึงบริการทางด้านการเกษตรอย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว สร้างโอกาสการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานและภาคีส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการของสำนักงานเกษตรอำเภอในลักษณะของศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop-Service) หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ Smart Office โดยการปรับปรุงสำนักงานเกษตรอำเภอให้มีสภาพเหมาะสมต่อการให้บริการเกษตรกรและประชาชนที่มาติดต่อราชการ และวางรูปแบบสำนักงานที่อำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับการปฏิบัติงานระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปี 2558 จะขยายผลการดำเนินงานสำนักงานเกษตรอำเภอ Smart Office ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกอำเภอทั่วประเทศ

2. การพัฒนาสำนักงานเกษตรอำเภอ Smart office

สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาสำนักงานเพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Office ที่สมบูรณ์แบบ โดยคาดหวังให้เป็นสำนักงานที่มีความพร้อมในการให้บริการแก่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่ การบริการ และบุคลากร โดยเน้นการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่

1. สถานที่ ภายในสำนักงานได้จัดจุดไว้สำหรับบริการเกษตรกร เป็นแบบบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อความสะดวกต่อการให้บริการไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ รับฟังและแก้ไขปัญหา โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการและส่งต่อให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานนั้นๆ สถานที่มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ภายนอกสำนักงานได้ปรับแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามและเตรียมปลูกไม้ผลสำคัญของจังหวัดเพื่อเป็นจุดเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร


2. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร มี 7 รายการ ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้ง และเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องอ่าน Smart Card เครื่องอ่าน Barcode กล้อง Web Camera พร้อมเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรที่มาขอรับบริการ

3. ระบบงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฯ ได้มุ่งเน้นการปฏิบัติงานตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยยึดการทำงานภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ MRCF และแนวทางการพัฒนาของจังหวัดสมุทรสงคราม

- เกษตรกรสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชน Smart Card ในการเข้าถึงบริการ 4 ระบบ คือ 1) ตรวจสอบข้อมูลเกษตรกร (e-Check)

2) บริการให้กับประชาชน (e-Service)

3) เกษตรกรต้นแบบ/เจ้าหน้าที่ต้นแบบ (e-Contact)

4) ข้อมูลองค์ความรู้ (e-Knowledge)

และเข้าสู่ระบบสารสนเทศศูนย์บริการประชาชนด้านการเกษตร (http://help.doae.go.th)

4. ผู้ให้บริการ หรือนักส่งเสริมการเกษตร (Smart Extension Officer) เป็นผู้จัดการการเกษตรในพื้นที่ และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมการเกษตรระดับตำบลจำนวน 4 คน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานเคหกิจเกษตรจำนวน 1 คน โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามรายตำบล รวม 11 ตำบล และพนักงานธุรการ 2 ตำแหน่ง

Best Practices

1. สถานที่

- สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฯ มีการขับเคลื่อน Smart Office อยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง ได้แก่ การดำเนินกิจกรรม 5ส. เป็นประจำทุกเดือน เพื่อสะสางเอกสารและสิ่งของต่างๆให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ก่อให้เกิดความสะอาด สะดวกต่อการใช้งาน เป็นสุขลักษณะที่ดี และสร้างลักษณะนิสัยที่ดีอยู่เสมอ

2. อุปกรณ์

- มีการตรวจสอบความพร้อมในใช้งานของอุปกรณ์อยู่เสมอ ทั้งนี้ได้รับมอบเครื่อง GPS จากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อใช้สำหรับจับพิกัดแปลงเกษตรกร สร้างความแม่นยำในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และการวางแผนงานส่งเสริมการเกษตร

3. ระบบงาน

- มีการประชุมติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงาน และวางแผนการทำงานประจำสัปดาห์ เพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานเป็นประจำทุกวันจันทร์

- มีการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่บรรจุใหม่ แบบพี่สอนน้อง เพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร

- มีการบริหารจัดการเงินให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน และเบิกจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด

4. ผู้ให้บริการ หรือนักส่งเสริมการเกษตร (Smart Extension Officer)

- สร้างทัศนคติที่ดีต่อการบริการเกษตรกร บริการด้วยใจ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่เกษตรกรที่มาขอรับบริการ

- เจ้าหน้าที่ มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ร่วมกันทำงานเป็นทีม และสามารถปฏิบัติงานแทนกันได้ มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่รุ่นพี่ที่มีความอาวุโส ให้คิดเสมอว่า “สำนักงานเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง เจ้าหน้าที่เปรียบเสมือนพี่น้อง เกษตรกรเปรียบเสมือนญาติ”

- เต็มที่และเต็มใจบริการ มา 1 เรื่อง ได้กลับไป 2 3 หรือ 4 หมายถึง เกษตรกรมาสอบถาม 1 เรื่อง แต่เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำ และเพิ่มเติมในสิ่งที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรมากกว่า 1 เรื่อง

หลังจากที่ได้ดำเนินการตามแนวทางพัฒนา Smart Office พบว่า สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฯ มีความพร้อมในด้านของสถานที่สำหรับการทำงานและการให้บริการเกษตรกร
มีความสะอาดตา น่าทำงาน เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีความรู้ทักษะ และมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและต่อเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูงสุด

คำสำคัญ (Tags): #smart office
หมายเลขบันทึก: 612060เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2016 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2016 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับ

-ตามมาอ่านบันทึกเรื่องของการพัฒนา สนง ครับ.

-ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท