ชีวิตที่พอเพียง ๒๗๑๖ เฉียดหิมพานต์ ๘. ทะเลสาบโมรีรี





วันพฤหัสที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ทะเลสาบโมรีรี (Tso Moriri) ทะเลสาบน้ำกร่อย อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๔.๕ กิโลเมตร ยาว ๑๙ กม. กว้าง ๓ กม. เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอนุรักษ์ และเป็น oligotrophic lake ที่มีผลิตผลสัตว์น้ำปริมาณน้อย อยู่ห่างจากเลห์ ๒๐๐ กิโลเมตร

เราออกเดินทางจากเลห์เวลา ๘ น.ไปตามถนนที่แล่นขนานกับแม่น้ำสินธุผ่านนาต้นมัสตาร์ดสีเหลืองอร่ามผ่านคนงานสร้างทางนั่งใช้ฆ้อนทุบก้อนหินใหญ่ให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ มีช่วงหนึ่งมีคนงานหญิงชายสิบกว่าคนนั่งทุบหินกลางแดด เปรี้ยง มีคนบอกว่าคนงานเหล่านี้มีกมาจากรัฐพิหารซึ่งเป็นรัฐยากจนได้ค่าแรงวันละ ๓๐๐ รูปี

เที่ยงเศษๆ แวะตั้งกองถ่ายปัสสาวะที่บริเวณที่มีต้นกุหลาบป่าออกดอกสะพรั่ง ไปแวะกินอาหารเที่ยงเวลาบ่ายโมงเศษที่ Chumatang แหล่งน้ำพุร้อน ๑๐๐ องศา ต้มไข่สุกและคนนิยมมาอาบรักษาโรคข้อกินเสร็จรีบเดินทางต่อ ก่อนบ่ายสามโมงเห็นแพะภูเขา, แพะแคชเมียร์, และตัวมาร์มอท

ระหว่างทางนั่งรถไต่เขามาหลายวัน รวมทั้งวันนี้ ผมเห็นสภาพก้อนหินบนเนินเขาด้านเหนือถนนแล้วเสียวว่าก้อนหิน มันอาจถล่มลงมาเมื่อไรก็ได้ จึงถามโชเฟอร์ตาชี่ว่ามีหินถล่มลงมาบนถนนไหมคำตอบคือมีเป็นคั้งคราว เกิดทุกปีแต่เกิดเฉพาะเมื่อฝนตกหากอากาศแห้งอย่างตอนที่เราไป ไม่เกิดเขาถล่ม ถามไม่ขาดคำก็เห็นป้ายริมถนนเตือนว่าบริเวณนั้นเป็น avalanche proned area

เวลาประมาณบ่ายสามโมงสิบห้าเห็นแพะแคชเมีร์ฝูงใหญ่มาก แล้วไปแวะชมวิวที่ทะเลสาบ Tachungaru เห็นยอดเขาชื่อเดียวกันปกคลุมด้วยหิมะ เวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่งผ่านหมู่บ้านทิเบตลี้ภัย ที่เข้ามาปี ค.ศ. 1953 เมื่อจีนผนวกทิเบตเข้ากับจีน บริเวณนี้มีปั๊มน้ำสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ คนอยู่ในเต๊นท์ และมีกำแพงหินเป็นวงกลมสำหรับเป็นคอกสัตว์ บริเวณนี้อยู่ห่างจากพรมแดนทิเบตประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร

เวลาประมาณบ่ายสี่โมง ผ่านฝูงจามรี เห็นอยู่ไกลๆโชเฟอร์ตาชี่บอกว่าจามรีมีขนสองชนิด ชนิดละเอียดเอามาทอผ้าสวมอุ่นมากแต่หนัก ชนิดหยาบแข็งแรงมาก เอามาทำผ้าคลุมเต๊นท์ และทำเชือก

หลังจากนั้นผ่านแค้มป์ชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์จำนวนหลายครอบครัวบางครอบครัวมีรถยนต์ใช้ด้วยได้กลิ่นขี้สัตว์โชยมา ไม่ช้าก็ถึงทะเลทรายพื้นราบริมทะเลสาบโมรีรีเมื่อถึงทะเลสาบผมก็สรุปว่า การไปเที่ยวทะเลสาบ ไปที่นี่ที่เดียวพอ ทะเลสาบแปงกองแพ้หลุดลุ่ย ในด้านความงามแต่ดังที่กล่าวตอนเริ่มต้นบันทึก ทะเลสาบโมรีรีไม่อุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำ ระหว่างนั่งรถผ่านริมทะเลสาบ ผมเห็นครอบครัวนกน้ำหนึ่งครอบครัวอยู่ไกลๆ ถ่ายรูปไว้ได้ แต่ไม่สวย

เวลาห้าโมงเย็นถึงเต๊นท์ที่พักชื่อ Ladakh Camps & Retreats พอเข้าไปในเต๊นท์ก็ตกใจว่ากว้างขวางสะดวกสบาย กว่าที่คิดไว้มาก ขนาดประมาณ 5x8 เมตรด้านหน้าเป็น ระเบียง” หรือส่วนหน้าซึ่งโปร่ง นั่งชมวิวข้างนอกได้ กันลมได้เล็กน้อย ด้านในห้องมีเตียง ๒ เตียง (เพราะผมเลือกเต็นท์ B1 ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด) ขนาดห้องนอนใหญ่พอๆ กับห้องของโรงแรมชั้นดี พื้นปูพรม ด้านหลังเป็นห้องน้ำ น้ำร้อนได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ มี ๔๐๐ ลิตรหมดแล้วหมดเลย ตอนเช้าเขาต้มน้ำร้อนมาให้ ไฟฟ้ามีให้ระหว่างเวลา 19.30 – 23.00 น. มีปลั๊กไฟให้ชาร์จแบตได้ แต่ที่ห้องผมใช้ไม่ได้ นอกจากความกว้างขวางแล้ว เครื่องอำนวยความสะดวกอย่างอื่นไม่มี

ที่จริงเขามีบริการเอากระเป๋าน้ำร้อนมาให้ด้วย แต่มาดึกเลยสามทุ่มผมหลับไปแล้วจึงบอกว่าไม่เอา เพราะที่สวมเสื้อ ๕ ชั้นและห่มผ้าห่มอย่างหนา ๓ ชั้น ที่เขาจัดให้ ก็อุ่นสบายดีแล้ว ส่วนสาวน้อยก็หลายชั้นรวมทั้งเสื้อกันหนาวขนเป็ด ตอนกลางคืนลมแรงมาก และอากาศหนาวจริงๆ น่าจะลงไปถึง ๑๐ องศา

ผมนอนหลับสบาย แต่สาวน้อยนอนไม่หลับ เพราะกองทัพสุนัขเห่าเป็นระยะๆ ต้องขอยานอนหลับกิน จึงหลับ ที่นี่สุนัขมากและมีหลายฝูง ตอนเย็นเขาก็จัดกองทัพเห่าสู้กัน แต่ไม่ถึงกับเข้าตลุมบอน

เช้าวันที่ ๒ มิถุนายน เราตื่นตีห้าสว่างแล้ว อากาศเย็นถึงใจ ผมออกไปถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นที่หน้าเต๊นท์ไม่สวย ไม่มีแสงทองส่องฟ้าเลยเห็นแต่สีเหลืองๆ สะท้อนในน้ำด้วย

ในเต๊นท์อาหารมีมุมร้านผ้าพาชมินาแขวนไว้ขาย สาวน้อยสนใจผืนหนึ่ง เป็น sheep wool ราคา ๒,๕๐๐ รูปี เราต่อ ๑,๕๐๐ เขาไม่ให้และอธิบายว่าเขาลดราคาไม่ได้เพราะค่าขนส่งแพง ผ้าไม่ได้ทอที่โมริริหรือในลาดั๊ก เพราะไม่มีไฟฟ้าให้ตั้งโรงงาน วัตถุดิบผลิตในลาดั๊ก ส่งไปทอที่แคชเมียร์ แล้วเขาก็ประทับตรา

หลังอาหารเช้า เราออกเดินทางกลับเวลา ๘.๓๐ น.ไปแวะชมวิวและถ่ายรูปที่ทะเลทรายริมทะเลสาบ ๒ ครั้ง เวลา ๙.๓๐ น. ไปแวะชมค่ายชนเผ่า mormad ชมการรีดนมวัว dimo ซึ่งก็คือ yak ตัวเมียลักษณะของค่ายพักคงจะค่อนข้างถาวร

มีรถเก๋งคลุมผ้า ๑ คันและรถบรรทุกอยู่ด้านหลังเต๊นท์คลุมผ้าเหมือนกันรวมทั้งมีกลิ่นขี้วัวโชยมาเราถ่ายรูป อยู่ไกลๆแต่บางคนรวมทั้งไกด์ ดอร์เจย์ เดินไปคุยกับคนเหล่านั้น ผมถามโชเฟอร์ตาชี่ ว่าลูกๆ ของคนเหล่านี้เรียนหนังสืออย่างไร เขาบอกว่ามีโรงเรียนและโรงพยาบาลเคลื่อนที่ไปกับขบวนคนเหล่านี้ด้วยเป็นบริการฟรีของรัฐ เด็กจะเรียนชั้นประถม ๕ ปี ในโรงเรียนเหล่านี้แล้วไปต่อชั้นมัธยมอีก ๗ ปีที่โรงเรียนประจำ ที่จริงที่เราเรียกชนเผ่า normad ว่าเผ่าเร่ร่อนน่าจะไม่ตรงความจริงนัก น่าจะเรียก

ว่าชุมชนเคลื่อนที่มากกว่าซึ่งเหมาะสำหรับการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ทะเลทรายกว้างขวาง มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์กระจัดกระจายเช่นนี้ ชนเผ่านี้เคลื่อนย้ายอยู่ภายในรัฐลาดั๊กเท่านั้นในรัฐแคชเมียร์ก็มีชนเผ่าเคลื่อนที่ ของตนเป็นคนละพวก

เวลา ๑๐ น. แวะถ่ายรูปกับ Tachungaru Lakeและยอดเขา Tachungaru และถ่ายรูปดอกไม้ป่าสวยงามหลากหลายชนิดซึ่งจะนำมาให้ดูในบันทึกถัดไป

เวลา ๑๑ น. เศษ เราไปแวะถ่ายปัสสาวะบริเวณที่มีดอกไม้สวยงามแปลกตา มีดอกตามกิ่งเต็มต้น ดอกสีต่างกัน ที่สวยที่สุดคือสีชมพูแล้วไปกินอาหารเที่ยงภัตตาคารน้ำพุร้อนที่มีอยู่ที่เดียว ระหว่างทางผมลองเอาไข่ไปต้ม จับเวลา ๗ นาที กลับมากินได้ไข่ลวกอย่างดี แต่ที่ตั้งใจคือให้ได้ไข่ยางมะตูม แสดงว่าน้ำไม่ถึงอุณหภูมิ ๑๐๐ องศา เมื่อวานคุณเล็ก (เนาวรัตน์ ชุมยวง) แสดงฝีมือทำข้าวผัดวันนี้จึงแสดงฝีมืออีกเป็นที่เอร็ดอร่อยกันถ้วนหน้า

ออกเดินทางต่อ เมื่อไปถึงบริเวณที่กำลังสร้างทาง ผมขอจอดรถถ่ายรูปคนงานใช้ฆ้อนทุบหิน ผมเล็งไว้ตั้งแต่เมื่อวานว่า จะถ่ายรูปสภาพคนงานสร้างถนนแผนกน่อยหินมาให้ดู เอารูปมาดูจะเห็นว่า คนส่วนใหญ่นั่งเฉยๆ ไม่ได้ ตั้งหน้าตั้งตาทุบหิน ตามหน้าที่

เราตรงไปตลาดเลห์เพื่อช็อบปิ้งแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งไปร้านเครื่องสำอางค์ ชื่อ Himalaya กลุ่มที่สองไปร้านผ้าผมไปร้านผ้าได้ผ้าพาชมินา ๑ ผืนผ้า wool ปัก ๑ ผืนและเสื้อพาชมินา ๒ ตัว สำหรับสาวน้อยและผม รวมจ่ายไป ๑๕,๐๐๐ รูปี คือราวๆ ๗,๕๐๐ บาท ผมสังเกตว่าตามริมถนนมีศาลา “ธรรมจักรคลุมกระบอกทรงกลมมีลวดลาย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๒ ฟุต สำหรับให้คนไปหมุน ให้ “ธรรมจักร ท่องมนตร์แทน ศาลานี้มีอยู่ทั่วไปผมเดาว่าเป็นตัวกระตุ้นสติทางสายตา ให้คนประพฤติดี สร้างกรรมดี

ตอนกินอาหารเย็นมีคนให้ข่าวว่า วานนี้ถนนไปแปงกองปิด เพราะมีภูเขาถล่ม แสดงว่าแม้ฝนไม่ตกหินบนภูเขาก็ถล่ม ลงมาได้ ถ้าเราไปแปงกองช้าไปเพียงวันเดียวอาจพบปัญหา

วิจารณ์ พานิช

๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙

สนามบิน อินธิราคานธี, เดลี






1 น้ำพุร้อนเกือบร้อยองศา

ผู้แสดงท่าคือหมอสมศักดิ์











2 ดอกไม้ป่า











3 Marmot









4 Yak หรือจามรี










5 ค่ายอพยพคนทิเบต










6 แพะภูเขา









7 เต๊นท์ชนเผ่า normad











8 การรีดนม Dino








9 ทะเลสาบ

ถ่ายจากรถระหว่าง

เดินทางสู่ที่พัก









10 หน้าเต๊นท์ที่พีก B1










11 ในเต๊นท์ที่พัก











12 กลุ่มเต๊นท์ที่พักอยู่ด้านหลังไกลๆ









13 ริมทะเลสาบ โมรีรียามเย็น








14 ความงามของธรรมชาติ











15 เต๊นท์โรงอาหาร









16 Tachungaru Lake

กับ พญ. อัจฉรีย์ อินทุโสมา









17 คนงานทุบหิน

ให้เป็นก้อนเล็กๆ








18 ศูนย์กลางตลาด

เมือง เลห์









19 อนุสาวรีย์นายพล

Ramal Rinchen










20 ศาลาธรรมจักร

แห่งนี้

สวยงามเป็นพิเศษ





หมายเลขบันทึก: 611380เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2016 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2016 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท