วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่


ผมได้รับการติดต่อดังต่อไปนี้


ที่ สคส.๐๐๑-๒๕๓/๕๙

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย

เลขที่ ๑๔๕ ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน

เขตหลักสี่ กรุงเทพ๑๐๒๑๐

วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙

เรื่องขอสัมภาษณ์

เรียน ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

ด้วยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ผลิตรายการ Backpack Journalist ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๓.๐๐-๑๓.๓๐ น. ความยาว ๒๕ นาที โดยรายการฯนำเสนอในรูปแบบ การติดตามค้นหา ภายใต้แนวคิดเปิดประเด็น เห็นทิศทาง และหาคำตอบ ซึ่งผลิตและขยายประเด็นจากความสนใจของคนในสังคม

ทั้งนี้ รายการฯสนใจทำสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับ ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ จึงใคร่ขอสัมภาษณ์ท่าน ในวันจันทร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาวภัทราภรณ์ ศรีทองแท้)

ผู้ช่วยบรรณาธิการรายการฯ

ต้องชม ไทย พีบีเอส นะครับ ที่สนใจจับเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของบ้านเมืองเช่นนี้ เพราะผมเชื่อว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ จะนำพาสังคมไปสู่ความเสื่อม ในทุกๆ ด้านทั้งด้านวิชาความรู้ และด้านศีลธรรม ที่จริงความเสื่อมนั้นก็กำลังก่ออาการให้เห็นอยู่แล้ว ในปัจจุบัน

ผมได้เตรียมให้ความเห็นใน ๓ หัวข้อใหญ่ ดังต่อไปนี้

วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมคือ

  • เรียนแบบท่องจำความรู้สำเร็จรูปเน้นการมีความรู้
  • ต่อคำถามใดคำถามหนึ่ง มีคำตอบถูกเพียงคำตอบเดียว
  • เป้าหมายของการเรียนคือ “รู้วิชา” ดูที่ผลการสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอบมาตรฐานระดับชาติ

วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่คือ

  • เรียนโดยการปฏิบัติโดยตอบโจทย์ หรือทำงาน/โครงงาน และเรียนเป็นทีมเน้นการฝึกทักษะเชิงซ้อน ที่เรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑
  • ฝึกหาคำตอบต่อคำถามหนึ่งคำถามให้มากที่สุดเน้นการฝึกคิดมากกว่าเน้นถูกผิด
  • เป้าหมายของการเรียนคือ พัฒนาการรอบด้าน หรืออย่างบูรณาการ (integrated learning)ไม่ใช่แค่เรียนวิชาแต่เรียนฝึกนิสัยใจคอ ทักษะสังคมและทักษะด้านอื่นๆ อย่างซับซ้อน
  • การสอบที่ดีที่สุดเป็น “การสอบเพื่อสอน” (test to teach)คือใช้การสอบเป็นเครื่องมือ feedback ให้ครูปรับปรุงวิธีจัดการเรียนรู้และให้นักเรียนปรับปรุงวิธีเรียนของตนการสอบโดยใช้ข้อสอบมาตรฐาน จัดโดยองค์กรระดับชาติ จึงมีค่าต่อการเรียนของเด็ก สู้การทดสอบของครู แบบที่เรียกว่า embedded formative assessment ไม่ได้รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือ ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ คือเน้นประเมินว่านักเรียนแต่ละคนก้าวหน้าไปถึงไหนแล้วใช้ผลการประเมินทำ constructive feedback แก่นักเรียนแต่ละคนหากอ่านหนังสือ จะเห็นว่าวิธีการไม่ได้ยากอย่างที่คนคิดแต่ต้องฝึกและสามารถฝึกให้นักเรียนประเมินกันเองและสุดยอดที่สุดคือให้นักเรียนประเมินตนเองและนำมาปรับปรุงวิธีเรียนของตนการสอบที่ไม่ตามด้วยการ feedback ให้นักเรียนปรับปรุงวิธีเรียน ไม่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของเด็ก

เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้

  • เพราะโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน วิถีชีวิตวิถีการทำงานเปลี่ยนการศึกษาที่ออกแบบมาเมื่อ สามร้อยปีที่แล้ว เพื่อให้สนองตอบสังคมอุตสาหกรรม ผลิตคนออกไปทำงานตามแบบแผนตายตัว จึงต้องเปลี่ยน เพราะเวลานี้เป็นยุคหลังอุตสาหกรรมต้องการคนไปทำงานริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้จึงต้องเป็น transformative learning ผลิตคนออกไปเป็น change agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการเรียนรู้ แบบนี้ได้จากการเรียนแบบลงมือปฏิบัติ (action) ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) เท่านั้นไม่สามารถเกิดได้จากการเรียนแบบท่องจำสาระความจริง
  • การเอาใจใส่การเรียนของเด็กเป็นหน้าที่ของครูไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเด็กอย่างที่เคย ยึดถือในอดีต เพราะเด็กและเยาวชนมีลักษณะแตกต่างไปจากเดิมมากการเรียนแบบเดิม จะไม่สามารถ ดึงดูดความสนใจของนักเรียนส่วนใหญ่ได้ประกอบกับมีแรงดึงความสนใจ ไปทางอื่นๆ มากมายการเรียนรู้จึงต้องเน้นวิธีการดึงความเอาใจใส่ของเด็ก (student engagement)ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของครูและทำได้โดยการออกแบบการเรียนรู้แบบ นักเรียนร่วมกันลงมือทำร่วมกันค้นคว้าหาความรู้เอามาใช้และร่วมกันไตร่ตรองสะท้อนคิด หาเหตุผลว่าทำไม จึงเกิดผลเช่นที่พบ จะทำให้เกิดผลดียิ่งขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะทำให้ การเรียนรู้เป็นสิ่งท้าทาย ไม่น่าเบื่อ
  • ตัวช่วย และตัวปิดกั้นการเรียนรู้ในโรงเรียน ทรงพลังเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สิ่งนี้คือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งสื่อมวลชนและสื่อใหม่ที่เวลานี้รุกประชิดติดตัวคนทุกคนผ่านทางโทรศัพท์มือถือหากครูไม่เอาใจใส่ student engagement ไม่มีทักษะดึงดูดศิษย์ ก็จะถูก ICT ร่วมกับสื่อต่างๆ แย่งความสนใจของศิษย์ ไปทำอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่า สนุกกว่า การเรียนรู้เพื่อวางรากฐานอนาคตก็จะสั่นคลอน
  • การเรียนรู้เป็นการวางรากฐานชีวิตโดยที่เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น พัฒนาการสำคัญคือการพัฒนา ความเป็นตัวของตัวเอง (identity)และพัฒนาเป้าหมายชีวิต (purpose) ของตนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎี Chickering theory of identity development พัฒนาการนี้ ไม่เกิดในการเรียนรู้โดยใช้วัฒนธรรมเดิมเป็นเหตุให้วัยรุ่นเสียคน และออกจากการเรียน กลางคันจำนวนมากหากเปลี่ยนมาใช้วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ แบบเรียนโดยการ ลงมือทำ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด พัฒนาการของตัวตน และเป้าหมายชีวิต จะเกิดได้ดีกว่ามากเด็กจะเสียคนน้อยลงไปมาก
  • ความรู้ใหม่ว่าด้วยกลไกการเรียนรู้ เป็นผลของการวิจัยด้านประสาทวิทยาว่าด้วยการเรียนรู้ เป็นเรื่องกลไกการเรียนรู้ของสมองที่พบว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการรับถ่ายทอด ความรู้จากครู จากหนังสือ หรือจากแหล่งอื่นๆแต่เกิดจากการปฏิบัติตามด้วยการรับรู้ จากการปฏิบัติ และการไตร่ตรองสะท้อนคิดของผู้เรียนเองซึ่งก็ตรงกับคติไทยที่มีคำว่า เรียนแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง

ในช่วงให้สัมภาษณ์จริงพออธิบายสองตอนแรกจบ คุณภัทราภรณ์ ก็บอกว่าได้สาระครบตามที่ ต้องการแล้วผมจึงไม่ได้พูดตอนที่สามที่เตรียมไว้

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ค. ๕๙

<p “=””>
</p>

หมายเลขบันทึก: 611744เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2016 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2016 06:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท